อ่านแล้วเล่า

มหารานี

149-2 มหารานี

เรื่อง มหารานี
ผู้แต่ง ลักษณวดี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา (เล่มละ) 220 บาท (2 เล่มจบ)

เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวการเมืองระหว่างเมืองสามเมือง
อุตตรปุระ .. เมืองแห่งเครื่องเทศ .. เมืองนี้ไม่ค่อยมีบทบาท
ยกเว้นเจ้าหญิงจากเมืองนี้ที่มากลายเป็นรานีแห่งศิขินเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญ
ศิขิน .. เมืองนี้เป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่องครึ่งแรกเกือบทั้งหมด
วิเทหะ .. เมืองแห่งหินอ่อน โมรา งาช้าง และมรกต
เป็นอีกเมืองที่มีตัวละครสำคัญหลายตัว

149-1 มหารานี

เจ้าหญิงศาศวัตราแห่งเมืองศิขิน คือเจ้าหญิงผู้ได้รับคำทำนายเมื่อแรกประสูติว่า
จะทรงได้เป็น มหารานี ผู้ยิ่งใหญ่ .. หากหนทางดูช่างมืดมน ไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้

149-3 มหารานี

เจ้าชายศิขรินทรามหิศราบดี และเจ้าหญิงศาศวัตรโสภาควดี
ประทับ ณ ตำหนักคันธามาส พร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงและครูผู้ถวายอักษรครบครัน
หาก .. แต่เพียงลำพังสองพี่น้อง

พระราชาธิบดีแห่งศิขิน .. พระราชบิดาแห่ง ‘สองพี่น้อง’
ต้องเข้าพิธีอุปภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งอุตตรปุระ
ผู้ทรงดำรงพระยศ .. รานีองค์ปัจจุบัน ..
รานี ผู้ไม่ทรงโปรดเจ้าหญิงเจ้าชายในพระมหาเทวีผู้สิ้นพระชนม์
ไม่ชอบแม่ .. จึงไม่ชอบลูก
เจ้าหญิงและเจ้าชายแห่งศิขินจึงต้องเสด็จมาประทับอยู่ ณ ตำหนักคันธามาส
เมืองภูเขาอันไกลโพ้นสุดขอบชายแดน

149-5 มหารานี

แล้วในวันหนึ่ง เจ้าหญิงศาศวัตราและเจ้าชายศิขรินทร์ ถูกเรียกตัว ‘เข้าเฝ้า’ พระราชาธิบดี
เป็นครั้งแรกหลังจากไม่ได้เข้าเฝ้ามาเนิ่นนานแสนนาน
คนภูเขายกขบวนเดินทางเข้าสู่ศิขราราชนิเวศน์ ..
เดินทางอย่างคนภูเขาหากเต็มพระยศยิ่ง
เพื่อรับทราบว่า พระราชาธิบดีทรงโปรดเฉลิมพระยศเจ้าหญิงศาศวัตรา
เป็น ‘อัครกุมารี’ .. ด้วยเหตุผลทางการเมือง ..

วิเทหะ เป็นรัฐที่อุดมไปด้วยหินอ่อน โมรา งาช้าง และมรกตน้ำงาม
พระราชาธิบดีทรงมีพระโอรสคือเจ้าชายภาณุเทพ ทรงเป็นมกุฎราชกุมาร
และมีเจ้าชายรามิล พระอนุชาต่างพระมารดา (ของพระราชาธิบดี) เป็นรัชทายาทลำดับที่สอง
นี่เอง .. เรื่องยุ่งๆ ‘ภายใน’ ของวิเทหะ ..
เรื่องยุ่งๆ ของอากับหลาน และอนาคตแห่งราชบัลลังก์วิเทหะ
ที่ดึงให้ศิขินเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

149-6 มหารานี

เจ้าชายรามิล .. รามิล แปลว่ากามเทพ .. เทพเจ้าแห่งความรัก
หากเจ้าชายทรงมีพระสมัญญาว่ามรตาบดี .. เทพเจ้าแห่งความตาย
จากเสียงร่ำลือ .. ทรงเป็นผู้โหดเหี้ยม น่ากลัว
ทรงรวบรวมกำลังพลในปัญจคีรี .. อาจจะเพื่อก่อการกบฏ
ศิขินและอุตตรปุระคอยเงี่ยหูฟัง เพื่อเตรียมการบางอย่าง
เจ้าหญิงศาศวัตรา .. คือตัวหมากสำคัญที่ถูกอัญเชิญมาใช้

149-8 มหารานี

แปลกดี ที่อ่านแนวนี้มาหลายเล่มแล้ว แต่เพิ่งมาเกิดอาการมึนชื่อเมืองในเล่มนี้นี่เอง
มหารานี ดำเนินเรื่องในช่วงต้นเนิบช้า .. จะว่าละเมียดละไมก็ได้
กว่าพระเอกนางเอกจะพบกัน เกือบจบเล่มที่หนึ่ง ผู้เขียนกั๊กอยู่นั้นล่ะ
สาเหตุที่เจ้าหญิงศาศวัตรา ‘ต้องเสด็จมา’ ที่ศิขิน ก็ไม่แจ้งชัด
การกระทำของพระราชาธิบดีและองค์รานีดูแปลกๆ
มีความลับหลุดออกมาทีละนิดทีละหน่อย แต่ก็ไม่บอกเสียที
มันเนิบช้า ชวนหงุดหงิด ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไร แต่ไม่ไปไหนสักที ^^”

เป็นอีกเรื่องที่พระเอกนางเอกขี่ม้าเก่ง .. แม้ขี่ขึ้นภูเขา
เรื่องนี้ทั้งพระทั้งนางขี่ม้าเก่งกว่าเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด (ตราบแผ่นดินกลบหน้า, ดั่งดวงหฤทัย ฯลฯ)
เพราะนางเอกอยู่กับภูเขามาตั้งแต่เด็ก และพระเอกก็ .. บ้าบิ่น

เนื้อเรื่อง เลยดูเป็นเรื่องราวการผูกสัมพันธ์ระหว่างคนภูเขาด้วยกัน
คันธามาสคีรี เป็นเพียงยอดเขาเล็กๆ ยอดหนึ่งของปัญจคีรี
ในขณะที่หิมวันต์ คือยอดที่สูงที่สุดของปัญจคีรี
เจ้าหญิงนอกราชบัลลังก์ .. ม้านอกสายตา ..
กับเจ้าชายลูกหลง ที่มีพระมารดาเป็นเพียงธิดาของหัวหน้าเผ่าคนเถื่อน
‘คน’ จากเทือกเขาเดียวกัน รวมกันได้ง่ายกว่า
นิยายเรื่องนี้เข้าข่ายแรกพบ พระนางไม่ถูกกันเหมือนกันค่ะ
เจ้าหญิงผู้สงบเสงี่ยมถึงกับพระตบะแตกกับเจ้าชายช่างยั่ว (โมโห)
ทะเลาะกันไปมา สุดท้ายก็รักกัน น่ารักดี ^^

149-7 มหารานี

ไม่ชอบอย่างหนึ่งที่ในตอนใกล้จบ มีการไว้ชีวิตตัวร้ายในเรื่อง
ไม่รู้สึกเลยว่า คนๆ นั้นจะดีขึ้นได้จริงๆ ตามที่ผู้เขียนบรรยาย
ถ้ายังมีภาคต่อ มีหวังตัวร้ายต้องย้อนกลับมาร้ายอีกรอบแน่ๆ

149-4 มหารานี

อ่านแนวนี้ติดๆ กันหลายเรื่องแล้วมึนพอดู .. เจ้าหญิงเจ้าชายตีกันยุ่ง
จำไม่ได้แล้วว่าพระองค์ไหนมาจากเรื่องไหน 555
แต่ก็ยังอ่านต่อไปค่ะ บ่นแต่ก็ชอบ 555

Comments are closed.