อ่านแล้วเล่า

เมฆขาว

150-6 เมฆขาว

เรื่อง เมฆขาว
ผู้แต่ง โรสลาเรน
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา (เล่มละ) 200 บาท (2 เล่มจบ)

ในเซ็ตของทมยันตี โรสลาเรน และลักษณวดี ที่เราอ่านติดกันยาวเหยียดเซ็ตนี้
ทั้งหมดเป็นหนังสือที่ดองเอาไว้นานแล้ว และหยิบมาอ่านติดกันรวดเดียว
ยกเว้นแต่เพียง เมฆขาว เล่มนี้เท่านั้น ที่เพิ่งจะขวนขวายหาซื้อเพิ่ม
เพราะเพียงเหตุผลเดียว ..  ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป

150-1 เมฆขาว

หนังสือเล่มที่ว่าข้างบนนั้น กระตุ้นต่อมจี๊ดของเรามาก
ว่าด้วยเรื่องของเผ่าพันธุ์ที่อิสระ นอบน้อมต่อธรรมชาติ
แต่กลับเป็นเผ่าพันธุ์ที่ถูกรุกราน แถมยังโยนบทผู้ร้ายให้หน้าตาเฉย

ได้ยินมาว่า เมฆขาว เกิดจากการที่ผู้เขียนหยิบเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงเรื่องนี้มาเขียนค่ะ
เรื่องราวของชาวอินเดียนแดง .. กับชนผิวขาว .. ผู้อ้างตนเป็นอารยะ?

150-5 เมฆขาว

เมฆขาว เป็นเรื่องราวของเผ่าหนึ่งในชาวอินเดียนแดงหลากหลายเผ่า
เผ่าเตตันซูส์ คือเผ่าของชาวอินเดียนที่แยกตัวออกมาจากเผ่าซูส์ เช่นเดียวกับเผ่าอังค์ปาป้า
ในทีแรก เราไม่แน่ใจว่าเตตันซูส์มีจริงหรือเปล่า แต่ซูส์ และอังค์ปาป้ามีอยู่จริงแน่ๆ
ในเรื่องบอกเราว่าเผ่าเตตันซูส์เผ่านี้ มีท่านเมฆแดงเป็นผู้นำ
และเมื่อเสิร์ชข้อมูลจึงพบว่า ท่านเมฆแดง ก็มีตัวตนอยู่จริง
รู้จักกันในนาม Red Cloud
แต่คาดเดาว่า อินทรีสายฟ้า และเมฆขาว บุตรของท่านเมฆแดง
ตัวละครสำคัญในเรื่อง .. น่าจะเป็นตัวละครสมมติล้วนๆ
และคาดต่อไปอีกว่า ซีโอลา ก็น่าจะเป็นภรรยาสมมติ ..
ที่ถูกผูกพันเป็นครอบครัวเดียวกันได้อย่างกลมกลืนจริงๆ
(ในชีวิตจริง ท่านเมฆแดงมีคนรัก 2 คน คือ Pretty Owl กับ Pine Leaf)

อินเดียนแดงที่ถูกกล่าวถึงในเรื่อง นอกจากเผ่าเตตันซูส์ กับเผ่าพอว์นีแล้วนั้น
ยังมีอินเดียนแดงที่มีตัวตนจริงที่ถูกกล่าวถึงอยู่อีกหลายท่าน
อย่างเช่น .. ซิตติ้ง บูล แห่งเผ่าอังค์ปาป้า, เฮฮาก้า ซาปา หรือแบล็ก เอลก์,
ทาชุนเค วิทโค (เครซี่ ฮอร์ส), บิ๊กฟุต ฯลฯ

ในช่วงต้น ผู้เขียนได้เริ่มต้นเรื่องด้วยความสงบ เรียบง่าย และสันติ ของชนเผ่าอินเดียน
(ชนเผ่าสองฟากฝั่งดาโกต้า และลาโกต้า)
ผู้เขียนนำเสนอมุมมองที่อ่อนโยน สวยงาม ของชาวอินเดียน
ที่ซ่อนอยู่ในความเข้มแข็ง องอาจ กล้าหาญ

วิธีเล่า ใช้คำบรรยายโดยไม่มีบทสนทนาเลยเกือบทั้งเรื่อง
เราเดาเอาเองว่าผู้เขียนตั้งใจจะสื่อว่า อินเดียนแดงเป็นเผ่าพันธุ์ที่พูดน้อย
คนอินเดียนมีวัฒนธรรม มีพิธีกรรมอันแสดงความเคารพต่อทุกสรรพสิ่ง
เนื้อความอย่างเดียวกันกับ ‘ณ ที่ดวงตะวันฉายแสงฯ’ หากแตกต่างกันที่วิธีเล่า

ครึ่งแรกเป็นการปูพื้นให้เห็นที่ลักษณะนิสัยและพื้นฐานของตัวละครแต่ละตัว
ค่อนข้างเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้นให้เห็นถึงชีวิตปกติสุขของชาวอินเดียน
ความผูกพัน การสูญเสีย และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ
ต่อเมื่อเข้าใจโครงสร้างของตัวละครแล้ว ขึ้นเล่มสองก็เริ่มสนุกเข้มข้นมากขึ้นค่ะ
ความหวาน ความโรแมนติก ความกดดันต่างๆ ก็มามีให้เห็นบ้างในเล่มหลังนี้เอง

สำหรับในเล่มหลัง เราว่าส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์ –
กับส่วนที่เป็นเนื้อเรื่องค่อนข้างแยกส่วนกันชัดเจน เชื่อมต่อกันไม่ได้สนิท
แต่สามารถเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ และเข้าใจความรู้สึกของชาวอินเดียน
ทั้งตัวที่เป็นตัวละคร และผู้ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์
ภาษาของผู้เขียนให้อารมณ์ความรู้สึกได้ มีเศร้า มีซึ้ง มีโรแมนติกพอให้หัวใจชุ่มชื่น

รู้สึกได้เลยว่าสำหรับนักเขียนสมัยก่อน
การที่จะเขียนนิยายขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ต้องค้นคว้าข้อมูลละเอียดมาก
โดยเฉพาะโรสลาเรนที่นอกจากจะมีข้อมูลแล้ว ยังต้องใช้จินตนาการสูงมากอีกด้วย
ที่จะผูกเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ให้กลมกลืนกับเรื่องในจินตนาการได้อย่างแนบเนียน สมจริง
เป็นความถนัดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจริงๆ
อ่านนิยายของนักเขียนคนนี้เยอะๆ แล้ว
อยากให้มีหนังสือบอกเล่าที่มาของนิยายทุกเรื่องของผู้เขียนคนนี้จริงๆ เลย

150-4 เมฆขาว

การอพยพโยกย้ายของชาวอินเดียน .. ที่ถูกเรียกว่าอินเดียนแดง
กำลังเริ่นต้นขึ้นอีกครั้งในตอนต้นเรื่อง .. อพยพย้ายจากเทือกเขาสายรุ้ง
การอพยพ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ โคซิสเองผ่านการอพยพเช่นนี้มาสามครั้งแล้ว
โคซิส เพิ่งสูญเสียน้องสาวไป และซีโอล่า .. แม่ของเขาก็เพิ่งอุ้ม ‘น้อง’ คนใหม่เข้ามา
ทารกน่าเกลียด .. วีคมุนเค .. สายรุ้ง .. เด็กหญิงจากเทือกเขาสายรุ้ง
สายรุ้ง .. เกิดจากแสงของสุริยเทพ .. วีคมุนเคจึงเป็นดุจธิดาของสุริยเทพ
เมื่อครบ 20 วัน .. วีคมุนเคถูกมอบนามให้ว่า เมฆขาว
เมฆขาวคือเผ่าพันธุ์เลือดผสมของ ‘คนหน้าซีด’ ที่ท่านเมฆแดงพาติดมาด้วย
‘น้อง’ ที่ไม่ใช่น้อง แต่ได้มาดูดดื่มน้ำนมของแม่

เผ่าของโคซิส คือเผ่าของท่านเมฆแดง .. พ่อของเขา
เผ่าของท่านเมฆแดง มีสมาชิกนับร้อย
โคซิสได้รับสมญานามว่าอินทรีสายฟ้า .. ผู้มีความเร็วในการจับปลามือเปล่าดุจสายฟ้า
อินทรีสายฟ้า และไอ้ตัวน่าเกลียด .. เมฆขาว เติบโตมาด้วยกัน .. แต่ไม่ค่อยรักกัน
เขาไม่ค่อยชอบไอ้ตัวน่าเกลียด .. น้องที่ไม่ใช่น้อง
แถมไอ้ตัวน่าเกลียดก็ไม่ค่อยจะยอมเขาเสียด้วย
เมฆขาวคือเด็กกำพร้า (วาเบลนีชา) ที่ได้รับความเมตตาจากทุกคนในเผ่า
เธอใช้ยางไม้ป้ายหน้าให้กระดำกระด่างมากเป็นพิเศษกว่าเด็กอื่นๆ .. เพื่อให้กลมกลืน
เจ้าเมฆขาวเลยกลายเป็น ‘เจ้าเมฆลาย’ เพราะความมอมแมม

150-3 เมฆขาว

ตลอดเวลาที่เติบโต ทั้งอินทรีสายฟ้าและเมฆขาว
ได้ผ่านบททดสอบที่ยากลำบากมากมาย
พวกเขาได้เติบโตขึ้นเป็นชาวอินเดียนที่กล้าหาญและเข้มแข็ง
บททดสอบหนึ่ง ทำให้เจ้าเมฆขาวได้กลายเป็นผู้เยียวยาหญิง .. ผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์

150-2 เมฆขาว

ทางออกของอินทรีสายฟ้าและเมฆขาวในตอนใกล้จบ
เราว่าผู้เขียนดูจะขี้ตู่หน่อยๆ แต่ก็น่ารักดี ^^
แต่เนื้อเรื่องที่เขียนขึ้นจริงอิงตามประวัติศาสตร์นั้น
จะให้จบแฮปปี้เอนดิ้งเกินหน้าประวัติศาสตร์ไปก็คงไม่ได้
หากแต่ผู้เขียนหยุดเวลาเอาไว้ในช่วงที่ดีที่สุด .. ส่วนความจริงที่เกิดขึ้น ..
ก็คงอย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ ..
ทุกข์ เพื่อเรียนรู้ และเก็บสุขเป็นความทรงจำที่สวยงาม ..

เมฆขาว เป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านประวัติศาสตร์ของชาวอินเดียนที่ดีค่ะ

Comments are closed.