อ่านแล้วเล่า

แก้วราหู

90-1 แก้วราหู

เรื่อง แก้วราหู
ผู้แต่ง แก้วเก้า
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
(สนพ. ในเครือ สนพ.อักษรโสภณ)
ราคา 430 บาท

อ่านชื่อ ‘วสวี’ ตอนแรกคิดว่าเป็นผู้หญิง!
แต่จริงๆ แล้ว ‘วสวี คือชื่อพระเอกของเรื่องค่ะ

แก้วราหู เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ในยุคของพ่อขุนรามคำแหง
แต่เป็นฉากอีกเมืองไม่ไกลกัน .. อาณาจักรภูแสน (น่าจะมีอยู่จริงตามประวัติศาสตร์)
เนื้อหาเน้นหนักไปในเรื่องของการปลุกจิตสำนึกรักและหวงแหนโบราณสถาน
และโบราณวัตถุ ที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ และทางจิตใจ
เปิดเรื่องมาแบบลึกลับน่าพิศวงชวนติดตาม ตามสไตล์แก้วเก้าเลย
รีวิวเรื่องนี้ สปอยล์เป็นระยะๆ นะคะ (พอกรุบกริบ แต่ไม่เฉลยตอนจบค่ะ)

เปิดเรื่องในเวลาที่วสวีเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ หลังจากที่ไปเรียนหนังสืออยู่หลายปี
การกลับมาครั้งนี้ เป็นโอกาสเดียวกันกับที่เขาจะต้องดำเนินเรื่องมรดกของคุณปู่ด้วย

พระยาพินิตนครา, เจ้าคุณพินิต หรือนายพินิต นาคราช คุณปู่ของวสวี
มีทรัพย์สมบัติหลังจากแบ่งให้ลูกหลานไปหมดเสียตั้งแต่ตอนยังมีชีวิตเหลืออยู่ไม่มาก
หนึ่งในไม่กี่อย่างนั้นได้แก่เรือนหลังเล็กในพื้นที่ของบ้านหลังใหญ่ที่หลุดจำนองไปนานแล้ว
วสวีเคยอาศัยอยู่ในเรือนเล็กหลังนั้นตั้งแต่ก่อนไปเมืองนอก
และเมื่อกลับจากเมืองนอกเขาก็ยังอยู่ที่เดิม มีคนเก่าคนแก่อยู่ด้วยอีกเพียง 2 คน

มรดกที่เหลืออยู่อีกชิ้นคือ คฤหาสน์ในจังหวัดห่างไกลทางภาคเหนือ
เป็นบ้านหลังสุดท้ายของคุณปู่ .. มันตั้งอยู่บนพื้นที่ลึก กันดาร และขาดความเจริญ
จึงกลายเป็นเศษเสี้ยวของสมบัติที่ไม่มีญาติคนใดสนใจ และตกเป็นมรดกแก่วสวีในที่สุด

ถึงกระนั้น ก่อนที่วสวีจะเดินทางกลับมา
นิภาพรรณ มารดาของเขาก็ได้ยกคฤหาสน์หลังนั้นให้ใครคนหนึ่งเช่าในราคาแพงลิบ
เป็นการเช่าแบบเดือนต่อเดือน ไม่มีการทำสัญญา และพร้อมจะคืนทุกเมื่อที่ผู้ให้เช่าต้องการ
การเช่าครั้งนี้ไม่มีใครทราบชื่อผู้เช่า มีเพียงแต่ชื่อทนายชยันต์ที่ติดต่อเป็นตัวกลางเท่านั้น
ครั้งสุดท้ายที่นิภาพรรณไปตรวจดูบ้านก่อนตกลงให้เช่า
เธอได้ฉกฉวยหีบแปดเหลี่ยมใบหนึ่งบนโต๊ะเครื่องแป้งในบ้านหลังนั้นติดมือมาด้วย
เป็นหีบกระเบื้องเคลือบขนาดเล็ก ประดับด้วยอัญมณีหลากสี
มีลวดลายของสตรีอ่อนช้อยในชุดศิลปะแบบจีนโบราณ (ในสมัยราชวงศ์ซ้อง)
(พ.ศ. 1503 – พ.ศ. 1819) .. อยู่ในท่วงท่างดงามต่างๆ กันไป

นอกจากผู้เช่าปริศนารายนี้
พ่อเลี้ยงบุญมายังเป็นอีกคนหนึ่งที่แจ้งความจำนงจะขอซื้อที่ดินผืนนั้นในราคาสูงอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ติดต่อผ่านนิภาพรรณ มารดาของวสวีผู้มีอาชีพเบื้องหน้าเป็นนายหน้าค้าที่ดิน
แต่เบื้องหลัง นิภาพรรณและนายชัยยะ..สามี ได้ลักลอบค้าของเก่าแบบผิดกฏหมาย
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยที่วสวีไม่รู้ระแคะระคายใดๆ ทั้งสิ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างวสวีกับมารดาไม่ค่อยราบรื่นนัก
อาจเป็นเพราะเธอหย่าขาดกับวสันต์ พ่อของเขา
นิภาพรรณแต่งงานใหม่กับนายชัยยะ และมีลูกสาวเล็กๆ คนหนึ่งชื่อเจนจิรา
เด็กหญิงเจนจิรานี้เอง คือคนแรกที่รับรู้ได้ถึงความลึกลับบางอย่างของหีบแปดเหลี่ยมนั้น
เด็กหญิงเพียรบอกมารดาว่ามีพี่สาวแสนสวยคนหนึ่งมาชวนเล่นด้วย
แต่ไม่มีผู้ใหญ่คนใดสนใจฟังเธอ ..

หลังจากวสวีกลับมาอยู่บ้านหลังเก่าในเมืองกรุงได้ไหม่นาน
ก็เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดขึ้นในกลางดึกของคืนวันพระจันทร์สุกสว่างคืนหนึ่ง
เจน น้องสาวตัวน้อยที่เขาไม่เคยพบมาก่อนเดินทางมาที่บ้านเขาโดยลำพัง
ทั้งที่บ้านของเธอและบ้านของเขาอยู่ห่างไกลกันเกินกว่าเด็กหญิงตัวเล็กๆ จะเดินทางมาเองได้
เจนนำหีบแปดเหลี่ยมใบนั้นมาให้แก่เขา เธอบอกว่ามันได้กลับคืนสู่เจ้าของแล้ว
และยังบอกอีกว่าหีบใบนี้คือกล่องใส่แก้วราหู .. เพียงเท่านั้น ไม่มีคำอธิบายอื่นใดอีก
จากนั้น เด็กหญิงก็หลับสนิท หลับลึก และไม่ตื่นขึ้นอีกเลย
เธอถูกนำตัวไปยังห้องพิเศษที่โรงพยาบาล ถูกตรวจอย่างละเอียด
และดูแลอย่างใกล้ชิด เท่าที่เงินของนิภาพรรณจะบันดาลให้ได้
แต่ไม่มีแพทย์คนใดพบสาเหตุของอาการหลับลึกนั้น

90-2 แก้วราหู

สุโขทัย ชื่อก็แปลอยู่แล้วว่าแผ่นดินนี้คือที่กำเนิดเริ่มต้นแห่งความสุข
แล้วสุขใดจะเท่ากับดวงจิตที่สุขสงบด้วยรสพระธรรม
และศรัทธาในศาสนาอย่างกระจ่างแจ้งปราศจากโมหะ
ด้วยเหตุนี้ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุเหล่านั้น
จึงอุบัติขึ้นด้วยเหตุนิยมยินดีและศรัทธาจากพระเจ้าแผ่นดิน
ผู้เป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก ตลอดจนบรรดาศิลปินปฏิมากรทั้งปวง
ที่สร้างผลงานนี้ขึ้นด้วยชีวิตจิตใจของเขาทั้งหมด
ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความหวังว่าฝีมือของเขานั้นขออุทศเป็นพุทธบูชา
เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง และเป็นบุญกุศลติดตัวสืบไปยังสัมปรายภพ
ผลงานของเขาจึงเลิศล้ำหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้เพราะเกิดจากดวงจิตที่เอิบอาบด้วยศรัทธา
ด้วยความหวังว่าจะเป็นสิ่งปวงชนกราบไหว้บูชา
เป็นที่ยึดเหนี่ยวน้อมนำใจให้บรรลุถึงแก่นแห่งพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต
ไม่ใช่เอามาเป็นเครื่องประดับประดา
หรืออวดโอ้แสดงความภาคภูมิของตนในฐานะเป็นสมบัติมีราคาสูง
เท่ากับเห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษเป็นสินค้าชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง
(คัดลอกจากหนังสือ)

วสวีตัดสินใจเดินทางกลับไปยังบ้านคุณปู่ที่อยู่ทางภาคเหนือของไทย
โดยมีอมรินทร์ นักโบราณคดีผู้ที่กำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องของอาณาจักรภูแสน
ร่วมเดินทางไปด้วยอีกคน
เมื่อไปถึง เขาพบว่าบ้านหลังเก่าของคุณปู่ได้รับการบูรณะดูแลอย่างดีโดยผู้เช่านิรนามคนนี้
เขาได้พบเธอที่นั่น .. ขัตติยานี

ขัตติยานี ช่วยตอบปัญหาหลายข้อที่น่าสงสัยแก่เขา
หากแต่ตัวเธอเองก็เป็นปริศนาชิ้นใหญ่ที่เขาแก้ไม่ออก

เมื่อขัตติยานีได้เห็นหีบแปดเหลี่ยม เธอรู้วิธีเปิดหีบกลใบนั้นทันที
หีบที่ดูเหมือนไม่มีอะไร เมื่อเปิดด้วยวิธีที่พิเศษ
วสวีก็พบว่าแท้ที่จริงแล้วมันบรรจุเครื่องประดับชิ้นหนึ่งอยู่
เป็นเครื่องประดับที่ใช้คล้องลอดผ้าคาดเอวของผู้ชาย
ก่อนจะมัดติดตัวเอาไว้คล้ายเครื่องรางประจำตัว
เครื่องประดับชิ้นนี้เอง ที่ถูกประดับเอาไว้ด้วยแก้วราหู .. อัญมณีจากเทวดา

แก้วราหู .. ราหุรัตนมณิก .. เป็นของคู่บ้านคู่เมืองของอาณาจักรภูแสน ..

อาณาจักรภูแสน หรือลักขคีรีนคร ตามภาษามคธ
ตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักรลานนาและอาณาจักรสุโขทัย
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของลานนา และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่
ในยุคหนึ่งอันเป็นยุคเดียวกันกับพระยารามราชแห่งสุโขทัย (พ่อขุนรามคำแหง)
อาณาจักรภูแสนมีเจ้าผู้ครองเมืองนามว่าขุนล่มฟ้า
หรือเรียกกันว่าแสนภูไท อันเป็นคำเรียกกษัตริย์แทนพระนามจริง
ขุนล่มฟ้ามีชายานามว่ามาสเมือง หรือนางหิรัญญปุระเทวี อันเป็นนางจากสุโขทัย
และการอภิเษกครั้งนั้นเป็นการอภิเษกเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองแคว้น ..

ขัตติยานีดูแลคฤหาสน์ของคุณปู่อันเป็นมรดกของเขาเป็นอย่างดี ..
ดีกว่าสมัยที่คุณปู่ดูแลเองด้วยซ้ำ
เธอรักษาข้าวของสำคัญทุกชิ้นให้อยู่ในสภาพเดิม .. หนึ่งในนั้นคือจารึกลานเงิน
อันเป็นบันทึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่ในราว พ.ศ. 1842 .. นามว่านางหิรัญญปุระเทวี
นางเป็นชาวสุโขทัย และจารึกลงเป็นลายสือไทย อันเป็นภาษาที่แพร่หลายในสุโขทัยยุคนั้น

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ปู่ของวสวีได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับอาณาจักรภูแสน
และจดบันทึกเอาไว้อย่างละเอียด
ห้องสมุดของบ้านนี้จึงเป็นเสมือนแหล่งขุมทรัพย์ของอมรินทร์ผู้สนใจในด้านเดียวกัน

เมื่อวสวีได้กลับมาพักที่บ้านหลังเก่าที่เคยพักอาศัยเมื่อยังเยาว์วัย .. เขาก็เริ่มฝัน
เป็นฝันถึงอดีต .. อดีตอันไกลโพ้น ย้อนหลังไปราว 700 ปี .. ในยุคของพ่อขุนรามคำแห่ง
เป็นฝันระลึกอดีต .. ถึงสิ่งที่เคยอยู่ เคยเป็นมา .. เจ้าล่มฟ้า ..

90-3 แก้วราหู

พ่อเลี้ยงบุญมาผู้ประสงค์จะซื้อบ้านและที่ดินผืนนี้ ได้พบกับวสวีครั้งแรกที่บ้านหลังนี้
พ่อเลี้ยงบุญมาผู้นี้ก็มีอดีตชาติร่วมกันกับวสวี และขัตติยานีด้วยเช่นกัน ..
เจ้าล่มฟ้า, เจ้าคำหาว, และมาสเมือง เคยรัก เคยรบ เคยแค้น
และกรรมอันผูกพันนั้นเองได้นำพาทั้งสามให้มาพบกันอีกครั้ง
ณ แผ่นดินที่เคยเป็นที่ตั้งของเมืองแสนภู

มาสเมืองเป็นบุตรพ่อขุนบานเมือง (พระเจ้าปาล หรือปาลราช จากชินกาลมาลีปกรณ์)
แห่งอาณาจักรสุโขทัย เป็นหลานของพ่อขุนรามคำแหง
เธอได้พบกับขุนล่มฟ้าครั้งแรกที่อุทยานชั้นใน ในพระราชวังแห่งสุโขทัย
ขณะที่ขุนล่มฟ้าลี้ภัยการเมืองมาพึ่งพ่อขุนรามคำแหง

พ่อเลี้ยงบุญมา มีบุตรสาวอยู่คนหนึ่งชื่อว่าอโนดาต
อโนดาตเป็นหญิงสาวใสซื่อผิดพ่อ เธอเป็นหญิงสาวอ่อนแอ บอบบาง ..
เป็นดังดวงใจของพ่อเลี้ยง
เธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีอดีตร่วมกันมาด้วย

เมื่ออดีตกษัตริย์สองรุ่นเวียนว่ายตายเกิดมาพบกันอีกครั้ง
ผู้หนึ่งในฐานะผู้ปกปักษ์รักษา อีกผู้หนึ่งในฐานะผู้ผลาญสมบัติชาติ
สมบัติอันเคยเป็นของตนทั้งคู่ .. สุดที่จะห้ามปรามด้วยเหล่าดวงวิญญาณที่เฝ้าดูแล
ผลครั้งนี้คงต้องปล่อยไปตามวิถีแห่งกรรม

แก้วราหู น่าจะเป็นนิยายที่เขียนเอาไว้นานแล้ว
เพราะความลึกซึ้ง และความซับซ้อนของพล็อตยังไม่มากเท่าเล่มหลังๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่พบในทุกงานเขียนของแก้วเก้าคือ
วิธีเขียนในแบบของแก้วเก้า ..
ในช่วงที่เหตุการณ์ควบรวมช่วงเวลายืดยาว แก้วเก้าจะเล่ารวบรัด
ด้วยสำนวนสละสลวย ชวนติดตามนำพาเรื่องราวดำเนินไปอย่างรวดเร็วไม่เคยน่าเบื่อ
แต่เมื่อถึงบางเหตุการณ์ที่เป็นส่วนสำคัญ หรือต้องการขยายเพื่อเน้นย้ำอะไรบางอย่าง
ก็ใส่บทพูด บทคิด แสดงความรู้สึกของตัวละครอย่างลึกซึ้ง
หลายจุดมีคติสอนใจที่เฉียบคม สะดุดความรู้สึกผู้อ่าน มีไคลแมกซ์หลายครั้ง
ให้รู้สึกอึ้ง ทึ่ง หรือสุขสมใจไม่สิ้นสุด
อ่านงานเขียนของแก้วเก้าแล้ว ไม่เคยผิดหวังค่ะ
เป็นการยากมากที่จะเลือกเรื่องที่เป็นที่สุดสักเล่ม

สำหรับ แก้วราหู เล่มนี้ มีการดำเนินเรื่องที่สนุก ภาษาสวยงามไม่แพ้เล่มอื่น
แต่สำหรับพล็อต เราว่ามันน่าเชื่อยากไปหน่อย ที่วิญญาณดวงหนึ่งจะยึดติดไม่ยอมไปเกิด
ด้วยเหตุผลเพียงว่า .. อยากรู้คำตอบว่าใครอีกคนรักเธอหรือเปล่า ..
แต่ผู้เขียนก็นำเสนอไปในเรื่องของความผูกพันที่นางมาสเมืองมีต่อวสวีมากกว่า
ในตอนหลัง จึงไปเน้นประเด็นของการปกปักษ์รักษาเมืองเก่าจากผู้ทำลายแทน

เนื้อเรื่องไม่มีเซอร์ไพร้ส์ชนิดพลิกความคาดหมาย
แม้จะเป็นจินตนิยายเล่าเรื่องเหนือจริง แต่ก็เป็นไปในแนวทางที่เราพอจะเดาเรื่องได้
มีหลายอย่างที่คาดเดา คาดหวังเกินไป มันกลับไม่เกิดขึ้นในนิยายเรื่องนี้
ข้อขัดใจอีกอย่างหนึ่งสำหรับนิยายเรื่องนี้เห็นจะเป็นที่ขาดความหวาน
ทั้งกับนางเอกจากอดีต และนางเอกในยุคปัจจุบัน
มารู้สึกชัดๆ ว่าวสวีรักนางเอกจากอดีตจริงๆ ก็ตอนใกล้จบนี้เอง
แต่กับนางเอกในยุคปัจจุบันนี่ขัดใจมาก ไม่รู้ไปรักกันตอนไหน

90-4 แก้วราหู

ในตอนอ่านช่วงกลางเรื่อง เราจะขัดใจอีกอย่าง ตรงที่พระเอกดูเหมือนไม่ฉลาดเอาซะเลย
เข้าใจอะไรยากเหลือเกิน ทั้งที่นิ้วทั้งสิบก็ชี้มาทางทิศเดียวกันนี่
แต่พี่แกก็ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย
แต่เรื่องนี้มีเหตุผลคือ ในชาติก่อน วสวีได้อธิษฐานเอาไว้ว่า
ขอตัดขาดจากชาตินั้น ตัดขาดจากภูแสนและความผูกพันทั้งปวง
ชาตินี้เขาจึงไร้เซ้นส์โดยสิ้นเชิง ตีมึนจนน่าโมโห

โดยรวมๆ เล่มนี้สนุกพอประมาณค่ะ แต่ยังกินใจสู้อีกหลายเล่มของนามปากกาเดียวกันนี้ไม่ได้
ถ้าอ่านในยุคก่อนคงสนุกมากกว่านี้ แต่ยุคนี้พล็อตล้ำหน้าไปกว่านี้หลายเท่า
พล็อตประมาณนี้เลยค่อนข้างเฉยๆ ค่ะ ^^”

หมายเหตุ :
นิยายลึกลับที่เกี่ยวข้องกับโบราณคดี หรือความลึกลับที่เราเคยเล่าไว้ มีอีกหลายเรื่องค่ะ
พิษสวาท, ปราสาททรายในสายฝน, รุ่งอรุณ (เรื่องนี้ไม่ค่อยลึกลับค่ะ แต่เกี่ยวกับการสืบสวน)

Comments are closed.