อ่านแล้วเล่า, ไปเที่ยวกัน

อ่านเถิดหนา ตอนรักนักหนา

หลังวันวาเลนไทน์หนึ่งวัน
คนไม่รู้จักกันหนึ่งตู้รถไฟ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อไปอ่านหนังสือรักที่ค่ายเยาวชนเชียงดาวด้วยกัน
นี่คือกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยสำนัก the cloud ใช้ชื่อว่า อ่านเถิดหนา

ย้อนหลังไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา
the cloud เคยจัดทริป อ่านเถิดหนา มาแล้วครั้งหนึ่ง
แต่ในครั้งนั้น เวลาของเรายังไม่ลงตัว เลยต้องปล่อยให้มันผ่านไปอย่างเศร้าๆ
พร้อมทั้งภาวนาให้ the cloud จัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นมาอีกครั้งเถิด
ไม่นานเกินรอค่ะ หลังกิจกรรมแรกจบลงไม่นาน
the cloud ก็เปิดรับสมัครรอบสองต่อสมความตั้งใจ
ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ได้ร่วมทริปไปกับเขาด้วยนี่สิ!!

หนักใจนิดหน่อยกับการเลือกหนังสือในรอบนี้ ..
เพราะธีมของทริปคือ “รักนักหนา!!”
เราเลือกหนังสือยากมาก
หนังสือที่รออ่านในช่วงนี้ไม่ค่อยจะมีหนังสือรักเอาซะเลย
หลังจากเดินวนไปวนมาแถวๆ ห้องหนังสือเล็กจิ๋วของเราอยู่หลายรอบ
ก็ตัดสินใจได้ว่า เราจะเลือก ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ของมูราคามิไปอ่าน
เหตุผลหนึ่งเพราะเล่มนี้เกี่ยวกับความรัก .. แน่แท้อยู่แล้ว
แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เราเคยอ่านมันไม่จบมาแล้ว!
(เป็นน้อยเล่มมากด้วยที่เราเริ่มอ่านแล้วไม่จบ)

ระหว่างเลือก เราจินตนาการเห็นตัวเองกำลังนั่งอ่านหนังสือเล่มนี้เงียบๆ
ท่ามกลางวิวสวยๆ และบรรยากาศเป็นใจ
ระยะเวลายาวนานตั้ง 4 วัน รวมรถไฟไปกลับอีกนิดหน่อย ..
ยังไงก็ต้องอ่านจบแน่ๆ!!
นั่นล่ะค่ะ ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย จึงถูกเลือกมาด้วยประการฉะนี้

เมื่อเลือกหนังสือได้แล้วจึ่งเริ่มกรอกใบสมัคร
ซึ่งสั้นมาก สั้นจนเราตกใจเมื่อกรอกเสร็จว่า ..
เฮ้ย .. หมดแล้ว เผลอกดส่งไปแล้ว เขียนไปนิดเดียวเอง!!
และอานิสงส์ผลบุญนั้น ทำให้เราไม่ติดโผ 50 คนในวันประกาศผล T—T
ค่ะ .. เศร้าเกินคำบรรยาย .. ไปได้ไม่กี่นาที
สักพักก็มีเมลเด้งขึ้นมาว่าข้าพเจ้าติดสำรอง!
กิ๊ดซ์!! เปลี่ยนอารมณ์ไม่ทันกันเลยทีเดียว ดีใจมากค่ะ >,<
จากนั้นก็เป็นขั้นตอนการมโนว่า ถ้าเล่มนี้จบเร็ว จะเอาอะไรไปอ่านอีกดี
จะเอาหนังสือเล่มไหนไปขอลายเซ็นคุณก้อง (ทรงกลด บางยี่ขัน) เจ้าสำนัก the cloud บ้างดี
เอาข้าวของอะไรไปบ้าง เอาถุงนอนไปดีมั๊ย
(ซึ่งตอนนั้นตอบตัวเองไปว่าเยอะเกินจึงตัดออก
แต่ถ้าตอนนี้ย้อนกลับไปบอกตัวเองตอนนั้นได้
จะบอกว่า เอาไปเถอะ ได้ใช้แน่ๆ .. ก็มันหนาวอ่ะ)
ฯลฯ

เพ้ออยู่ตั้งแต่วันประกาศผล จวบจนกระทั่งถึงวันเดินทาง
ตัดภาพมาที่หัวลำโพง

ณ สถานีกรุงเทพ ตามเวลานัด
ผู้คนที่จะนั่งรถไฟไปอ่านหนังสือด้วยกันเริ่มทยอยกันมา
จากประปรายแล้วค่อยหนาตา
บางคนแจกรอยยิ้มบางๆ บางคนเริ่มผูกมิตรด้วยบทสนทนา
บางคนเก้ๆ กังๆ (เรานั่นเอง)
ต่างคนต่างที่มา ต่างเพศ ต่างวัย ต่างสาขาอาชีพและความสนใจ
แต่พอทุกคนชอบอ่านหนังสือ มันก็เหมือนมีจุดลิงก์ให้เราเชื่อมต่อหากัน

ใครคนหนึ่งแจกของที่ระลึกโครเชต์เข็มกลัดรูปก้อนเมฆ the cloud
ที่ตั้งใจทำมาให้ทุกคนถึงห้าสิบอัน! (ผู้ทำบอกว่าจำนวนจริงๆ คือหกสิบอัน!!)
นับถือความตั้งใจและความน่ารักของคุณบรรณารักษ์จากปัตตานีเลยค่ะ ^^

รู้ตัวอีกที ขบวนเด็กค่ายไซส์โข่งเกือบ 40 ชีวิต
ก็ออกเดินตามคุณก้องไปยังขบวนรถไฟสีชมพู

แม้เราจะยังไม่ค่อยได้คุยอะไรกับใครนัก
แต่การนอนหลับข้ามคืนบนรถไฟ ก็เป็นการเริ่มต้นความทรงจำที่ดี
(น้องที่นั่งด้วยกันก็น่ารักมาก แม้ว่าเราจะเลือกวิธีทำความรู้จัก
ด้วยการนั่งมองหน้ากันเป็นส่วนใหญ่ ;P)
เช้าตรู่ เราทั้งผองเดินทางถึงเชียงใหม่โดยสวัสดิภาพ
และต่อรถเหลืองบุกฝ่าลมฝุ่นไปต่อ

และแล้วก็ถึงค่ายเยาวชนเชียงดาว

นับจากนาทีที่เรามองเห็นยอดดอยเชียงดาวจากค่ายฯ
สามสี่วันต่อจากนั้นเวลาผ่านไปเร็วมาก

หลังจากแยกย้ายไปอาบน้ำ กลับมากินข้าว แนะนำตัว ฯลฯ
ช่วงบ่ายก็เป็นเวลาอิสระ และอิสระนับตั้งแต่นั้นไปจนจบทริป
ใครใคร่อ่าน อ่าน .. ใครใคร่นอน นอน
ใครใคร่เดิน เดิน .. หรือจะปั่นจักรยาน ค่ายก็มีจักรยานให้เช่าในราคาย่อมเยา
มีแม้แต่วง (สอนเต้น) สวิง และวงสอนปักผ้า
แล้วแต่ว่าใครจะอยากทำอะไร หรือชวนกันทำอะไรขึ้นมา 🙂

บ่ายแก่ๆ เราฟอร์มแก๊งเล็กๆ พากันไปเดินเล่นในหมู่บ้าน
ไปกันหลายคนหน่อย ช่วยกันจำทาง ^^
ได้ยินว่าที่หมู่บ้านมีบ่อน้ำพุร้อนให้แช่ชุ่มฉ่ำด้วย
ซึ่งปรากฏว่าชาวค่ายก็เดินสวนกันไปมากลุ่มแล้วกลุ่มเล่า .. อยู่แถวๆ นั้นแหละ
เหลือใครอยู่เฝ้าค่ายบ้างเนี่ยะ

ว่าด้วยเรื่องของอาหารการกินในค่ายแต่ละมื้อ ..
ทุกมื้อล้วนเป็นอาหารพื้นเมืองแท้ อุดมประโยชน์ รสชาติอร่อย
เครื่องดื่มมีทั้งน้ำร้อน น้ำเย็น น้ำชาหลากรส รวมไปถึงเครื่องดื่มชงสำเร็จต่างๆ
สายกินปลื้มปริ่มมาก >,<

คุณพี่เจ้าบ้านกำลังอธิบายถึงผักแต่ละชนิด

ค่ำๆ ของทุกวัน เราตั้งวงสนทนาเรื่องหนังสือที่กำลังอ่าน

หนังสือเล่มที่เราชอบ มีคนไม่ชอบ
และหนังสือเล่มที่เราไม่ชอบ มีคนชอบ
ค่ายนี้สอนให้เราเปิดใจในการอ่านหนังสือมากขึ้น
อย่าด่วนตัดสินหนังสือด้วยความคาดหวังของเราเอง
ค่าย อ่านเถิดหนา ทำให้ norwegian wood เกิดใหม่ในใจเรา

สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่นี่ไม่ดีนัก
แต่การที่อินเตอร์เน็ตแรงอ่อนก็เป็นเรื่องที่ดี
มันทำให้เราไม่มัวแต่ก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์ทั้งวัน (เหมือนตอนอยู่บ้าน)
เมื่อขาดสัญญาณเชื่อมต่อจากภายนอก
เราจึงให้ความสำคัญกับสัญญาณเชื่อมต่อภายใน
ทั้งภายในค่าย และภายในใจตัวเอง

แปลกดีที่คนไม่รู้จักกัน 50 คน มาอยู่ในสถานที่เดียวกันเพียง 4 วัน
โดยที่ไม่มีกิจกรรมใดนอกจากอ่านหนังสือ
และพูดคุยกันถึงเรื่องหนังสือบ้าง ไม่หนังสือบ้าง
กลับสนิทกันเหมือนเพื่อนเก่าที่คบหากันมานาน
ช่าง
เป็นกิจกรรมที่น่าอัศจรรย์ ..
เราคิดว่า “โลกน่ารัก เมื่อคนอ่านหนังสือ” นะ

อย่างที่บอกไปแล้วว่า อยู่ที่นี่เวลาเดินเร็ว
เผลอใจแป๊บเดียวก็ถึงเวลากลับเสียแล้ว

ชั่วโมงสุดท้ายก่อนถึงหัวลำโพงคือชั่วโมงแห่งการร่ำลา
เราเลือกนั่งรถไฟเรื่อยๆ มาจนถึงสถานีสุดท้าย
เพื่อยืดระยะทางออกไปให้ไกลที่สุด ยืดระยะเวลาออกไปให้นานที่สุด
แต่เวลาจากลาก็ยังมาถึงอยู่ดี
มันเกิดขึ้นรวดเร็ว เหวอ และทำตัวไม่ถูก
รู้ตัวอีกทีก็เดินห่างจากแถวกรุ๊ปลูกทัวร์ที่ต่อคิวรอแท็กซี่
น้องฝึกงานจาก the cloud คนหนึ่ง คือมนุษย์คนสุดท้ายจากค่ายที่เราได้คุยด้วย
ทั้งที่ตลอดทริปเราแทบไม่ได้คุยกันเลย ..

คุยกับน้องไป นั่งทบทวนใจตัวเองไป
มีหลายคนที่เราให้เวลากับเขาน้อยเกินไป
อยากพูดคุยด้วยมากกว่านี้ (จริงๆ ต้องบอกว่าอยากฟังเขาพูดมากกว่านี้)
บางคน เราเพิ่งมารู้ว่าเขามีทัศนคติที่น่าสนใจ
บางคนชอบอ่านหนังสือแนวที่น่าสนใจ
หรือบางคนก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่าเราชอบอ่านหนังสือแนวเดียวกัน
บางคนรู้จักกับคนที่เรารู้จัก (โลกกลมมาก)
และเสียดายที่ตัวเองมัวเสียเวลาป่วย หลบไปนอนอยู่ตั้งครึ่งวัน

แล้วน้องคนสุดท้ายก็จากไป และทริปนี้ก็จบลง ..
ใครจะคิดว่าห้าวันสั้นๆ เมื่อเทียบกับชั่วชีวิต จะทำเราเพ้อขนาดนี้
ทริปจบลงไปแล้ว แต่คนยังไม่ยอมจบ ..
นับถึงตอนนี้ เรากลับถึงบ้านมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว
แต่หลายครั้งความคิดยังคงวนเวียนถึงช่วงเวลาสี่ห้าวันที่เชียงดาวนั้น ..

จะจบอย่างไรดีเพื่อไม่ให้มันเชยและเศร้า ..
รักและคิดถึงดีไหมดากานดา .. ไม่ใช่ละ!!
ขอจบลงด้วยคำเชิญชวนว่า แม้อาการที่เราเป็นออกจะดูเวอร์ๆ
แต่ถ้าใครอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า
ลอง “อ่านเถิดหนา” รอบหน้าด้วยตัวเองดูสักครั้งนะคะ 🙂

Comments are closed.