อ่านแล้วเล่า

ในคนมีปลา ในขามีครีบ

27 ในคนมีปลา ในขามีครีบ

เรื่อง ในคนมีปลา ในขามีครีบ
ผู้แต่ง นีล ชูบิน
ผู้แปล แทนไท ประเสริฐกุล
สำนักพิมพ์ WeLearn
ราคา 230 บาท

ในความคิดความเชื่อของเรา .. เราเชื่อว่า
หนังสือทุกเล่น นักเขียนทุกคน มีสไตล์การเล่าเรื่องเป็นของตัวเอง
ทุกๆ ครั้งที่เราเริ่มต้นหยิบหนังสือเล่มใหม่ขึ้นมาอ่าน
สิ่งที่ยากที่สุดก็คือขั้นตอนการเริ่มต้น
มันเป็นการเปิดเรื่อง โยงเราเข้าสู่เนื้อหาหลัก
พร้อมๆ กับการทำความรู้จักสำนวนของนักเขียนในเล่มที่เราไม่คุ้นเคย
เราต้องทำหัวว่างๆ พร้อมเปิดรับ รับรู้ทุกสิ่งอย่างที่ค่อยๆ ไหลลื่นเข้ามาในหัวเรา
หลังจากที่เราชินสำนวน มีเนื้อหาพื้นฐานแล้ว .. การอ่านต่อจากนั้นคือความสนุก
นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคยสำหรับคนที่ไม่ค่อยอ่านหนังสือ
นั่นจึงทำให้คนบางคน ไม่ชอบอ่าน

หนังสือเล่มนี้ ก็คล้ายๆ กัน การเริ่มต้นอ่าน มีข้อมูลอะไรต่ออะไรเยอะแยะเต็มไปหมด
ชื่อก็ชวนจำยาก ศัพท์แปลกๆ ฯลฯ
แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดในบทแรกเป็นเพียงแค่บทนำเรื่องเท่านั้น
เนื้อหาในบทต่อๆ มา ก็คือการนำแต่ละส่วนในบทแรกมาขยายความโดยละเอียดนั่นแหละ
จงอย่าตกใจ เวลาเห็นอะไรเยอะๆ เก็บไม่หมดไม่เป็นไร อ่านทวนหน้านั้นอีกครั้งก็ได้
พอดิ่งลึกจนลืมตัว .. ที่เหลือคือความสนุกของหนังสือเล่มนี้

ในฐานะที่ ในคนมีปลา ในขามีครีบ เล่มนี้ ไม่ใช่หนังสือที่แทนไทเขียนเอง
หากแต่เป็นหนังสือที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศอีกที
เพราะฉะนั้น สำนวนในการแปลของแทนไท ..
จึงไม่สามารถจะโลดโผนได้เท่ากับหนังสือเขียนเองอย่างสองเล่มก่อน
แต่ .. ถึงกระนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ยังคงใช้สำนวนที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคนเขียนเขียนด้วยภาษาง่ายๆ มาตั้งแต่แรกหรือเปล่า
แต่แทนไทเองน่าจะมีส่วนสำคัญในการเล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายอย่างนี้
(สังเกตได้จากสองเล่มแรกที่เพิ่งอ่านจบไป)

แม้เราจะไม่เฮฮาปาจิงโกะเท่าสองเล่มแรก
แต่ในหนังสือเล่มนี้เราจะได้เรียนรู้กระบวนการแห่งวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ผู้เขียนได้ตั้งโจทย์สำหรับการศึกษาค้นคว้าขึ้นมาข้อหนึ่ง
คือต้องการเสาะแสวงหาหลักฐานที่ยืนยันช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ..
ของสัตว์น้ำที่ยกพลขึ้นบกในสมัยแรก
สิ่งที่ยืนยันว่าบรรพบุรุษของเรา เคยอาศัยอยู่ในน้ำมาก่อน
และทำการขุดค้นหาฟอสซิลที่จะมายืนยันกระบวนการการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น

ในคนมีปลา ในขามีครีบ เป็นเรื่องเล่าของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ..
ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับซากฟอสซิลปลาโบราณ

ในการที่เราจะค้นลึกไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ เพื่อเสาะหาบรรพบุรุษของเราเองนั้น
เราต้องเริ่มต้นจากการขุดค้นหาซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์เสียก่อน
และก่อนที่เราจะเริ่มต้นการขุดค้น
ก็ต้องศึกษาหาแหล่งอันเหมาะสมแก่การเก็บรักษาฟอสซิลในธรรมชาติด้วย
ลักษณะหิน ลักษณะพื้นที่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ฯลฯ ที่เราจะได้พบกับบรรพบุรุษของเรา

การค้นพบอันน่าทึ่งบางอย่างที่ถูกเผยแพร่ออกมาไล่เลี่ยกับยุคที่ชาลส์ ดาร์วินแจ้งเกิดในวงการ
การค้นพบที่ว่านี้ คือความเหมือนกันของสิ่งที่เรียกว่าแขนขา ..
ของคนและสัตว์ต่างๆ ชนิด ที่ไม่ใกล้เคียงกันเลย อย่างเช่น คน กบ นก วาฬ ไดโนเสาร์ ฯลฯ
คิดถึงในยุคสมัยนั้น การค้นพบแบบนี้ช่างน่าทึ่ง ชวนตะลึงไม่น้อยทีเดียว
การค้นพบนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบสิ่งต่างๆ อีกมากมาย เกี่ยวกับบรรพบุรุษของเรา

จากฟอสซิล เชื่อมโยงมาสู่ความเชื่อมตัวของสัตว์โบราณกับตัวเราเอง
อวัยวะส่วนต่างๆ ที่ถูกพัฒนามาเป็นอวัยวะของเรา
หลายชิ้นส่วนมีความเกี่ยวโยงกันอย่างเห็นได้ชัด
ไปๆ มาๆ ชูบิน (ที่พากย์เสียงโดยแทนไท) ไม่ได้พาเราไปไกลเพียงแค่บรรพบุรุษปลาของเรา
แต่ยังย้อนไปไกลกว่านั้น โดยยกการค้นคว้าต่างๆ ที่จูงเราไปหาบรรพบุรุษยุคสัตว์เซลเดียวกันเลย

เราได้รู้ เห็น เข้าใจ กระบวนการการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์
การตั้งสมมติฐาน การทดสอบ ทดลองหาคำตอบมายืนยัน และการค้นพบอันน่าตื่นตาตื่นใจ
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ต่างจากการผลสรุปในหนังสือเรียน
มันสด ใหม่ ตื่นเต้น มีอารมณ์ร่วมไปกับพวกเขาเหล่านักวิทยาศาสตร์ด้วย
นี่คือความสนุกแบบหนังสือเล่มนี้

ร่างกายของคนเราจะเป็นเสมือนหีบจดหมายเหตุจากอดีตกาล
เมื่อเปิดออกดู เราจะพบบันทึกเรื่องราวจากช่วงเวลาสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ของโลก
รวมทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกหนแห่งทั้งในห้วงมหาสมุทร ลำน้ำ และป่าไพรดึกดำบรรพ์
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศสมัยโบราณ
ถูกสะท้อนอยู่ในโมเลกุลที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเซลล์ในการสร้างร่างกายของเรา
สภาพแวดล้อมของระบบลำธารในอดีต ..
คือสิ่งที่ปั้นแต่งโครงสร้างกายวิภาคพื้นฐานในแขนขาเราให้มีรูปร่างอย่างที่มันเป็นทุกวันนี้
การมองเห็นภาพเป็นสีและสัมผัสการดมกลิ่นแบบของเรา
ถูกหล่อหลอมโดยวิถีชีวิตในป่าและทุ่งหญ้าโบราณ
ผมสามารถยกตัวอย่างทำนองนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ ทว่าข้อสรุปก็คือ
ประวัติศาสตร์ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมรดกตกทอดที่อยู่ในตัวเรา
มันเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราในทุกวันนี้
และยังจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปในอนาคต ..

(จากหน้า 271 ในหนังสือ)

Comments are closed.