อ่านแล้วเล่า

The Ghosts of Tokyo

เรื่อง The Ghosts of Tokyo
ความฝัน แฟนตาซี และเงาของโตเกียว

ผู้แต่ง รติพร ชัยปิยะพร
สำนักพิมพ์ สยามปริทัศน์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789743159099

The Ghosts of Tokyo เล่มนี้เป็นแนวสารคดี
ไม่ได้เป็นหนังสือเล่าประสบการณ์ชีวิตด้วยสุ้มเสียงบันเทิง
เหมือนตอนอ่าน ดื่มเหล้าเคล้าชาตรีกับแวมไพร์ในคาบูกิโจ ทั้งสองเล่ม
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ไม่ใช่หนังสือที่น่าเบื่อ
เราชอบการเรียงร้อยเรื่องราวของแต่ละสถานที่ แต่ละเรื่องเล่า
ตามลำดับเวลาวิวัฒนาการของวัฒนธรรมในญี่ปุ่น

เราเคยได้เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น ผ่านทางการ์ตูนที่อ่าน
ไล่เรียงจากวัยประถม มัธยม และวัยมหาวิทยาลัย
ความเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นการแต่งตัว
ความเชื่อ ค่านิยม และการดำเนินชีวิต ฯลฯ
เราเห็น เราอ่านเรื่องราว
ขณะเดียวกันก็ซึมซับวัฒนธรรมต่างๆ ของพวกเขามาด้วย
มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักญี่ปุ่น แต่ไม่เคยรู้ที่มาที่ไป

The Ghosts of Tokyo คือหนังสือที่ช่วยเราจัดหมวดหมู่
ตบแต่งรากฐานดั้งเดิมที่สั่งสมสะเปะสะปะมาจากวัยเยาว์
ให้เข้าใจ ให้เห็นภาพรวม

เราได้ทำความเข้าใจวัฒนธรรมดนตรีของญี่ปุ่น
ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ที่กระแสเพลงฝั่งตะวันตกแพร่เข้ามา
และจากวัฒนธรรมดนตรี มันก็นำพาไปสู่การแต่งตัวอย่างอิสระ
ที่แทบจะมาพร้อมกันกับชุดความคิดชุดใหม่
เราได้เห็นช่วงเวลาถือกำเนิดของวัฒนธรรมใหม่ๆ ของญี่ปุ่นหลายอย่าง
อ่านๆ ไป เราต้องอินกับอะไรสักอย่าง ที่มันจมอยู่ในความทรงจำก่อนเก่า
แล้วถูกสะกิดขึ้นมาด้วยบางถ้อยคำของบทสัมภาษณ์
หรือบทบรรยายของผู้เขียน ที่เล่าผ่านหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้โยงใยเราจากวัฒนธรรมหนึ่ง
ไปยังอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ต่อไปเรื่อยๆ
ผู้เขียนเปิดเปลือยมุมมืดของญี่ปุ่น

ที่บางเรื่องก็เป็นนามธรรมอยู่ภายในจิตใจ
และกับบางเรื่อง ก็เห็นเป็นรูปธรรมตำตา

สังคมญี่ปุ่น เหมือนสังคมที่สั่งสมความป่วยไข้ต่างๆ นานา
เอาไว้มาแต่ดึกดำบรรพ์
พวกเขาบิดเบี้ยว ท้อแท้ หงอยเหงา เปล่าดาย
วรรณกรรมญี่ปุ่นมากมายก็ตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้เห็น

ตอนที่อ่านเจอว่า
การถือกำเนิดของวัฒนธรรมคาวาอิ และโลลิคอน
มีที่มาจากปมความรู้สึกร่วมของชนชาติหลังสงคราม
และมันพัฒนาไปอย่างซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมา
กลายเป็นความญี่ปุ่นที่ติดตา
กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ไหลซึมอยู่ในการรับรู้ของเรามาช้านาน
เบื้องหลังมันช่างดาร์ก คนญี่ปุ่นมันช่างแบกรับ
ที่มันดาร์กเพราะพวกเขากำลังแบกรับมัน
อยู่ในคราบของคนธรรมดาที่ไม่เป็นไร

ในช่วงหนึ่งของเล่ม เราได้เห็นภาพของบาร์ zin และเห็นคุณจิน
ในรูปแบบที่ไม่เชิงฟิกชั่นแบบที่อ่านเจอใน ดื่มเหล้าเคล้าชาตรีกับแวมไพร์ในคาบูกิโจ
บาร์ zin เป็นหนึ่งในตัวเอกของเรื่องเล่าในเล่มนี้
ไม่ใช่ผู้คนที่เข้ามาเป็นตัวละคร เคลื่อนไหว พูดคุย กินดื่ม
นอกจากนี้ เรายังได้อ่านเรื่องราวของบาร์โฮส ในแง่มุมที่จริงจัง ไม่ฟรุ้งฟริ้ง

ทุกเรื่องที่ผู้เขียนเลือกหยิบมาเล่า
มันมีแง่มุมของมันให้เราเลือกมอง เลือกทำความเข้าใจ ..
เข้าใจทั้งในแง่มุมปัจจุบัน และรากเหง้าต้นกำเนิด

อ่าน รับรู้ ตกใจ แล้วเข้าใจ คือกระบวนของเราที่มีต่อหนังสือเล่มนี้
ผู้เขียนให้ข้อมูลที่ลงลึก และเรียบเรียงมาเล่าได้อรรถรส
นำเสนอญี่ปุ่นในมุมมองที่เราไม่เคยมองมาก่อน
ในขณะเดียวกัน ก็ให้ข้อมูลเราเป็นภาพกว้าง ไม่ชี้นำให้ตัดสิน
บนความแปลกประหลาดทั้งปวงในเล่มนั้น
จึงไม่ยากที่จะเปิดใจ และทำความเข้าใจ

ทำความรู้จักญี่ปุ่น ในมุมที่เราไม่เคยรู้จัก
อ่าน รับรู้ ตกใจ แล้วเข้าใจ .. ไปด้วยกันค่ะ

Comments are closed.