อ่านแล้วเล่า

ปฏิบัติการสังหารแมรี่ ซู

เรื่อง ปฏิบัติการสังหารแมรี่ ซู
ผู้แต่ง อาดาจิ ฮิโรทากะ
เขียนในนามปากกา โอตสึ อิจิ, นาคาตะ เออิจิ,
ยามาชิโระ อาซาโกะ และ เอจิเซ็น มาทาโร
ผู้แปล พรพิรุณ กิจสมเจตน์
สำนักพิมพ์ ฮัมมิงบุ๊คส์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786169244349

ยังคงอยู่กันที่ ผลงานรวมเรื่องสั้นของ โอตสึ อิจิ ค่ะ
เล่มต่อมาที่เราหยิบมาอ่านเล่มนี้ คือ ปฏิบัติการสังหาร แมรี่ ซู
ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่อง
แต่ละเรื่อง ถูกเขียนด้วยนามปากกาที่แตกต่างกันออกไป
รสชาติในเล่มจึงค่อนข้างหลากหลาย
ตั้งแต่สนุก ธรรมดา ไปจนถึงเหวอ

เรื่องแรก บันทึกวานรที่รัก
ถูกเขียนขึ้นจากนามปากกา โอตสึ อิจิ
เล่มนี้ โอตสึ อิจิ ยังคงรักษาคุณสมบัติความเลยเถิด
เปิดเรื่องขึ้นจากการที่เขาได้รับพัสดุจากทางบ้าน
ที่นอกจากจะเป็นเสบียงปกติทั่วไปแล้ว
ยังมีของพิเศษอีกอย่าง เป็นขวดหมึกดูต่างหน้าพ่อ
โอตสึ อิจิ สามารถเล่าชีวิตคนเกือบทั้งชีวิต
ผ่านเพียงเรื่องสั้นไม่กี่สิบหน้า
เป็นเส้นชีวิตที่ดำเนินไปเรื่อยๆ เลยเถิดอย่างที่บอก
แต่ก็ชวนติดตามให้ยอมอ่านจนถึงตอนจบ
เรื่องนี้จบได้ประทับใจเราค่ะ 🙂

เรื่องต่อมา เพื่อนเรากลุ่มดาวแพะทะเล
จากนามปากกา โอตสึ อิจิ เช่นกัน
เราชอบเรื่องนี้มาก แม้ว่าจะมีความยาวมากกว่าเรื่องอื่นๆ
เป็นอีกครั้งที่โอตสึ อิจิ เล่าถึงการกลั่นแกล้งภายในห้องเรียน
ตอนที่อ่าน กลิ่นอายจากเรื่อง ซากศพสีฟ้า มาเต็ม
โอตสึ อิจิ ยังคงเล่าเรื่องเดิม
คือเรื่องของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งจากหัวโจกของห้อง
เขาเกิดอาการโกรธแค้น และท้ายที่สุด
เขาก็วางแผนลงมือฆ่าเพื่อนหัวโจกคนนั้น
แต่นี่คือต้นเรื่อง เรื่องเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นในตอนนี้

วิธีเล่าเรื่องของเรื่องนี้ ตัวละครที่เล่าเรื่องไม่ใช่คนที่ฆ่าหัวโจก
แต่เป็นเด็กอีกคนที่เป็นเพื่อน
คุณโอตสึยังย้ำประเด็นที่ว่า เมื่อมีคนหนึ่งถูกกลั่นแกล้ง
คนที่เหลือในห้องก็ยังปลอดภัย ทุกคนแค่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็น
แล้วปล่อยให้อันธพาลแกล้งเพื่อนคนนั้นต่อไป

ความเป็นโอตสึ อิจิ อีกอย่างหนึ่งคือความเหนือจริง
ในเรื่องนี้ยังใส่ความเหนือจริงเข้ามาในเรื่องด้วย
เพราะตัวละครที่เล่าเรื่องนี้ อาศัยอยู่ในห้องที่มีความพิเศษ
ห้องของเขาตั้งอยู่ในพิกัดที่ลมพัดแรง
ที่ระเบียงห้องของเขา มักจะมีเศษกระดาษ
หรือเศษหนังสือพิมพ์ปลิวมาตกอยู่บ่อยๆ
ความแปลกก็คือ กระดาษที่ปลิวมาตกนี้
มีข่าวที่ข้ามเวลามาจากอนาคต
โอตสึ อิจิ จับสองพล็อตนี่มาผูกไว้ด้วยกัน
และเล่าเรื่องออกมาได้สนุก ระทึก และเต็มไปด้วยมวลอารมณ์
นี่เป็นตอนหนึ่งที่เราชอบมากค่ะ

เรื่องสั้นเรื่องที่สาม มุนาคาตะคุงกับคดีปากกาหมึกซึม
เขียนผ่านนามปากกา นาคาตะ เออิจิ
เรื่องนี้มีความเป็นคดีสืบสวนย่อมๆ
ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนประถมห้องหนึ่ง
ตัวละครผู้ใหญ่ (ส่วนมากเป็นคุณครู) ของโอตสึ อิจิ
มักจะเป็นพวกที่ไม่ฉลาด และพึ่งพาไม่ได้
ความทรงจำที่โอตสึ อิจิ มีต่อครูและโรงเรียน
คงเป็นภาพจำที่ไม่ค่อยดีนัก
อ่านทีไร ก็ชวนหงุดหงิดใจกับตัวละครพวกนี้ทุกที

นี่เป็นอีกเรื่องที่ชวนติดตาม และอ่านได้สนุกมาก
ชอบเรื่องนี้ด้วยอีกเรื่องค่ะ ^^”

เรื่องต่อมา เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องสั้นที่มีชื่อเดียวกับชื่อเล่ม
ปฏิบัติการสังหารแมรี่ ซู จากนามปากกา นาคาตะ เออิจิ เช่นกัน
กับชื่อเรื่องแบบนี้ ทีแรกเราแอบเกร็งหน่อยๆ
แต่นามปากกานี้ของโอตสึ อิจิ มักจะเป็นเรื่องที่อ่านได้สบายๆ ไม่กดดัน
เรื่องนี้ก็เช่นกันค่ะ ชวนติดตามว่าตัวละครผู้เล่าเรื่อง
จะพาเรื่องที่เล่านี้ไปจบลงที่ตรงไหน
เป็นเรื่องที่ชวนให้อ่านไปยิ้มไป อ่านสนุกมากเลย ^^

เรื่องต่อมา วิทยุสื่อสาร จากนามปากกา ยามาชิโระ อาซาโกะ
เรื่องนี้ชวนให้เรานึกถึงเรื่องสั้นที่ชื่อเดียวกับหนังสือเล่มก่อน
คือ หากสมองฉันไม่ได้ฟั่นเฟือน ..
(จริงๆ คือใช้นามปากกาเดียวกันเขียนด้วย)

ถ้าตัวละครในวัยเด็กของโอตสึ อิจิ
คือเด็กที่แปลกแยก และถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน
ตัวละครในวัยผู้ใหญ่ของเขา
ก็คือผู้ใหญ่ที่สูญเสีย และมีหัวใจที่ผุพัง
แต่ตัวละครเหล่านั้นก็ยังคงมีเส้นบางๆ บางอย่างเหนี่ยวรั้งเอาไว้อยู่
กำลังใจอันน้อยนิดนี้เอง ที่เป็นความอบอุ่นของเนื้อเรื่อง
ในสไตล์ถนัดของโอตสึ อิจิ

สองเรื่องสุดท้าย คือ ปลายทางของสิ่งพิมพ์บางสิ่ง
โดย ยามาชิโระ อาซาโกะ
และ เอวา มารี ครอส จากนามปากกา เอจิเซ็น มาทาโร
เป็นสองเรื่องที่เราชอบน้อยที่สุดในเล่ม
โดยเฉพาะเรื่องสุดท้าย มันชวนให้นึกถึง goth หรือ zoo
ซึ่งก็เป็นเล่มที่เราชอบน้อยๆ ในทั้งหมดของโอตสึ อิจิ

โดยรวม ในเล่มนี้นี้มีหลายเรื่องที่ค่อนข้างสนุก
แต่บางเรื่องก็ไม่ไหวหน่อยๆ
เป็นรวมเรื่องสั้นที่เราไม่ได้ชอบทั้งเล่ม
และชอบเล่ม หากสมองฉันไม่ได้ฟั่นเฟือน มากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้น ในเล่มนี้ก็ยังมีเรื่องสั้นดีๆ ที่น่าอ่านอีกหลายเรื่อง
ถ้ามีโอกาส หรือเป็นแฟนโอตสึ อิจิ
ก็ไม่ควรที่จะพลาดเล่มนี้ค่ะ 🙂

Comments are closed.