อ่านแล้วเล่า

พม่าเสียเมือง

88 พม่าเสียเมือง

เรื่อง พม่าเสียเมือง
ผู้แต่ง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
สำนักพิมพ์ ดอกหญ้า 2000
ราคา 160 บาท

พม่าเสียเมือง เป็นเรื่องเล่าเรื่องราวของการเสียเมืองของพม่าครั้งสุดท้าย
เป็นการเสียเมืองให้แก่อังกฤษ
เสียด้วยความกลัว ความขลาด ความเขลา และรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เป็นอุทาหรณ์ชั้นดีแก่ผู้อ่าน
เพราะหลายเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นเป็นวัฏจักร วนเวียนมาเกิดซ้ำๆ ในอีกหลายยุค หลายสมัย
หากบางครั้ง เราก็เหมือนพม่า ลืมเลือนมันไป เพื่อจะผิดอีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คุณชายคึกฤทธิ์เขียนพม่าเสียเมืองเล่มนี้ด้วยภาษาที่อ่านง่าย อ่านเพลิน สนุก
จะมึนๆ หน่อยถ้าจะอ่านเอาเรื่อง เพราะไทม์ไลน์เวลาค่อนข้างสับสน (หรือเราสับสนเองก็ไม่รู้)
แต่ถ้าอ่านเอารส เรื่องนี้ครบอรรถรสเต็มๆ ค่ะ
(แต่ก็ผิดหวังนิดหน่อย ถ้านำไปเทียบกับสี่แผ่นดิน อย่างที่บอกค่ะ อ่านเอาสนุก แต่อย่าเอารายละเอียด ถือว่าโอเค)

เนื้อหาในเล่มพม่าเสียเมืองนั้น เกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคม
อย่างที่เราเคยเรียนในหนังสือตำราเรียนว่า ประเทศฝั่งซ้าย เช่นพม่า อินเดีย ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
ส่วนแถบฝั่งขวา ลาว เวียดนาม กัมพูชา นั้นตกเป็นของฝรั่งเศส
มีประเทศไทยเรารอดปากเหยี่ยวปากกาไปอย่างน่าใจหาย และน่าภาคภูมิใจไปพร้อมๆ กัน
ช่วงเวลาในตอนนั้นนั่นเอง ที่เกิดเหตุการณ์พม่าเสียเมืองขึ้น
เนื้อหาร้อยเรียงออกมายืดยาว (บางครั้งคุณชายก็เขียนในเชิงนิยาย แต่บางครั้งก็คล้ายสารคดี)
อยากจะเอามาเล่าย่อๆ แต่ก็ย่อได้ยากจริงๆ

ว่าแต่ .. นายอยากรู้จริงๆ เหรอ .. เล่ายาวนะ (ทำเสียงเหน่อแบบบุญชูด้วย)

เรื่องย่อที่ย้าวยาว ..

เริ่มต้นกันที่รัชสมัยสุดท้ายแห่งกษัตริย์พม่า .. ราชวงศ์อลองพระ (อลองพระยา / อลองพญา)
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้คือพระเจ้าอลองพระ หรือพระเจ้ามาลอง
พระเจ้ามาลอง แต่เดิมนั้นเป็นนายบ้านของเมืองที่ตกเป็นเมื่องขึ้นของชนชาติมอญในขณะนั้น
พระองค์ทรงรวบรวมสมัครพรรคพวกรวบรวมกำลังพลจนสามารถตีอาณาจักรมอญได้
จากนั้นจึงได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งกรุงอังวะขึ้นเป็นราชธานีแห่งพม่า
พระเจ้ามาลองได้ทำสงครามขยายอาณาเขตออกไปมากมาย
สำคัญที่พระราชอาณาเขตทางภาคเหนือนั้น แผ่ขยายออกไปจนถึงแขวงมณีปุระ ติดประเทศอินเดีย
(ขณะนั้น อังกฤษได้ยึดครองอินเดียอยู่ – เรียกได้ว่าพม่าได้ปะทะหน้ากับอังกฤษจังๆ เลยทีเดียว)

เมืองไทยในขณะนั้น ยังเป็นยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
(เทียบไทม์ไลน์ในหนังสือกับเว็บไซต์ต่างๆ แล้วยังงงๆ นะคะ)
พม่าเองก็มองว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ จึงได้ยกทัพมาตีเพื่อแผ่ขยายอาณาเขตด้วย
แต่ก็ยังตีไม่ได้จนพระเจ้ามาลองสวรรคตไปก่อน
เวลาผ่านไปอีก 17 ปี พม่าจึงตีกรุงศรีอยุธยาแตกเป็นผลสำเร็จ
(ในรัชสมัยของพระเจ้ามังระ (จากวิกิฯ และคุ้นๆ จากตำราเรียน)
แต่หนังสือของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ของเราไม่มีชื่อพระเจ้ามังระ .. มึน)

(ลำดับราชวงศ์จากวิกิฯ : พระเจ้าอลองพญา – พระเจ้ามังลอง – พระเจ้ามังระ – พระเจ้าจิงกูจา –
พระเจ้าหม่องหม่อง – พระเจ้าปดุง (โบดอพญา) – พระเจ้าจักกายแมง (บายีดอ) –
พระเจ้าแสรกแมง – พระเจ้าพุกามแมง – พระเจ้ามินดุง – พระเจ้าธีบอ)

(ลำดับราชวงศ์จากพม่าเสียเมือง : พระเจ้าอลองพระ (พระเจ้ามาลอง) – พระเจ้านองดอคยี – พระเจ้าสินพยุฉิ่น –
พระเจ้าสิงคู (จิงกู/สิงกู) – พระเจ้าโบดะยะพะยา – พระเจ้าบาคยีดอ –
พระเจ้าทาระวดีดอ (ย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงอมรปุระ) – พระเจ้าพะคันหมิ่น –
พระเจ้ามินดุง (ย้ายเมืองหลวงอีกครั้งมาที่มัณฑะเล) – พระเจ้าสีป่อ)

การตีเมืองใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยาได้นี้เอง ทำให้พม่าเชื่อมั่น ฮึกเหิมในอิสริยยศของกษัตริย์ตน
รวมไปถึงความแกร่งกล้าของเหล่าแม่ทัพนายทหารต่างๆ
นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้พม่าประมาณตนผิดจนกล้าต่อกรกับอังกฤษ

อ่านพม่าเสียเมืองแล้วถึงได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วพม่าเสียเมืองให้อังกฤษถึง 3 ครั้ง
การสูญเสียของพม่านั้นเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายรัชกาล
อังกฤษและพม่าทำสงครามกับถึง 3 ครั้ง ก่อนที่พม่าจะถูกอังกฤษยึดครองไปทั้งหมด

การเสียเมืองครั้งแรก ตรงกับต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทยเรา
และเป็นรัชสมัยของพระเจ้าบาคยีดอของพม่า พม่าได้เปิดศึกกับอังกฤษ และแพ้ไปตามคาด
ในครั้งนั้นพม่าได้เสียเมืองยะไข่ และแคว้นตะนาวศรีไป พร้อมเงินค่าปรับจำนวนมาก

ต่อมา ในรัชสมัยของพระเจ้าพะคันหมิ่น ประชาชนพม่าถูกปกครองด้วยความไม่เป็นธรรมสุดๆ
กฏหมายต่างๆ ก็ขึ้นกับน้ำพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน
ประชาชนถูกกดขี่ รีดนาทาเร้นไปทั่วราชอาณาจักร ทั้งชนชาวพม่าเอง รวมไปถึงพ่อค้าฝรั่งด้วย
ในการนี้เองทำให้อังกฤษไม่พอใจ สบโอกาสเหมาะที่จะหาเรื่องตีพม่าอีกครั้ง
การรบครั้งที่ 2 อังกฤษก็ชนะตามเคย และยึดเมืองมอญเอาไว้ทั้งหมด

ลำดับกษัติรย์พม่าในเล่มนี้ดูมึนๆ งงๆ หน่อยค่ะ เพราะคุณชายแกเล่าด้วยภาษาปาก
เราก็ลองไปเสิร์ชหาเรื่องอ่านสนุกๆ เจอเว็บของอาจารย์ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ค่ะ
แต่ลำดับกษัตริย์พม่าของหม่อมคึกฤทธิ์ ไม่ตรงกับของอาจารย์ธรณ์ นะคะ อันนี้ก็งงไปอีกรอบ
อาจารย์ธรณ์ก็อ่านมึนไม่แพ้ของคุณชายเลย (ถ้าคลิกไปอ่านก็โปรดมึนเป็นเพื่อนกันนะคะ)
พระเจ้ามังระ ก็ไม่ใช่พระเจ้าอลองพระด้วย พระเจ้ามังระเป็นโอรสของพระเจ้าอลองพระต่างหาก?

อืม .. มึนๆ แต่ก็เล่าต่อ
ไม่เน้นความจริงในประวัติศาสตร์ แต่เน้นเชิงเกร็ดประวัติศาสตร์ก็แล้วกันค่ะ

ในรัชสมัยของพระเจ้ามินดุง เมื่อพม่าเสียเมืองให้แก่อังกฤษครั้งที่ 2
ในครั้งนี้ พม่าต้องยอมเสียเมืองย่างกุ้ง อันเป็นเมืองท่าสำคัญ
และยังเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ชเวดากอง อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชนชาวพม่า
ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ไปจนถึงประชาชน
แถมอังกฤษยังปกครองด้วยดี เป็นธรรมมากกว่ากษัตริย์พม่าในรัชกาลก่อนๆ เองเสียอีก
ย่างกุ้งจึงกลายเป็นเมืองท่าที่เจริญมากๆ ในยุคนั้น

เท่าที่อ่าน ในรัชสมัยของพระเจ้ามินดุงนี้ พม่าก็ค่อนข้างอยู่เย็นเป็นสุขนะคะ
พระเจ้ามิงดุงก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงธรรม (ยกเว้นตอนสร้างเมืองใหม่แล้วเกนคนมาฝั่งนี่แหละ)
ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระเจ้าพะคันหมิ่น (ซึ่งคุณชายเล่าว่าทรงเสียพระจริต)
ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา หลังจากย้ายเมืองหลวง (จากกรุงอมรปุระมาที่มัณฑะเล)
ก็ทรงสร้างวัด บูรณะวัดมากมาย (ซึ่งก็ใช้เงินเป็นจำนวนมาก)

พระเจ้ามินดุงนี้มีมเหสีอยู่หลายสิบพระองค์ แต่อัครมเหสีมีเพียงคนเดียว คือพระนางนันมะดอ
พระนางมะนันดอนั้นทรงมีอัธยาศัยมักน้อย โปรดทรงธรรมและบำเพ็ญราชกุศล
ผู้ที่พลิกประวัติศาสตร์ช่วงท้ายราชวงศ์พม่านี้จึงไปตกอยู่ที่ตำแหน่งมเหสีรอง .. พระนางอเลนันดอ
ถ้าใครเคยดูละครเรื่องเพลิงพระนาง (เมื่อประมาณ พ.ศ. 2539)
ละครซึ่งเขียนบทขึ้นจากพม่าเสียเมืองเล่มนี้
พระนางอเลนันดอก็คือเจ้านางอนัญทิพย์ แสดงโดย คุณเหมียว ชไมพร จตุรภุช

พระนางอเลนันดอนี่เองได้เป็นต้นกำเนิดของพระนางศุภยาลัต
มเหสีลือนามแห่งกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า
เป็นความร้ายกาจ ความเหี้ยมโหดที่ถ่ายทอดจากแม่มาสู่ลูกแบบเต็มๆ

ด้วยความที่พระเจ้ามินดุงทรงมีมเหสีมากมายนี่เอง ทำให้ทรงมีโอรสมากมายไปด้วย
ทีนี้ก็ปัญหาเกิด .. โอรสองค์ใดเล่าที่จะครองตำแหน่งอุปราช

ราชการงานเมืองของพม่าในยุคนั้นเหมือนดังคลื่นใต้น้ำ
ต่างฝ่ายต่างรอเวลา .. มีการจับกลุ่มกันทำการกบฏ (ซึ่งบางตำราก็ว่าโดนยุยง บางตำรำก็ว่าเข้าใจผิด)
พระเจ้ามินดุงเองจึงไม่ทรงกล้าตั้งใครขึ้นเป็นอุปราช
เพราะนั่นหมายถึงทรงชี้เป้าให้โอรสองค์อื่นฆ่าว่าที่กษัตริย์พระองค์นั้นอย่างแน่นอน
ปัญหาที่ยังไม่เกิดในตอนนั้นจึงถูกสะสม และไปแตกโพละเอาในตอนปลายแผ่นดินของพระเจ้ามินดุง
เมื่อไม่มีรัชทายาท เมื่อสิ้นพระเจ้ามินดุง แผ่นดินก็คงพร้อมจะเกิดจลาจล

แม้เหตุการณ์ทั้งหลายจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของพม่า
แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่า จุดจบที่ว่านี้จะร้ายแรงไปได้ถึงขนาดนั้น
ด้วยฤทธิ์ของพระนางอเลนันดอ (และพระธิดา) …
ทำให้จลาจลที่ว่านั้นไม่ได้เกิด แต่เกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงแทน!!
(เราคิดเอาเองว่า) ถึงแม้พระเจ้ามินดุงจะทรงตั้งรัชทายาทเอาไว้ เหตุการณ์นี้ก็คงยังเกิดขึ้นอยู่ดี

พระนางอเลนันดอ มเหสีรองในขณะนั้น ค่อยๆ สร้างฐานอำนาจ
แผ่ขยายอำนาจออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีผู้ใดทัดทาน
พระนางได้ทรงทำการเกินหน้าเกินตาอัครมเหสีและพระเจ้ามินดุงอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับโทษใด
ทำให้นางยิ่งเหิมเกริม และค่อยๆ กำอำนาจไว้ในมือทั้งหมด เหนือพระเจ้ามินดุงอีกที

ถึงพระนางอเลนันดอจะมักใหญ่ใฝ่สูงเพียงใด
แต่ถึงกระนั้น พระนางก็ไม่มีพระราชโอรส มีแต่พระราชธิดา
พระราชธิดาที่สำคัญ และถูกกล่าวถึงบ่อยๆ มี 2 องค์
คือพระนางศุภคยี พระธิดาองค์โต ซึ่งทรงมีพระอัชฌาสัยรักสงบ จึงไม่เป็นที่โปรดปรานเท่าไหร่
กับพระนางศุภยาลัต  องค์นี้ทรงมีพระรูปโฉมงดงาม และทรงมีพระนิสัยเหมือนพระมารดาเปี๊ยบ
นางอเลนันดอจึงโปรด และส่งเสริมพระธิดาพระองค์นี้เป็นอย่างมาก

มาเล่าถึงฝ่าย (ว่าที่) กษัตริย์องค์ต่อไปกันบ้าง
อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าพระเจ้ามินดุงนั้นมีมเหสีมาก มีพระราชโอรสธิดาก็มาก
หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือพระเจ้าสีป่อ ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าฟ้าไทยใหญ่จากเมืองสีป่อ
(เมืองเดียวกับฉากในเรื่องเกนรี มายรี นั้นแล)
พระเจ้าสีป่อทรงเป็นโอรสปลายแถว ไม่ได้ต่อคิวเป็นพระอุปราชกับใครเขาหรอก
และก็ทรงเจียมตน ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พำนักในวัดหลวงในพระราชวัง
แต่พระองค์ก็ทรงฉลาดเฉลียว สามารถสอบวัดผลในทางธรรมได้ผลเป็นอย่างดี
เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระเจ้ามินดุงซึ่งยึดมั่นในพระศาสนา

พระนางศุภยาลัตเอง เมื่อเจริญพรรษา
ก็มีโอกาสได้ติดตามพระราชชนกชนนีไปบำเพ็ญกุศลที่วัดหลวงบ่อยครั้ง
ได้พบกับพระเจ้าสีป่อก็มีพระทัยประดิพัทธ์เสน่หา จึงได้มาทำบุญกับพระเจ้าสีป่อที่วัดบ่อยๆ
พระเจ้าสีป่อเองทรงเป็นคนอ่อน พระนางอเลนันดอจึงเห็นควรสนับสนุน
เพราะถ้าพระเจ้าสีป่อเป็นกษัตริย์ พระเจ้าสีป่อก็จะทรงอยู่ใต้อำนาจของพระนางศุภยาลัต
และนางอเลนันดอเองก็จะควบคุมทั้งพระธิดา และพระชามาดา (ลูกเขย) ได้โดยง่าย
แล้วแผนการก็ค่อยๆ เริ่มต้นขึ้น

ในตอนท้ายรัชกาลของพระเจ้ามินดุงนั้น พระองค์ทรงประชวรหนัก
ในตอนนั้น อำนาจของนางอเลนันดอก็แผ่ขยายครอบคลุมไปทั้งแผ่นดินแล้ว
พระเจ้ามินดุจึงทรงเป็นห่วงเหล่าโอรสธิดาองค์อื่นๆ ของพระองค์
ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้แบ่งพระราชวงศ์ออกเป็นหลายฝ่าย ส่งไปครองเมืองเล็กน้อยโดยรอบ
ทั้งนี้เพื่อให้หนีพ้นอำนาจของนางอเลนันดอ .. แต่นั่นก็สายเกินไปเสียแล้ว
นางอเลนันดอได้จับพระราชวงศ์ทั้งหมดขังไว้ และปิดข่าวไม่ให้พระเจ้ามินดุงทรงทราบ
หลังจากนั้นก็ทำการประชุมเสนา (ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของนางอเลนันดออีกที)
ทำการงุบงิบตั้งพระเจ้าสีป่อขึ้นเป็นรัชทายาท
ไม่นานต่อจากนั้นพระเจ้ามินดุงก็เสด็จสวรรคต
เหล่าเสนาก็ไปอัญเชิญพระเจ้าสีป่อออกจากสมณเพศขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปทันที

จะว่าแปลกก็แปลก ไม่แปลกก็ไม่แปลก
ที่่พระเจ้าสีป่อนั้นทรงผนวชอยู่เป็นเวลานาน สอบไล่ก็ก็ผลอันดี
แต่เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ กลับไม่ได้ใช้ธรรมะในการปกครอง
เป็นไปได้ว่าได้อำนาจมาโดยไม่ชอบธรรม แถมยังแวดล้อมไปด้วยคนพาล คนโลภ
แผ่นดินของพระเจ้าสีป่อจึงเป็นอีกรัชกาลอันเลวร้ายของประเทศพม่า

เมื่อพระเจ้าสีป่อขึ้นเป็นกษัตริย์ พระนางอเลนันดอและพระนางศุภยาลัตก็ยังรู้สึกไม่มั่นคงพอ
ด้วยว่ายังมีเจ้านายในตรุที่ถูกคุมขังเอาไว้อีกมากมาย
เจ้าหลายหลายพระองค์ในนั้นก็ยังมีเส้นสาย มีขุนนางบางคนที่จงรักภักดี
แผนการฆ่าล้างราชวงศ์จึงได้เกิดขึ้น

กรุงมัณฑะเลย์ในเวลานั้น มีพ่อค้าและข้าราชการฝรั่งอยู่ปะปนอยู่ไม่น้อย
และฝรั่งก็เป็นเช่นฝรั่ง คือชอบคิดว่าตนเองมีสิทธิมีเสียงเหนือแผ่นดินคนอื่น
เมื่อเกิดสิ่งใดอันไม่ชอบธรรม (ในความเห็นของตน) ก็ชอบเข้ามาตัดสินโดยที่เจ้าบ้านไม่ได้ร้องขอ
ดังนั้น ถ้าพระเจ้าสีป่อ พระนางอเลนันดอ และพระนางศุภยาลัตจะทำการอันใด
ก็เกรงว่าฝรั่งจะเข้ามาจุ้น และหาเรื่องยึดบ้านยึดเมืองตนอีก
สองพระนางจึงได้เริ่มต้นวางแผน (บ้างว่าเป็นแผนของนางศุภยาลัต บ้างว่าเป็นแผนของนางอเลนันดอ)
จัดงานรื่นเริงเฉลิมฉลองเป็นฉากหน้า และทำการสำเร็จโทษหมู่เจ้านายที่ถูกจองจำอยู่เบื้องหลัง
เป็นอีกหนึ่งฉากสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์พม่าที่ถูกเล่าขานต่อกันไปไม่รู้จบ

พระเจ้าสีป่อกับนางศุภยาลัตนั้นได้มีโอรสร่วมกันหนึ่งพระองค์
แต่ก็ทรงเป็นไข้ทรพิษ (สิ้น) ไปเมื่อพระชันษายังน้อย
ต่อมา พระนางศุภยาลัตก็ทรงมีพระธิดาอีก 2 พระองค์ แต่ก็ป่วยด้วยโรคไข้ทรพิษ (สิ้น) ไปเช่นกัน
คุณชายผู้เขียนกล่าวไว้ว่าเป็นเวรกรรมของทั้งสองพระองค์ที่ได้ร่วมกันก่อนี่เอง
เวรกรรมของพ่อแม่จึงตกมายังลูกเช่นคำโบราณว่า

ในรัชกาลของกษัตริย์พระองค์นี้ พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตทรงใช้เงินเป็นเบี้ย
ซื้อหาเพชรนิลจินดา และของฝรั่งแปลกๆ แพงๆ
เมื่อเงินหมด ก็เก็บภาษีเพิ่ม ตั้งกองสลากเปิดให้ประชาชนเล่นหวยโดยมีกษัตริย์เป็นเจ้ามือ
ประเทศถูกมอมเมา ประชาชนยากจน เหล่าขุนนางก็คอรัปชั่น ประชาชนก็จี้ปล้นลักขโมย
ท้ายที่สุดเงินก็ยังไม่พอถลุง พระองค์จึงทรงเปิดให้ฝรั่งเข้ามารับสัมปทานกิจกรรมป่าไม้และเหมืองแร่ในประเทศ

การเปิดบ้านให้ฝรั่งเข้ามารับสัมปทานต่างๆ ในประเทศนี้เอง
ก็เป็นหนึ่งในชนวนสำคัญที่ทำให้พม่ารบกับอังกฤษ
แรกเริ่มเดิมที กิจการสัมปทานต่างๆ นั้นก็ไปด้วยดีอยู่หรอก
แต่ต่อมาพม่าก็เกิดมีกรณีพิพาทเรื่องการทำบัญชีหลอกเพื่อหลบเลี่ยงภาษี (คดีนี้มันช่างคลาสสิคจริงๆ)
ของบริษัทบอมเบย์ (ซึ่งรับสัมปทานป่าไม้ในประเทศพม่า)
กรณีพิพาทในครั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้เจาะจงหาผู้ผิด
อังกฤษอาจเลี่ยงภาษีจริง หรือพระเจ้าสีป่ออาจจะทรงอยากได้เงินเพิ่มขึ้นจึงกุเรื่องขึ้นมา
แต่ท้ายที่สุด คดีนี้ก็เป็นบ่อเกิดของสงครามสำคัญอันทำให้พม่าเสียกรุงแก่อังกฤษในตอนจบ

คุณชายคึกฤทธิ์ไม่ได้ลงอ้างอิงที่มาเอาไว้ แต่เดาๆ เอาว่าน่าจะเป็นการสรุปความจากบันทึกของอังกฤษอีกที
ค้นไปค้นมา เราเลยไปเจอกระทู้ที่เขาคุยกันในมุมของชาวพม่าดูบ้าง อ่านสนุกไปอีกแบบค่ะ

เกร็ดประวัติตอนท้ายและจากบางเว็บไซต์ ได้บอกเล่าถึงวิถีชีวิตของพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต
รวมไปถึงพระนางอเลนันดอ พระราชชนนีของพระนางศุภยาลัต
อันเป็นเรื่องเล่าชวนให้เวทนา (และอื่นๆ)
สิ่งที่กษัตริย์ก่อ กษัตริย์ได้รับนั้นสมควรอยู่
แต่ท้ายที่สุด ประชนชนในประเทศก็ต้องมาร่วมรับเคราะห์กรรม
ทำให้ประเทศหยุดพัฒนาไปหลายสิบปีอย่างน่าเสียดาย
ซ้ำยังเกิดเหตุการณ์ยุ่งเหยิงต่อมาอีกหลายเรื่อง เพราะเริ่มต้นด้วยรากฐานอันปรักหักพังนั่นเอง
อ่านนิยาย แล้วย้อนดูตัวได้ดังนี้ ..

Comments are closed.