อ่านแล้วเล่า

เกิดวังปารุสก์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

110-1 เกิดวังปารุสก์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

เรื่อง  เกิดวังปารุสก์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)
ผู้แต่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
สำนักพิมพ์ บรรณกิจ
ราคา ไม่ระบุราคา

รูปเล่มขนาดใหญ่ทำให้อ่านยากอยู่สักหน่อย
เล่มที่เรามีค่อนข้างเก่ามากแล้ว กระดาษเหลืองกรอบต้องเปิดอย่างระวัง
เป็นการอ่านหนังสือที่เมื่อยเอาการ แต่ก็คุ้มค่า
เพราะภายในเล่มเนื้อหาสนุก ชวนติดตาม
อ่านไปอ่านมา ลืมความลำบากจากหน้ากระดาษบางกรอบเลยค่ะ

เกิดวังปารุสก์ เล่มนี้ เล่าด้วยภาษาสละสลวย เล่าเรียงลำดับเหตุการณ์เข้าใจง่าย
ภาษาที่ใช้ แม้มีราชาศัพท์หรือพระนามเต็มอย่างเป็นทางการของพระประยูรญาติ
แต่ก็มีเพียงเท่าที่จำเป็น และกล่าวอ้างอิงไว้แต่เพียงครั้งแรกเท่านั้น
หลังจากนั้นจึงลดทอนลงให้อ่านง่าย
พร้อมทั้งอธิบายลำดับยศต่างๆ ด้วยภาษาที่กระชับ เข้าใจง่ายด้วย

ผู้เขียนทรงบรรยายให้เราเห็นภาพบรรยากาศ วิถีชีวิตของเจ้านายโบราณ
ทรงเล่าถึงความสุขสงบร่มเย็นพอประมาณ และมีความทุกข์เทียมเท่ามนุษย์เดินดินทั่วไป
บางครั้งอาจทุกข์มากกว่าด้วยซ้ำ ด้วยภาระหน้าที่และกรอบประเพณี

110-2 เกิดวังปารุสก์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

เนื้อหาภายในเล่ม เป็นอัตชีวประวัติที่อ่านสนุก
ทรงเล่าได้ละเอียดลออ เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสอดแทรกได้น่ารัก
เริ่มต้นตั้งแต่ครั้งความรักของพระชนกและพระชนนีของผู้เขียน
ต่อเนื่องมาถึงความหลังเมื่อครั้งที่ผู้เขียนทรงอยู่ในวัยเยาว์
วิถีชีวิตวัยเด็กในวังปารุสกวัน
และวังพญาไท ที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทร์ทราบรมราชินีนาถ (สมเด็จย่าของผู้เขียน)
การไปเที่ยวชนบทในสมัยนั้น, ชีวิตภายในโรงเรียนนายร้อย,
งานวัดเบญจมบพิตร และงานรื่นเริงฤดูหนาวที่สนามเสือป่า
ทรงบรรยายสถานที่สวยงาม บรรยากาศรื่นรมย์ ด้วยสายตาของผู้อยู่ในวัยเยาว์
ทรงบรรยายความสัมพันธ์กลมเกลียวในหมู่พระประยูรญาติ

110-3 เกิดวังปารุสก์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

เมื่อยังเยาว์ ผู้เขียนทรงเล่าถึงการเล่นแบบเด็กๆ หลายอย่าง
ที่ได้ประโยชน์ด้วย สนุกด้วย อย่างเช่น ..
ทรงตั้งกองทหารตะกั่วตัวจิ๋วๆ มีกรมหลวงพิษณุโลกฯ (พระชนก)
ผู้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกในขณะนั้น
เสด็จมาตรวจกองทหารตุ๊กตาตะกั่วของผู้เขียนอย่างจริงจัง
นับเป็นการเล่นสนุกที่มีประโยชน์บ่มเพาะความรักในอาชีพทหารตั้งแต่ยังเยาว์
อีกครั้งหนึ่ง หม่อมคัทริน (พระชนนี) ได้ตัดกระดาษรูปบ้านติดกับกระดาษแข็งแผ่นใหญ่
เรียงรายเป็นเมืองจำลอง ผู้เขียนทรงเล่นเมืองสมมติเลียนแบบดุสิตธานีของ ‘ทูลหม่อมลุง’
(พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6)
ทรงเล่นออกหนังสือพิมพ์รายวันโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดของจริง
ในตอนที่ออกเที่ยวหัวเมืองต่างๆ ก็ได้ทรงเรียนรู้จากการเที่ยวนั้น
ทั้งการเฝ้าดูภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด วัง และพระตำหนักต่างๆ
การได้นั่งฟังผู้ใหญ่คุยถึงข้อราชการบ้านเมือง หรือประวัติศาสตร์ประวัติตระกูล
หรือแม้แต่เรื่องเล่าทางวรรณคดี ทางศาสนา ฯลฯ
ล้วนแต่เป็นการเรียนรู้ที่ทั้งสนุกสนาน และทั้งมีประโยชน์สำหรับเด็กๆ ทั้งสิ้น

110-4 เกิดวังปารุสก์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)

เมื่อผู้เขียนเสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ
เราก็ได้ทราบรายละเอียดเส้นทางการเดินทางไปอังกฤษในยุคนั้น
ทราบลักษณะของเมืองใหญ่น้อยที่ทรงแวะพัก
ได้ทราบลักษณะของโรงเรียนมัธยมอังกฤษ ทั้งโรงเรียนต่างๆ โดยทั่วไป
และโรงเรียนแฮร์โรว์ที่ผู้เขียนได้ศึกษาเล่าเรียน
(โรงเรียนแฮร์โรว์นี้ เป็นโรงเรียนเดียวกันกับที่ –
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเคยศึกษาด้วย)
เราได้ทราบลักษณะของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่ผู้เขียนได้ทรงศึกษาต่อ
เข้าใจวิถีชีวิตของนักเรียนอังกฤษในโรงเรียนแฮร์โรว์
และเข้าใจกิจวัตรอันน่าสนุกของนิสิตเคมบริดจ์ (ตรีนิตี้ คอลเลจ)

ในท้ายเล่ม ผู้เขียนทรงกล่าวถึงกฎมนเทียรบาล ว่าด้วยเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ของไทย
เอาไว้คร่าวๆ เข้าใจง่าย ทั้งยังทรงอธิบายความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเอง
ที่มีต่อกฎนี้อย่างชัดเจน กระจ่างแจ้ง

การจบเล่มหนึ่ง เป็นการจบเล่มที่อิ่มเอมและทรมานมาก
เหตุเพราะผู้เขียนจบเรื่องเอาไว้ตอนที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี
และเราไม่มีเล่มสองอ่านต่อ!!
เห็นทีจะต้องหาซื้อรวมเล่มจนได้ ถึงเวลานั้นแล้วจะนำมาเล่าต่อนะคะ ^^”

หมายเหตุ : ปารุสกวัน เป็นชื่อหนึ่งในสี่สวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ค่ะ

Comments are closed.