อ่านแล้วเล่า

ทวิภพ

85-1 ทวิภพ

เรื่อง ทวิภพ
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา 380 บาท (2 เล่มจบ)

การหยิบนิยายที่อ่านมาเป็นสิบๆ รอบ อ่านจนขึ้นใจในบทสนทนาในเรื่องแล้วมาเล่านั้นเป็นเรื่องยาก
จะบอกจะเล่าอะไรก็ขาดความสดใหม่
ยิ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้เรื่องราวมาแล้วเป็นอย่างดี ยิ่งไม่รู้จะเล่าอะไร
แต่ทวิภพ ก็ยังเป็นนิยายที่น่าพูดถึงอยู่ดี

85-6 ทวิภพ

เรื่องราวบางอย่างที่เราเรียงรู้ลำดับเหตุการณ์จนเจนใจ
บางทีก็ทำให้เราลืมแก่นแกนสำคัญของเรื่องที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ
การหยิบมาอ่านซ้ำ และการได้รับรู้แก่นแกนนั้นอีกครั้ง ได้ซาบซึ้งอีกครั้ง ก็สร้างอรรถรสดีไม่น้อย
(ถ้าเป็นนางเอกเรื่อง 50 first date ผู้ที่ความจำเสื่อมทุกครั้งที่ลืมตาตื่นขึ้นในเช้าวันใหม่ก็คงจะดี
จะเขียนโน้ตสั่งให้ตัวเองอ่านทวิภพใหม่มันทุกวันเลย ;P)

85-2 ทวิภพ

85-3 ทวิภพ

85-4 ทวิภพ

สำหรับทวิภพเล่มนี้ .. พล็อต จังหวะจะโคน การดำเนินเรื่อง อารมณ์ขัน
และการสอดแทรกประวัติศาสตร์เข้ามานั้น ทำได้อย่างกลมกล่อม ลงตัว
โดยเฉพาะในช่วงของประวัติศาสตร์ตอนที่เราต้องยอมสูญเสียดินแดนบางส่วน เพื่อปกป้องประเทศเอาไว้นั้น
ทมยันตีเขียนได้น่าตื้นตัน และรู้สึกได้ว่าคนที่ทำดีที่สุดแล้ว แต่ยังต้องยอมเสียในเวลานั้น เสียด้วยความรู้สึกเช่นไร

การตัดสินคนยุคก่อนด้วยบรรทัดฐานของคนยุคเราอย่างที่มณีจันทร์มองนั้น
เป็นสิ่งที่คนยุคนี้ทำกันบ่อยๆ เห็นได้ตามเฟสบุ๊คทั่วไป ลำเลิก ทวงถามกระทั่งบรรพบุรุษในสิ่งที่ล่วงมาแล้ว
ตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงไม่ทำอย่างนั้น ทำไมถึงไม่ทำอย่างนี้ ถ้าเป็นเรานะ …”

85-5 ทวิภพ

ทมยันตีจับคำพูดเหล่านั้นใส่ปากมณีจันทร์ เป็นตัวแทนคนเช่นมนุษย์ยุคเรา
(แม้จะเขียนมาก่อนยุคเฟสบุ๊คระบาดมาหลายสิบปี แต่ประเด็นนี้ก็ไม่เคยล้าสมัย)
ผู้เป็นบิดาของมณีจันทร์ต่างหากที่มองการณ์ไกล เข้าใจความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์
ที่ไม่ว่ายุคสมัยใด คนไทยก็ทำดีอย่างถึงที่สุดแล้ว ทำอย่างสุดความสามารถ
ทมยันตีตอบคำถามของเมณี่และคนอ่านด้วยการจับเธอย้อนอดีตเข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์เสียเลย
เพื่อให้เธอลงมือทำ เพื่อให้เธอเข้าใจ และเพื่อให้เราเข้าใจ ..

85-8 ทวิภพ

เรารู้ๆ กันอยู่ว่าคนไทยไม่เต็มใจเสียดินแดนฝั่งชายแดนตราดให้กับฝรั่งเศส
หากแต่โดนบีบบังคับด้วยอำนาจทางทหารที่เหนือกว่า
แต่ทมยันตีทำให้เรารู้สึกว่านอกเหนือความไม่เต็มใจนั้น ยังมีความขมขื่นเช่นไร เกลียดชังเช่นไร
เราได้รู้ว่าเราทำอย่างดีที่สุด ที่จะสูญเสียให้น้อยที่สุด เพื่อรักษาดินแดนส่วนใหญ่เอาไว้ให้แก่ลูกหลาน
เพื่อเอกราชและศักดิ์ศรี เพื่อความภาคภูมิใจของชนในชาติ
เรื่องที่เราพูดกันบ่อย แต่ไม่ค่อยจะรู้สึกกัน

 85-7 ทวิภพ  85-9 ทวิภพ

85-12 ทวิภพ

ตอนที่อ่านผ่านตอนคดีของพระยอดเมืองขวาง ทมยันเล่าที่มาที่ไปเอาไว้คร่าวๆ
และเราไปเปิดหนังสือเล่มอื่นอ่านเพิ่มเติมอีกหน่อย
ตอนที่ฝรั่งเศสพยายามจะบุกชายแดนไทยเวียดนามในขณะนั้น แต่พระยอดเมืองขวางต้านทานเอาไว้ได้
ทำให้ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง (เพียงเล็กน้อย)
ในครั้งนั้น ฝรั่งเศสบังคับให้เราดำเนินคดีกับพระยอดเมืองขวาง
ในหนแรก พระยอดเมืองขวางชนะคดี ทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจ
และรื้อคดีขึ้นใหม่อีกครั้ง แทรกคณะผู้พิพากษาชาวฝรั่งเศสเข้ามาเกินกึ่งหนึ่ง
ทำให้พระยอดเมืองขวางต้องแพ้คดีไปในที่สุด
เหตุการณ์ตอนนี้ อ่านแล้วนึกถึงพระยาบริรักษ์ พ่อของพ่อเหม แห่งข้าบดินทร์ เลย
สถานการณ์คล้ายกันเลย ยอมรับโทษทัณฑ์ที่ตนไม่ผิด
เพื่อให้ประเทศชาติสงบ และฝรั่งเศสไม่สามารถหาเรื่องเข้าตีเรา

85-10 ทวิภพ

แม้เนื้อหาประวัติศาสตร์ในเล่มจะเข้มข้น
แต่เหตุการณ์อื่นๆ รวมทั้งความหวานจิกหมอนก็ไม่น้อยหน้าใคร
เจ้าคุณอัครเทพวรากร เป็นหนึ่งพระเอกในดวงใจนักอ่านมาหลายยุคหลายสมัย
ทมยันตีถ่ายทอดเรื่องราวทั้งสาระและบันเทิงได้ครบถ้วน ลงตัว และสนุกที่สุดค่ะ
ไม่แปลกเลยที่ทวิภพจะเป็นนิยายในดวงใจ ติดอันดับ 1 ใน 10 เล่มในดวงใจในลำดับต้นๆ (ของเรา ^^)

85-11 ทวิภพ

เราอาจจะเคยรู้ เคยดูทวิภพกันมาหลายเวอร์ชั่นแล้ว .. แต่ถ้ายังไม่เคยอ่าน .. เชยนะคะ ;P

***********************************

ทวิภพ(2 เล่มจบ)ทวิภพ by ทมยันตี

My rating: 5 of 5 stars

เรามักหาประวัติศาสตร์สนุกๆ อ่านได้จากในนิยาย
ทวิภพก็เป็นอีกเรื่อหนึ่ง

ประวัติศาสตร์ ที่ผสมผสานจินตนาการบรรเจิด
เรื่องราวที่เราๆ ท่านๆ ต่างก็เคยคิดฝัน .. การย้อนเข้าไปในอดีตเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด
มณีจันทร์เองก็เฝ้าคิดมาตลอด .. หากเธอมีโอกาสย้อนกลับไปในอดีต
เธอจะทำให้ดีกว่าที่บรรพบุรุษของพวกเราเคยทำ
แต่ใครเล่าจะรู้ .. คนในแต่ละยุคสมัย ก็ล้วนแต่ทำดีสุดความสามารถแล้ว
ควรฤา .. ที่จะใช้บรรทัดฐานของคนในยุคปัจจุบันไปตัดสินอดีต

ทวิภพให้แง่คิดแก่คนที่อยู่ในประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
เป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่างพอเหมาะพอเจาะระหว่างประวัติศาสตร์และจินตนาการ
ทวิภพจึงควรค่าแก่การกลายเป็นหนึ่งในนิยายอมตะอีกเล่ม

 

Comments are closed.