อ่านแล้วเล่า

หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

87-1 หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

เรื่อง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว
ผู้แต่ง วรรณวรรธน์
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา 500 บาท (2 เล่มจบ)

ขออนุญาตติดสปอยล์ตัวโตๆ เอาไว้ตั้งแต่บรรทัดแรกของการรีวิวเลยทีเดียวค่ะ
เหตุเพราะตัวพระเอกของเรื่องมีเงื่อนงำความลับซับซ้อนหลายชั้น หลายประการ
ทั้งเรื่องชาติกำเนิด และเรื่องภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมา
ซึ่งในระหว่างการเล่า ก็อาจหลุดเนื้อหาสำคัญบางส่วนออกมา
เพราะฉะนั้น .. ในกรณีที่ตั้งใจว่าจะอ่านเอง
ขอชวนให้อ่านจบก่อนแล้วค่อยมาอ่านอีกทีน่าจะได้อรรถรสมากกว่าค่ะ
อ่านแบบไม่รู้อะไรเลยนี่มันได้อารมณ์จริงๆ ^^

หนึ่งด้าวฟ้าเดียว เป็นเรื่องราวพีเรียด เกิดขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนปลาย
เนื้อหาคาบเกี่ยวยุคปลายอยุธยาและต้นกรุงธนบุรี
เป็นช่วงของการเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2
และการกอบกู้เอกราชกลับคืนมาอีกครั้งโดยพระเจ้าตากสินมหาราช

โดยพระเอก .. ออกพระศรีขันทิน หรือหัวหน้าขันที สิขันทิน
แท้จริงแล้วเป็นคนของพระยาตาก (พระเจ้าตากสินมหาราช)
เขาเป็นจารบุรุษผู้ซึ่งปลอมตัวเข้ามาเป็นขันที
นามเดิมของ ออกพระศรีขันทินผู้นี้ คือ ขันทอง
เป็นลูกชายของเสือขุนทอง กับคุณท้าวสาลิกา หญิงวิลาสชาวโต้ระกี่ (ตุรกี)

ผู้เขียนได้หยิบยกเพลงกล่อมเด็ก ‘เจ้าขุนทองไปปล้น’
มาเสริมเติมจินตนาการให้มีตัวตนอยู่จริงในเรื่องนี้
(ซึ่งเราไม่แน่ใจว่า เจ้าขุนทอง มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์หรือเปล่า)
แต่อ่านแล้วจุดประกายให้เราไปเสิร์ชหาเรื่องราวของเขา
อ่านแล้วกินใจหลายประการ
ทั้งบทกลอน เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว ของ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง ของ คุณอัศศิริ ธรรมโชติ
และวรรณกรรมของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ
ฯลฯ

เพิ่งรู้ว่าเจ้าขุนทองเป็นแรงบันดาลใจที่แรงมาก
ที่มีต่อนักกวีหลายยุคสมัย ในเชิงสัญลักษณ์ของการกอบกู้อิสระเสรีภาพ (ทางการเมือง)

สำหรับในเรื่องนี้ เสือขุนทองเป็นเพื่อนกับเศรษฐีมิ่ง
และเป็นพ่อของขันทอง
เขาตายไปอย่างมีเงื่อนงำ ในการออกไปปล้นค่ายทหารพม่า
การตายของเสือขุนทอง เป็นสิ่งที่ติดค้างอยู่ในหัวใจของขันทอง ลูกชายของเขาเป็นอย่างมาก

87-2 หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

เจ้า แมงเม่า บุตรสาวของเศรษฐีมิ่ง เศรษฐีใหญ่บ้านนางเลิง
กำพร้าแม่ตั้งแต่เกิด มีพี่ชายคนหนึ่งชื่อ ม่วง
แมงเม่าฉลาดเฉลียว รู้หนังสือเพราะพี่ชายสอนให้อ่านตั้งแต่เล็ก
แถมรู้อย่างเชี่ยวชาญ แตกฉาน
เพราะที่บ้าน นอกจากทำกระดาษแล้วยังรับซ่อมสมุดไท (หนังสือ) ด้วย
เจ้าตัวดีจึงมีกลบทให้อ่านมากมาย

ผู้เขียนเล่าถึงกรรมวิธีการทำกระดาษแบบไทยโบราณ
และกลบท สัมผัสซับซ้อนแบบต่างๆ ของบทกลอนมากมายแต่โบราณ
แฝงเอาไว้ในเนื้อเรื่องอย่างน่ารู้และแนบเนียน

นางเอกเรื่องนี้สวยแก่นจนคนลือ มีคนมาดูตัวทาบทามสู่ขออยู่หลายราย
แต่ก็แตกกระเจิงไปเพราะความแสบของนาง

คราหนึ่งที่เจ้าแมงเม่าป่วยปางตาย
นางมีโอกาสได้รับความเมตตาจากแม่ขาว (เม่า)
แม่ชีผู้ใหญ่ผู้เคยเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง
ที่ถือสันโดษมาบวชที่วัดเดิมแห่งนี้ ตามคุณหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร)
(ภายหลังลาผนวชไปเป็น เจ้าจอมเม่า ในพระเจ้าเอกทัศน์)
= กรมขุนวิมลภักดี พระอัครมเหสีใหญ่ = พระชายาพระองค์ใหญ่

เจ้าฟ้าอุทุมพร = กรมขุนพรพินิต = เจ้าฟ้าดอกเดื่อ = ขุนหลวงหาวัด = คุณหลวงหาวัด
พระเจ้าเอกทัศน์ = กรมขุนอนุรักษ์มนตรี = สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์

87-3 หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

ด้วยความที่ผูกพันรู้จักกันมาแต่เล็ก
กรมขุนวิมลจึงมีความเอ็นดูเจ้าเด็กแสบแมงเม่าคนนี้มาก
ผู้เขียนได้สอดแทรกความเจริญรุ่งเรืองทางภาษาในยุคสมัยอยุธยาแฝงเอาไว้ในเรื่องนี้ด้วย
ผู้คนในยุคนั้น มีวัฒนธรรมการอ่านเขียนกลอนอย่างแตกฉาน
มีการเล่นคำ แต่งรหัสซับซ้อนแข่งกันภายในระหว่างตำหนัก .. เรียกกันว่ากลบท
ภายในเรื่องนี้ ตัวละครหลักที่เด่นทางด้านกลบทนั้น
คือตำหนักของเจ้าจอมเพ็ญ กับตำหนักของกรมขุนวิมล
(ทั้งสองพระองค์ก็เหมือนจะมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์?)

กลบทโคลงกลอนของไทยนั้น มีฉันทลักษณ์ซับซ้อน สวยงาม
มากกว่าที่เรารู้จักกันพื้นๆ แค่โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน มากมายนัก
นับเพียงแค่โคลง ก็มีโคลงไม่รู้กี่แบบต่อกี่แบบ
มีการใช้คำซ้ำ ย้ำเดินหน้า ย้ำถอยหลัง พ้องบังคับ ครุ ลหุ เต็มไปหมด
มีกลบทการเล่นคำ ถอดคำพลิกแพลงพิสดาร
แต่ก็ไพเราะและยากเกินกว่าที่จะเห็นคนยุคนี้แต่งกัน
โดยกลบทที่ว่านี้ มีทั้งในกรณีแต่งกันเล่นๆ เป็นการลับฝีมือ
และแต่งกันจริงจัง เพื่อส่งข่าวความลับให้แก่ฝ่ายเดียวกัน โดยไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้
เป็นวิชาสำคัญทางการทหารชั้นสูงของคนในยุคนั้น ..

ดีใจที่ผู้เขียนหยิบความยากเหล่านี้มาเกลี่ยเฉลี่ยลงในนิยาย
ทำให้อ่านสนุก เข้าใจง่าย (ขึ้นมาหน่อยนึง) ค่ะ

87-4 หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

กลับมาที่นางเอกของเรากันต่อ ..
เจ้าแมงเม่าคนนี้มีความแสบซนเกินหญิง
เธอออกไปเที่ยวเตร่กับพี่ชายและบ่าวไพร่เสมอๆ
รับรู้ดีว่าพี่ชายมีอริคนสำคัญอยู่คนหนึ่ง คือ เจ้ากล้า คนบ้านริมโรงฆ้อง ลูกชายพันแกว่น
เจ้ากล้าคนนี้เป็นนักเลงหัวไม้ เกะกะระราน
และต้องการจะได้แมงเม่ามาเป็นเมียเพื่อหยามพี่ชายของนาง

วันหนึ่งที่เจ้าแมงเม่าออกซนตามปกติ
นางได้พบกับขุนนางชายคนหนึ่งถูกทำร้ายปางตายมานอนอยู่ริมน้ำ
แท้จริงแล้ว ชายคนนั้นคือ ออกญาสีหะราชเดชะ
ก่อนตาย ออกญาสีหะราชผู้นี้ได้ยัดเยียดกระดาษใบบอกสำคัญใบหนึ่ง
ใส่ในกล่องสลักรูปผีเสื้อ ให้แก่แมงเม่า
ใบบอกใบนั้น คือหลักฐานสำคัญบางอย่าง ที่จะเปลี่ยนชีวิตของแมงเม่าและครอบครัว
ให้พลิกผันไปอย่างที่ใครก็ไม่อาจคาดคิดมาก่อนทีเดียว

87-5 หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

ครั้งหนึ่ง แมงเม่ามีโอกาสเข้าวังไปถวายงานถอดกลบทให้กรมขุนวิมล
เธอจึงได้พบกับออกพระศรีขันทิน หัวหน้าขันทีหลวง
ด้วยความถูกชะตา และได้พูดคุยจนไว้วางใจกัน
เธอจึงได้บอกความลับเกี่ยวกับใบบอกสำคัญนั้น
ใบบอกนี้ คือหลักฐานสำคัญในการเอาผิดขุนนางใหญ่โตหลายต่อหลายคน
ที่ทรยศต่อบ้านเมือง ลักลอบแจ้งข่าวการศึกให้แก่พม่าอังวะ
ในตอนนั้นเอง อีเยื้อน ข้ารับใช้ในเรือนได้ล่วงรู้ว่าใบบอกนั้นอยู่กับแมงเม่า
ด้วยความริษยา นางจึงนำความนั้นไปบอกแก่ผู้อื่นเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว

ม่วง พี่ชายของแมงเม่านั้น แม้จะแต่งงานแล้ว
แต่ก็มักจะแอบมาที่โรงรับชำเราบุรุษ ของออกญาหมิ่นเสมอๆ
เขาติดใจหญิงโสเภณีนางหนึ่ง ที่ชื่อว่าแม่สุ่น
และชีวิตประจำวันของเขานี้เอง ..
ที่กลายเป็นเงื่อนผูกรัดมัดตัวเขาเอาไว้กับความผิดที่เขาไม่มีทางแก้ตัว

ไอ้กล้า คู่อริของม่วงได้ร่วมมือกับขุนนางชั่ว
สร้างเรื่องเพื่อจะยึดใบบอกสำคัญนั้นคืนมาจากน้องสาวของเขา
ความหุนหันพลันแล่น ทำให้บ้านของม่วงและแมงเม่าถูกเผาจนหมดสิ้น
ครอบครัวกลายเป็นคนบ้านแตก ครอบครัวแมงเม่าย้ายไปตั้งหลักที่ราชพลี
ตัวของแมงเม่า ต้องถวายตัวมาอยู่ภายใต้พระบารมีของกรมขุนวิมล
และได้มาอยู่ใกล้กับออกพระศรีขันทิน ขันทีปลอม คนสนิทของเจ้าจอมเพ็ญ

เกือบจะจบเล่มแรก กว่าพระนางจะมีบทสนทนาต่อกัน
จากที่ปูพื้นยืดเยื้อเคร่งเครียดมาตั้งแต่ต้น มาเริ่มหวานหยดเอาตอนนี้เองค่ะ

87-6 หนึ่งด้าวฟ้าเดียว

เมื่อแมงเม่าเข้าไปอยู่ในวัง
ผู้เขียนก็ได้วาดภาพเหตุการณ์ภายในวังช่วงก่อนกรุงแตกผ่านสายตาของแมงเม่า
วังยังเต็มไปด้วยความบันเทิงเริงใจ
ขุนนางแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ มีทั้งฝ่ายรักสนุกและฝ่ายที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มขุนนางฝ่ายเล็กๆ
ที่ห่วงเหตุการณ์สงครามกองโจรของพระเจ้าอลองพระยาที่ใกล้ประชิดตัวเมืองเข้ามาทุกที

รู้สึกตะหงิดๆ นิดๆ ว่า ..
ผู้เขียนตั้งใจเปรียบเทียบเหตุการณ์ช่วงก่อนกรุงแตกให้ใกล้เคียงกับบ้านเราช่วงนี้
คือต่างคนต่างห่วงแต่ประโยชน์ส่วนตน ละทิ้งธุระบ้านเมือง
โดยไม่คิดเลยว่า ถ้าไม่มีบ้านเมืองแล้ว ตนจะไปเสวยสุขอยู่ที่ใด
แม้ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่ก็ได้กลิ่นอายร่วมสมัยมาก

ผู้เขียนได้สอดแทรกประวัติศาสตร์ช่วงปลายของอยุธยาเอาไว้หลายเรื่อง
บางเรื่องก็ได้ยินกันบ่อยๆ แต่บางเรื่องก็เพิ่งเคยได้ยิน
เป็นการเปิดโลกทัศน์ในการเสาะแสวงหาความรู้ของแฟนนิยายมากๆ
อย่างเช่น กรณีของเจ้าสามกรม ที่เอ่ยถึงเพียงคร่าวๆ
แต่พอไปเสิร์ชกูเกิ้ลแล้วก็นับเป็นเรื่องใหญ่เอาการเหมือนกัน
เกี่ยวโยงไปยังเรื่องการใส่ความกรมพระราชวังบวร (= เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ = เจ้าฟ้ากุ้ง)
เรื่องลำดับราชวงศ์ของพระเจ้าอุทมพร และพระเจ้าเอกทัศน์
เรื่องศึกพระเจ้าอลองพญา พญาอังวะ

และแม้ว่าตัวละครทั้งหลายในเรื่องนี้จะทำงานให้พระยาตาก (พระเจ้าตากสินมหาราช)
แต่ในเรื่อง ก็เกือบจะไม่ได้มีบทบาทของพระเจ้าตากสินเลย
ในช่วงต้น (จนเกือบจบ) เรื่องราวดำเนินอยู่แต่ภายในยุคปลายอยุธยาเท่านั้น
พระเจ้าตากสิน ยังคงเพียงแต่ซ่องสุมกำลัง และสืบข่าวอยู่เงียบๆ
เนื้อเรื่องจึงมีเพียงแต่การเอ่ยอ้างถึงท่านแต่เพียงอย่างเดียว
จวบจนใกล้จบเรื่อง เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ..
ผู้เขียนจึงได้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างกรุงธนบุรี
เริ่มตั้งแต่เส้นทางการเดินทัพของขุนหลวงตาก (พระเจ้าตากสินฯ) อย่างคร่าวๆ
ในครานั้น ทั้งออกพระศรีขันทิน และแม่แมงเม่า
ก็ได้ติดตามกองทัพของขุนหลวงตากมาโดยตลอด
แต่เป็นการเล่าอย่างรวบรัด

โดยรวมของเล่มนี้ เราชอบน้อยกว่าชอบน้อยกว่า ข้าบดินทร์ หลายเท่าค่ะ
มีความรู้สึกว่าเรื่องนี้ขาดๆ เกินๆ
เนื้อเรื่องบางส่วนดูจัดสร้าง เหตุและผลดูจะไม่รองรับกันอยู่
(อย่างเช่น ตอนที่ฝ่ายพระยาพลเทพรู้ว่า
ใบบอกสำคัญในกลักผีเสื้อนั้นถูกเก็บไว้กับม่วง พี่ชายของแมงเม่า
ก็ไม่รีบไปเอา รีรออยู่ตั้งนาน
หรือตอนที่ออกพระศรีขันทิน สะเพร่า
พูดคุยเรื่องความลับสำคัญ อย่างเรื่องของใบบอก
ต่อหน้านางเยื้อน แทนที่จะแอบพูดกันในที่ลับ ฯลฯ)

เรื่องความหวาน ที่ว่าเรื่องนี้หวานมาก เรากลับรู้สึกไม่อิน
รู้สึกเหมือนถูกยัดเยียด ไม่ได้มีโดยต่อเนื่องมาตลอดทั้งเรื่อง
แต่พอจะมี ก็จัดกระหน่ำมาแบบไม่ธรรมชาติ ดูเป็นการจงใจใส่

แต่ทั้งหมดนี้ต้องนับว่า เป็นความยากที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมดที่น่าสนใจ
ให้สอดคล้องแนบเนียนได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันค่ะ
เพราะทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป
ที่ไม่ค่อยมีใครจะนำมาสอดแทรกลงในนิยาย
ความรู้และความงดงามของภาษาไทย
วิถีชีวิตที่ลงรายละเอียดลึกของทั้งชาวบ้านและชาววัง
กรรมวิธีการทำกระดาษ การถอดความกลบท
รวมทั้งพล็อตที่แหวกแนวสุดๆ อย่างการจับขันทีมาเป็นพระเอก
ทั้งหมดนี้คือความสุดยอดที่รวมกันอยู่ในเรื่องนี้เรื่องเดียวค่ะ

Comments are closed.