อ่านแล้วเล่า

นิราศสองภพ

เรื่อง นิราศสองภพ
ผู้แต่ง ฐา-นวดี : สุพล
สำนักพิมพ์ ดับเบิ้ลนายน์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9746601008

แม้ นิราศสองภพ เล่มนี้จะถูกเขียนขึ้นภายหลังจากที่ละครจบลงแล้ว
แต่เนื้อหาภายในเล่ม ก็ไม่ได้เป็นบทละครเป๊ะๆ อย่างที่นึกกลัว
ภาษาสละสลวยพอใช้ แม้สำนวนจะดูละครๆ ไปบ้าง
ตัวละครจะทำอะไรดูไม่สมเหตุสมผลไปบ้าง ตามขนบละครไทยยุคก่อน
และด้วยเหตุที่ตัวละครทำอะไรที่ไม่คิดบ่อยๆ นี่แหละ
ที่ทำให้ผู้เขียนพาตัวละครไปเจอเหตุการณ์ที่หลากหลาย
เสี่ยงภัย และได้ประสบการณ์ต่างๆ ให้ผู้อ่านได้สนุกโลดโผนไปด้วย

นิราศสองภพ ถ่ายทอดความโหดร้ายของมนุษย์ในยุคสงคราม
อันที่จริงต้องบอกว่า ถ่ายทอดความโลภของมนุษย์หลากหลายประเภท
โดยที่สงครามเป็นปัจจับที่บีบเค้นให้คนเราแสดงธาตุแท้ออกมามากขึ้น
และความเลวร้ายทั้งปวงเหล่านี้เอง ที่ทำให้เราสูญเสียกรุงศรีอยุธยา ..
เมืองอันเป็นเมืองหลวง เป็นบ้านเกิดเมืองนอน
เป็นที่พักพิงอาศัย เป็นชีวิตและสถานที่สืบวงศ์พงพันธุ์

 

ผู้เขียนเล่าเรื่องโดยให้ บัวบุษยา นางเอกของเรื่องเป็นผู้เล่า
ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งคือ “ฉัน” แทนตัวบัวบุษยา
เล่าเรื่องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเธอ
อ่านไปก็คล้ายกับการอ่านบันทึกของเธอไปด้วย
ไม่ได้อ่านนิยายที่ใช้วิธีเล่าแบบนนี้นานแล้ว
แต่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้ใช้วิธีเล่าแบบเดียวไปทั้งหมด
บางครั้งก็ถูกตัดสลับเล่าเรื่องในมุมอื่น ที่ไม่ได้ผ่านมุมมองของเธออยู่บ้าง

บัวบุษยา เป็นบุตรสาวนายธนาคารใหญ่ในยุคฟองสบู่แตก
เธอเกิดปัญหาชีวิตบางอย่างอันเป็นเหตุให้ต้องตกลงไปในแม่น้ำ แล้ววาร์ปไปยังอดีต
ในช่วงเวลา .. ราวห้าเดือนก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก
ชีวิตในอดีตของบัวบุษยา จับพลัดจับผลูไปอาศัยอยู่กับครอบครัวคนจีนแซ่ไห่
จากเมืองไห่เฟิง (เมืองเดียวกับตระกูลของพระเจ้าตากสิน)
ครอบครัวของเจ้าสัวไห่ เป็นครอบครัวค้าขายมั่งคั่ง
หัวหน้าครอบครัวคือเจิ้งไห่ ซึ่งตายไปก่อนหน้านี้แล้ว
เหลือแต่เพียงจันหอมผู้เป็นแม่ เทียน บุตรชาย และส้มหอม บุตรสาว
โดยที่เทียน หรือเฉินเสี่ยวเทียน มียศเป็นหมื่นเทียน
เข้ารับราชการเป็นหัวหมู่สอดแนม กองอาทมาตตะวันตก
อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพระยาพลเทพ .. คนดังแห่งยุค

ซึ่งในเรื่องนี้ พระยาพลเทพยังคงรับบทเป็นตัวร้ายเช่นเดียวกับหลายๆ เรื่อง
ที่ใช้ฉากเรื่องในยุคกรุงแตก (หนึ่งด้าวฟ้าเดียว เป็นต้น)

ครอบครัวของพระยาพลเทพในเรื่องนี้ มีภรรยาชื่อปริก
มีบุตรชายบุตรสาวคือหลวงเชิดและชงโค
ซึ่งบุตรทั้งคู่ของพระยาพลเทพ ต่างก็หมายปองบุตรชายบุตรสาวของจันหอม
คือเทียนกับส้มหอม เช่นกัน
เรื่องราวความรับจึงซับซ้อนตามฟอร์มละครไทย
รักกัน มีตัวร้าย อุปสรรคขีดขวาง มีดราม่าคนรักในอดีต 
มีขุนนาง มีเจ้าจอม ที่แตกความสามัคคี และล้วนเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ
ท่ามกลางฉากสงครามครั้งสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

แต่ นิราศสองภพ ก็เป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้อารมณ์เราขึ้นๆ ลงๆ อยู่นะ
ระหว่างอ่าน มีบางช่วงเหมือนกันที่เรารู้สึกว่ามันไม่โอเค
เพราะมันไม่สมจริงด้วยประการทั้งปวง
ผู้เขียนเล่าเรื่องไม่สละสลวย ไม่ลงรายละเอียดวามรู้สึกใดๆ
ตัวละครจะเพี้ยนๆ จังหวะนรก ตรรกะชวนเวียนหัว ดูเป็นละครไทยยุคก่อน
(ซึ่งก็ถูก เพราะมันถูกเขียนขึ้นมาจากละครอ่ะนะ)

สิ่งเดียวที่ค้ำจุนไม่ให้ นิราศสองภพ กลายเป็นหนังสือที่แย่คือพล็อตเท่านั้น
พล็อตเรื่องนี้ถือว่าล้ำพอสมควร ในปี พ.ศ. 2545 ตอนที่มันออกอากาศ
แม้เมื่อกลายมาเป็นหนังสือให้เราได้อ่านในตอนนี้ ก็ยังถือได้ว่าอ่านสนุกอยู่บ้าง
เมื่ออ่านอย่างไม่คาดหวัง ตัดความรำคาญตัวละครออกไปบ้าง

โดยรวมคืออ่านอย่างไม่คาดหวังน่ะแหละ
ถ้าจะเอามารีเมคทำละคร ก็คงต้องปรับบทอีกเยอะเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย
เป็นหนังสือที่เอาไว้อ่านเพลินๆ และถึงไม่อ่าน ก็ไม่ถือว่าชีวิตพลาดอะไรไป

 

Comments are closed.