อ่านแล้วเล่า

สามก๊กบนเส้นขนาน

สามก๊ก ลำดับ 2
เรื่อง สามก๊กบนเส้นขนาน
ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ
สำนักพิมพ์ 113
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786164789913

สามก๊กบนเส้นขนาน จับเรื่องราวบางช่วงของสามก๊ก
มาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นับเริ่มตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ไปจนถึงช่วงท้ายของเล่มเป็นเหตุการณ์สดใหม่ ร่วมสมัย 
ที่เราเกิดทัน แต่ไม่เคยรู้ตื้นลึกหนาบางใดๆ
ผู้เขียนสรุปเหตุการณ์โดยไม่ได้ตัดสิน

ถ่ายทอดเป็นบทตอน ไม่ต่อเนื่องกันนัก (ยกเว้นบางบท)
จะอ่านเพียงบทเดียว ก็ได้น้ำได้เนื้อ
แต่ถ้าอ่านติดต่อกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ
ก็จะได้เห็นภาพโครงสร้างระบอบการปกครอง
และได้เห็นสาระบางอย่างที่ผู้เขียนตั้งใจจะบอก ย้ำซ้ำในหลายบท

โดยความชอบส่วนตัว
เราว่า สามก๊กบนเส้นขนาน เล่มนี้อ่านง่ายกว่า สามก๊ก ลำดับแรกของผู้เขียน
ด้วยฉากและตัวละคร (นักการเมืองชื่อดังแห่งสยามประเทศ) เป็นที่คุ้นเคยกันดี
โดยเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงที่เราเกิดทัน จะอ่านไปได้ไวมาก

ต้องบอกกันก่อนว่าเราไม่ใช่คอการเมือง
แม้จะอยู่ร่วมสมัย แต่ก็ไม่เคยเสาะแสวงหา ขุดคุ้ยความจริง (ทางการเมือง) ใดๆ
ทำให้เรารู้เรื่องราวต่างๆ อย่างผิวเผิน .. จนบางที ไม่รู้ไม่สนใจด้วยซ้ำ
เราเพิ่งจะมาเข้าใจเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบหลายๆ อย่าง จากคำอธิบายของผู้เขียน
ผู้เขียนอธิบายกลไกการจำนำข้าวให้เราเข้าใจได้ด้วยประโยคไม่กี่ประโยค
ได้เข้าใจว่าทำไมทักษิณจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนไทยแตกแยกกันขนาดนั้น
ฯลฯ

ผู้เขียนใช้วิธีเล่าอย่างห้วน สั้น จนบางครั้งก็ขาดความเข้มข้น (เหมือนกันนะ)
แบบที่ได้จากการอ่านนวนิยายอิงการเมืองเรื่องอื่นๆ ของผู้เขียนเอง
ว่าด้วยเรื่องสามก๊กที่นำมาเปรียบเทียบ ..
หลายเหตุการณ์เล่าซ้ำกันกับ สามก๊ก ฉบับวินทร์ เลียววาริณ ที่เพิ่งอ่านจบไป
เรื่องที่นำมาเปรียบเทียบ บางเรื่องเป็นเรื่องที่เรานึกถึงเหมือนกันตอนอ่านเล่มแรก
แต่บางเรื่อง ก็ยังดูจับคู่กันไม่พอดี อ่านแล้วไม่อิน

แต่โดยรวม สามก๊กบนเส้นขนาน ก็ยังนับว่าเป็นหนังสือที่น่าอ่าน
เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยากรู้อะไรเร็วๆ ใช้เวลาอ่านเพียงสั้นๆ

สรุปจบสิ่งที่เราประมวลได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้
มันไม่ได้ทำให้เรารู้ประวัติศาสตร์ หรือท่องจำประวัติศาสตร์ได้มากขึ้น
บางครั้งก็ไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์มากขึ้นด้วย
แต่ทำให้เรารู้จักอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ”
และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์

สังเกต วิเคราห์ และหัดปล่อยวาง อย่ายึดติด ..
ประชาชนไม่ควรถือหางรัฐบาลไม่ว่าฝ่ายไหน
ตลอดยุคสมัยแห่งประชาธิปไตยในบ้านเรา
แทบไม่เคยปรากฏนักการเมืองที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนมากมักทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับหิริโอตตัปปะส่วนบุคคล

ทุกครั้งที่เกิดรัฐประหาร การเดินขบวน หรือการเรียกร้องรุนแรงใดๆ
แกนนำมักลอยตัวเหนือปัญหา
ถ้าไม่หนีไปต่างประเทศ (เพื่อรอวันกลับมาสุขสบายอีกครั้ง)
ก็เปลี่ยนสีเป็นกิ้งก่า
การสลับขั้วศัตรูกลายเป็นมิตรมีให้เห็นออกบ่อย (และมักอ้างว่าทำเพื่อชาติ?)

มีแต่ประชาชนอันเป็นหญ้าแพรกที่แหลกราญ
เสียเพื่อน เสียความเป็นครอบครัว เสียทรัพย์
บาดเจ็บ ล้มตาย ล่มสลาย ติดคุก ฯลฯ
มีแต่ประชาชนตาดำๆ ที่ต้องรับผลแห่งการกระทำเหล่านี้เท่านั้น
ย้ำอีกครั้งว่า เราไม่ควรออกตัวออกหน้าแทนนักการเมืองคนไหนเลยจริงๆ

 

Comments are closed.