อ่านแล้วเล่า

เจ้าแม่

เรื่อง เจ้าแม่
ผู้เขียน อาจินต์ ปัญจพรรค์
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740215493

หลังจากที่เจ้าพ่อเจ้าเมืองถูกเขียนจบลงไปเมื่อราวสามสิบปีที่แล้ว
(เจ้าพ่อเจ้าเมืองถูกตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปี 2529 – 2531)
เจ้าแม่ก็คลอดตามมาเมื่อราวเจ็ดปีให้หลัง (เจ้าแม่เคยถูกตีพิมพ์ลงเป็นตอนๆ
ลงในนิตยสารกุลสตรี เริ่มต้นฉบับที่ 583 (น่าจะเป็นช่วงต้นปี พ.ศ. 2538)
แต่เพิ่งถูกรวมเล่มครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา)

เจ้าแม่ ถ่ายทอดชีวิตชนบทในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ว่าด้วยวิถีชีวิตและค่านิยมของผู้คนอันเป็นชาวบ้านในยุคนั้น
มีวัฒนธรรมบ้าง ซึ่งบางข้อในยุคนี้กลับมองว่าไม่มีวัฒนธรรม
แต่มันคือชีวิต คือธรรมชาติของผู้คน คืออดีตของพวกเรา
คือรากเหง้าอันค่อยแปรเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาตกกระทบ

คุณอาจินต์สอดแทรกวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน
อย่างการตกปลาช่อนด้วยวิธีหยกปลา
การพายเรือผีหลอกให้ปลากระโดดขึ้นเรือเอง
การทำขวัญข้าว
การฟังเพลงพื้นบ้านจากเด็กหนุ่มที่หลงรักสาวบ้านนา
เสียงร้องเพลงที่ลอยตามลมมาในยามค่ำคืน
เปรียบเหมือนการฟังวิทยุแก้เหงาของชาวกรุง ฯลฯ

วิถีวิธีที่คนเป็นเจ้าพ่อยุคหนึ่งปฏิบัติ
อาจเป็นคนละอย่างกับเจ้าพ่อที่เราคุ้นชินและนึกภาพเอาไว้ในใจ
แต่นายพรหมก็เป็นเจ้าพ่อแบบที่คนยุคนั้นเป็น
ใจกว้าง ใจใหญ่ ฝักใฝ่อบายมุข และมีผู้คนนับหน้าถือตา
แม้เมื่อตกต่ำและกลับเฟื่องฟู เขาก็ยังเลือกเดินวิถีเดิม
คงเป็นเรื่องของค่านิยมที่บังตาให้พาไปสู่หนทางอีหรอบเดิม
ยังดีที่ในตอนนี้ แม่ผาด พี่สาวที่พรหมรักดังแม่ได้มาดูแลและตักเตือน

หนทางชีวิตมนุษย์นั้นไม่มีข้อสรุป
จนกว่าเราจะเดินไปพบ หรือสร้างมันขึ้นมาเอง
ชีวิตของตัวละครต่างๆ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน
ตัวละครยังคงดำเนินไปตามครรลอง .. เป็นกรรมที่ได้ปฏิบัติไว้
เสียดายที่สุดท้ายแล้วงานเขียนชิ้นนี้ก็ยังไม่จบสนิท
คุณอาจินต์ก็ยังคงทิ้งเรื่องราวของครอบครัวนี้เอาไว้ให้เราขบคิดต่อไป
หรือบางทีอาจมีต้นฉบับตอนต่อเหล่านี้ตกหล่นอยู่ที่ไหนสักแห่ง
รอการค้นพบอย่างเงียบเชียบ เงียบงัน ..

Comments are closed.