อ่านแล้วเล่า

ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เรื่อง ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ผู้แต่ง ภาณุ ตรัยเวช
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740214748

สาธารณรัฐไวมาร์ คือประเทศเยอรมันนี ในช่วงเวลาระหว่างหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
และก่อนที่ฮิตเลอร์จะกลายเป็นผู้นำประเทศ
เป็นช่วงระยะเวลาเพียง 14 ปี ที่เยอรมันเป็นประเทศประชาธิปไตย
ที่มีความสับสนอลหม่าน มีทั้งพรรคประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์
และผู้คนอันแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย กันออกไปไม่รู้จบ

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าถึงฮิตเลอร์เป็นหลัก
(มีเพียงตอนต้นนิดหน่อย กับอีกครึ่งหลังของบทสุดท้าย)
และไม่ได้เรียงตามไทม์ไลน์ไปตลอดทั้งเล่ม

หนังสือถูกแบ่งเป็นส่วนๆ ด้วยผู้คนที่มีบทบาทต่างๆ ในสังคม
มีความเชื่อ มีแนวทางทางการเมืองที่แตกต่างกันไป
ทั้งนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์ นักดนตรี นักกีฬา 
นักคิด นักเขียน แม้กระทั่งอาชญากร ฯลฯ

ในฐานะของคนไม่มีพื้นฐานมาก่อน
เราไม่สามารถเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด
เมื่ออ่านจบ เราตอบไม่ได้ว่า
สุดท้ายแล้ว ฮิตเลอร์ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำเยอรมันได้อย่างไร
เราเห็นแต่ภาพเหตุการณ์เป็นเพียงส่วนๆ เป็นช่วงๆ
ไม่สามารถเล่าเรื่องซ้ำตั้งแต่ต้นจนจบได้เลย
ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ไม่ได้เป็นหนังสืออ่านง่าย อ่านสนุก สำหรับมือใหม่
เราจะต้องมีพื้นฐานมาบ้าง, อ่านไปจดช็อตโน้ตไป
หรืออาจจะต้องอ่านมันซ้ำใหม่อีกรอบเท่านั้น

ในตอนต้น ผู้เขียนปูพื้นฐานให้กับคนอ่าน
ด้วยเรื่องราวแต่หนหลัง ก่อนที่เยอรมันจะกลายเป็นสาธารณรัฐไวมาร์
แนะนำผู้คนชื่อแปลกๆ ประหลาดๆ เป็นภาษาเยอรมันเต็มไปหมด

หลังจากปูพื้นด้วยเรื่องเล่าที่วุ่นวาย ยุ่งเหยิง (ต่อการเข้าใจ)
ผู้เขียนก็ค่อยๆ หยิบยกสังคมแต่ละมุม ภายใน 14 ปีของไวมาร์
ขึ้นมาแสดงให้เราได้เห็น ว่าในขณะนั้น ใครกำลังทำอะไรอยู่
บุคคลจากวงการต่างๆ ถูกนำมาเป็นผู้เล่าเรื่องเป็นรายคน
เริ่มต้นจากตัวฮิตเลอร์เอง, ออตโต ฟอน บิสมาร์ค, ฟรีดริคช์ เอแบร์ต,
ไอน์สไตน์, ฟรันซ์ คาฟกา, ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ฯลฯ

เรื่องมาเข้มข้นขึ้นก็ในตอนที่ฮิตเลอร์ปรากฏตัว
หรือพอจะมีคนที่เรารู้จักโผล่เข้ามาในเล่ม

ผู้เขียนเล่าเรื่องรวดเร็วเร้าอารมณ์ในจังหวะที่ควรเร้าอารมณ์
ให้ภาพและรสคล้ายการอ่านนวนิยาย
ดังเช่นที่คำนำได้กล่าวไว้แหละ
แต่เรื่องก็ไม่ได้กระชับฉับไวไปตลอด
มีบางช่วงที่เนือย และมีบางช่วงที่พาลจะอ่านไม่รอด
เราผ่านมันไปได้ยากมาก และไม่ค่อยชอบมันเท่าไร
การเมืองการปกครองไม่ใช่ทางของเรา
ในฐานะของคนที่ไม่ได้เรียนทางนี้มา
เราต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะอ่านมัน
ชวนท้อมาก ไม่สามารถจะอ่านรวดเดียวได้

แม้เราจะอ่านอะไรหลายๆ อย่างได้ไม่เข้าใจถ่องแท้นัก
แต่ก็รู้สึกได้ถึงการเชื่อมโยงอะไรบางอย่าง
ระหว่างระบอบประชาธิปไตยแบบไวมาร์
กับระบอบการปกครองลักลั่นของบ้านเรา (ในยุคสมัยนี้)

เราไม่อาจบอกได้หรอก ว่าทุกคนควรอ่านหนังสือเล่มนี้
ในเมื่อเราเองยังไม่สนุกที่จะอ่านมันเลย
เพียงแต่ว่า หากคุณสนใจประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง
และความผันผวนของเยอรมันในระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2
หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์คุณได้
และถ้าคุณมีความรู้พื้นฐานอยู่สักหน่อย คุณน่าจะอ่านมันได้สนุกกว่าเรา 🙂

 

Comments are closed.