อ่านแล้วเล่า

พม่ารำลึก

เรื่อง พม่ารำลึก
ผู้แต่ง จอร์จ ออร์เวลล์
ผู้แปล บัญชา สุวรรณานนท์
สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167144429

อ่าน พม่ารำลึก เล่มนี้ ต้องถอดตัวเองออกจากหนังสือให้ได้ก่อน
เราต้องเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์
อย่าเอาตัวเองไปผูกติดกับตัวละครใดตัวละครหนึ่ง
หรือความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่ง

เรื่องของเรื่องก็คือ
ผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยการเปิดตัวละครชาวพม่าคนหนึ่ง นามว่าอูโพจีง
อูโพจีงเป็นชายวัยใกล้เกษียณ
ที่ผ่านชีวิตข้าราชการพม่า (ภายใต้การปกครองของอังกฤษ)
มาด้วยเล่ห์กระเท่ห์ คดโกง ฉ้อราษฎร์บังหลวง สับปลับ กินสินบน
เรียกได้ว่าถ้าอินกับอีตานี่ตั้งแต่ต้นเล่ม เราไม่มีทางไปไหนรอด!!

หลังจากที่รวบรวมสติและสมาธิ ยับยั้งความเกลียดที่มีต่ออูโพจีงได้แล้ว
ก็มาเริ่มอ่านด้วยกันค่ะ ;P

ฉากหลังของ พม่ารำลึก เล่มนี้ ช่วยบันทึกชีวิตของชาวยุโรป
โดยเฉพาะชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศพม่า
ในช่วงที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ (ราวปี ค.ศ. 1922 – 19277)

ผู้เขียนบรรยายฉากและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างละเอียดลออ
รวมไปถึงความคิด ค่านิยม อันเป็นสามัญของคนสมัยนั้น

ผู้เขียนเล่าถึงสังคมคนอังกฤษ
ทั้งมิสเตอร์ฟลอรี่ พ่อค้าไม้ซุง เจ้าของเรื่องราวทั้งหมดในเล่มนี้
นายแม็กเกรเกอร์ รองผู้แทนข้าหลวงแห่งเมือง เจ้าก์ตะดา
นายเวสต์ฟิลด์ ผู้กำกับการตำรวจ
นายแล็กเคอร์สตีน ผู้จัดการของบริษัทป่าไม้
นายเอลลิส ผู้จัดการของบริษัทป่าไม้อีกบริษัทหนึ่ง
และนายแม็กซ์เวลล์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฯลฯ
ที่พบปะสังสรรค์กันอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ
ทนคบกันไปอย่างแกนๆ แบ่งฝ่ายทะเลาะกันเองบ้าง
รวมกลุ่มกันเหยียดเจ้าถิ่นชาวพม่าบ้าง ..

ก่อนที่เราจะบูชาสิทธิและเสรีภาพกันอย่างเต็มขั้นเช่นทุกวันนี้
ครั้งหนึ่ง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากนี้ ย้อนหลังไปร้อยกว่าปี
คนอังกฤษเคยดูถูกเหยียดหยามคนท้องถิ่น (พม่าและอินเดีย)
เอาไว้ด้วยความรังเกียจเดียดฉันท์ถึงเพียงนี้

เมืองเจ้าก์ตะดา ที่ว่านี้ เป็นเมืองสมมติตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่าเทียบกันความเป็นจริงก็คือเมืองกะตา (เมืองกะต่า)

ช่วงที่เรากำลังเล่าถึงหนังสือเล่มนี้
เรากำลังอ่าน จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ไปด้วย
ซื้อมันพอเหมาะพอเจาะมาก มันคู่ควรที่จะอ่านต่อกันมากๆ
เพราะมันทำให้เราได้เห็นถึงมุมมองที่คนพม่ามาต่อจอร์จ ออร์เวลล์
มีต่อหนังสือของเขา ทั้ง พม่ารำลึก เล่มนี้
และรวมไปถึง animal farm และ 1984 ด้วย

สิ่งหนึ่งที่เราชอบในเล่มนี้คือ
บทสนทนาที่ย้อนแย้งระหว่าง มิสเตอร์จอห์น ฟลอรี่ พ่อค้าไม้ซุงชาวอังกฤษ
กับหมอวีรสวามี ศัลยแพทย์ประจำเมือง (ซึ่งเป็นคนพื้นเมือง)
โดยที่ ฟลอรี่ ที่เป็นคนอังกฤษแท้ๆ กลับเปิดโปงความเลวร้ายของจักรวรรดิ
ว่าได้เอาเปรียบ และรีดเค้นทุกหยดหยาดของทรัพยากร
โดยที่ไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ของเจ้าของประเทศ
ในขณะที่เจ้าของประเทศตัวจริงอย่างหมอวีรสวามี
กลับยกยอ เห็นดีเห็นงามว่าคนตะวันตกเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ
มุมมองอันย้อนแย้งนี้ อาจมีอยู่จริงในตัวแทนของบุคคลแต่ละประเภท
ผู้อยู่ใต้ปกครองบางคนก็อาจมีทัศนคติเช่นนั้นจริงๆ
หรือแม้แต่อีกหลายคน ก็อาจไม่ได้คิดอะไรเลย
เพียงแค่ยอมรับชะตากรรมไปวันๆ

โดยรวม เราว่า พม่ารำลึก สนุกกว่า
และเราชอบมากกว่า animal farm และ 1984
อาจเป็นเพราะมันจริง ตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องตีความ
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังไม่ใช่หนังสือในดวงใจเราอยู่ดี
หนังสือทำนองนี้ไม่ใช่แนวเราเลยจริงๆ

บทสรุปความรู้สึกเราที่มีต่อเล่มนี้ (แบบติดสปอยล์นิดหน่อย) คือ
พม่ารำลึก เป็นหนังสือรวมสุดยอดแห่งความย้อนแย้ง
สุดยอดแห่งความเสียดสี สุดยอดของการทำชั่วได้ดี และทำดีได้ชั่ว
และมันทำให้เรากังขาสงสัย ..
ว่าหนึ่งในยอดวีรบุรุษที่เราสดุดีกันอยู่นั้น
มีสักคนใดคนหนึ่งมั๊ย ที่ถูกยกย่องขึ้นมาอย่างอูโพจีง?

Comments are closed.