อ่านแล้วเล่า

ร่มฉัตร

96-1 ร่มฉัตร

เรื่อง ร่มฉัตร
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา (เล่มละ) 360 บาท (2 เล่มจบ)

ร่มฉัตร เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เล่าเรื่องผู้คนในยุคสมัยโบราณ
เป็นนิยายที่เราได้ยินคนพูดถึงกันมานานมากแล้ว
ในแง่ของการเป็นนิยายพีเรียด เล่าเรื่องราวชีวิตของแม้นวาด
ผู้หญิงที่มีอายุข้ามผ่านเวลามายาวนานถึงห้าแผ่นดิน

เรามักได้ยินการเอ่ยชื่อ ร่มฉัตร ควบคู่ไปกับ สี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
และ รัตนโกสินทร์ ของ ว.วินิจฉัยกุล
แต่เมื่ออ่านครบทุกเล่มแล้วพบว่า ถ้ายกเอาสี่แผ่นดินเป็นที่ตั้ง
รัตนโกสินทร์มีความแตกต่างกับสี่แผ่นดินเกือบจะโดยสิ้นเชิง
ในขณะที่ร่มฉัตร แทบจะยึดสี่แผ่นดินเป็นสรณะเลยทีเดียว

ตัวละครจากเรื่องสี่แผ่นดินและร่มฉัตรแทบจะจับคู่กันได้เป็นคู่ๆ ทีเดียว
เริ่มตั้งแต่แม่พลอย (จากสี่แผ่นดิน) และแม่วาด (ในเรื่องนี้)
ผู้เป็นกำพร้าแม่ตั้งแต่เล็ก และถูกส่งตัวเข้าไปเป็นสาวชาววังตั้งแต่ก่อนโกนจุก
พ่อเพิ่มจากเรื่องหนึ่ง กับพ่อนวมจากอีกเรื่องหนึ่ง พี่น้องของนางเอกผู้มีอุปนิสัยคล้ายๆ กัน
คุณสาย กับคุณหยด หญิงชาววังที่มีหลานสาวแสนแสบ –
เพื่อนสนิทแม่พลอย และแม่วาด คือแม่ช้อย และแม่กลิ่น
คุณเปรม กับคุณอรรถ ผู้เป็นขุนนางใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท
เลยลงมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
ฯลฯ

ลำดับขั้นตอนการเล่าเรื่อง
รวมถึงสาส์นบางอย่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เคยสื่อเอาไว้ในสี่แผ่นดิน
ก็พบได้ในร่มฉัตรอย่างไม่ค่อยผสมกลมกลืน แต่ก็แทบจะไม่มีขาดตกส่วนใดไป

96-2 ร่มฉัตร

ชีวิตของแม้นวาดเริ่มต้นในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่บ้านเมืองสุขสงบร่มเย็น
กำลังค่อยๆ พัฒนาไปอย่างมีลำดับขั้นตอน
และดำเนินระหกระเหหนมาจวบจนถึงรัชกาลที่ 9 ในบั้นปลายชีวิต
นับได้ว่าเป็นคน 5 แผ่นดิน (แซงแม่พลอยไปปีนึง)

แม่ของวาดเป็นเจ้าลาวที่อพยพหลบหนีภัยสงครามมาจากกรุงเวียงจันทน์
ก่อร่างสร้างครอบครัวจนกลืนไปเป็นคนไทย
ก่อนที่จะออกเรือนมากับพ่อของวาด แม่วงก็เป็นสาวชาววังมาก่อน
สนิทชิดเชื้อกันกับคุณหยด
พ่อของวาดเป็นช่างฝีมือดีอยู้ในกรมช่างสิบหมู่
ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาจินดารังสรรค์ จางวางช่าง
แม้นวาดเป็นลูกเมียเอก มีฝาแฝดอีกคนหนึ่งคือแม้นเขียน
ซึ่งอายุสั้น จากไปตั้งแต่วาดยังเล็กๆ และหลังจากนั้นไม่นาน วาดก็เสียแม่ไปอีกคน
วาดมีพี่น้องต่างมารดาอีกหลายคน ที่สนิทสนมคบหาการมายืนนานคือพ่อนวมกับนังเปียก
ถัดมาจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เอื้อมวงศ์ อารีย์ อรรณพ อารยา .. และนังเอิญ ฯลฯ

ตัวละคร แม้จะมีอยู่หลายตัว
แต่ทุกตัวต่างมีบุคลิกลักษณะและบทบาทเป็นของตนเองอย่างชัดเจนไม่ปะปนกัน
ที่สำคัญแต่ละตัวยังมีลักษณะพ้องกับตัวละครในสี่แผ่นดิน
ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวไปเป็นคู่ๆ (อย่างที่กล่าวไปแล้ว)
อ่านไปก็เลยอดนึกภาพฉากเหตุการณ์ลำดับเป็นเส้นขนานกันไปอย่างห้ามไม่ได้

ในขณะที่สี่แผ่นดินให้ความนุ่มนวลชุ่มชื่นค่อยๆ ซึ้มเข้าสู่หัวใจ
ร่มฉัตรกลับให้ความรู้สึกแข็งๆ สนุก แต่ไม่เต็มตื้นในความรู้สึก

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเขียนนิยายนิยายออกมาให้สมบูรณ์เรื่องหนึ่ง
และร่มฉัตรก็เป็นหนึ่งในความสมบูรณ์ที่ว่า
หากแต่ก็ยังอดเปรียบเทียบ และเห็นความด้อยกว่าอยู่ดี
ร่มฉัตรไม่ทำให้เรารู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวละคร
ได้มากเท่าสี่แผ่นดินเลยจริงๆ

ภาษาในเรื่องก็สละสลวยไพเราะ งดงาม
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ทำให้เรารู้สึกจับใจได้อย่างสี่แผ่นดิน
ส่วนหนึ่งคงต้องยอมรับด้วยว่า มีอคติเป็นตัวลดคุณค่าของร่มฉัตร
เพราะเราอ่านสี่แผ่นดินมาก่อน และหลงรักสี่แผ่นดินไปเสียแล้ว
และเมื่อร่มฉัตรมาเหมือนสี่แผ่นดินเสียเกินไป
หัวใจเราก็เลยพลอยแต่จะคิดจับผิดไปเสียเรื่อย

ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้เขียนเล่าไปก็ประชดประเทียดเสียดสีผู้คนในยุคสมัยโบราณ
เทียบกับเศรษฐีใหม่มากบารมีในยุคปัจจุบันไปด้วยโดยตลอดเรื่อง
ทั้งๆ ที่ก็ปูมาตลอดว่า วาดเป็นคนใจเย็น ไม่ค่อยมีเรื่องกับใคร
แต่พอถึงยุคที่เป็น ‘คุณแม่ของคนทั้งประเทศ’ (เขาไม่ได้หมายถึงพระราชินีหรอกหรือ?) แล้วล่ะก็
แม่วาดพลอยนึกค่อนนึกติคนโน้นคนนี้ในใจอยู่ตลอด
เลยทำให้ตัวละครอย่างแม่วาดนั้นออกจะน่าหมั่นไส้
มากกว่าจะน่ารัก น่าเอาใจช่วยอย่างแม่พลอย

คนเรามีสิ่งยึดถือยึดมั่นศรัทธากันคนละอย่าง
เพราะถูกอบรมเลี้ยงดูกันมาคนละอย่าง
เติบโตขึ้นมาในสังคมและยุคสมัยที่แตกต่าง
แม่วาดที่นึกคิดพูดจาดูเหมือนจะปลงตกมาโดยตลอดทั้งเรื่อง
แต่ก็ไม่เคยปลงตกได้จริงเลยสักครั้ง
ยังคงปลงตกบ่นยุบยิบหยุมหยิมกับทุกความแตกต่างที่ไม่ได้ดั่งใจ
อ่านแล้วไม่ได้น้อมนำให้เรารู้สึกลึกซึ้งในวิถีชีวิตแบบเก่าได้อย่างสี่แผ่นดินเลย

ร่มฉัตรในช่วงแรกเล่าเรื่องยืดเยื้อมาก
แต่ในช่วงหลังก็เล่าเรื่องได้รวบรัดมากเช่นกัน
แต่ละเหตุการณ์ในช่วงท้ายๆ ผ่านพ้นฮวบๆ ไปอย่างรวดเร็ว
จนขาดรายละเอียดละเมียดละไมในความรู้สึก

ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาจากสี่แผ่นดิน คือ
มีการเล่าเรื่องที่เน้นค่าตัวละครเอกฝ่ายหญิงตามแบบทมยันตี
แทรกความเป็นนวนิยายผสมการเมือง อันเป็นอีกหนึ่งแนวถนัดของผู้เขียน

ร่มฉัตร ได้รวบรวมประมวลความรู้เก่าแก่แต่โบราณเอาไว้หลายอย่าง
อย่างชนิดลงรายละเอียด และไม่ค่อยจะซ้ำกับที่เคยอ่านจากเรื่องอื่นๆ
มีคำภาษิตแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินจากที่ไหน อย่างเช่น
‘ลูกพ่อคนเดียวหุงข้าวเหนียวเหมือนนึ่ง ลูกพ่ออีกคนถากไม้เหมือนหมาเลีย’
‘สัปเหร่อกินผี สังฆการีกินพระ’
หรืออีกอย่าง ‘มรรคทายกเห็นขี้นกเป็นเงินเฟื้อง’ ฯลฯ

มีเพียงแต่ช่วงท้ายๆ เท่านั้น ที่ร่มฉัตรเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา
เพราะคุณอรรถ สามีของวาดนั้นยังมีชีวิตอยู่ มีบทบาทอยู่จนถึงตอนท้ายๆ เรื่อง
คุณอรรถไม่ได้ถูกดุล และไม่ได้ออกจากราชการเหมือนคุณเปรมของแม่พลอย
มิหนำซ้ำ คุณอรรถยังเป็นผู้ก่อการฯ เองเสียด้วยซ้ำ
วิถีชีวิตของคุณอรรถและแม่วาดจึงได้ผกผัน
อยู่ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการเมืองในยุคเริ่มต้น
มีชีวิตที่ขึ้นสุดลงสุดเสียยิ่งกว่าคุณเปรมกับแม่พลอย

ถ้าจะเลือกนิยายที่ดีที่สุดของทมยันตีสักเล่ม
ร่มฉัตรต้องหลุดโผไปอย่างไม่ต้องลุ้นแน่ๆ ค่ะ

ปล. รู้สึกตัวเหมือนกันค่ะว่าการรีวิวหนังสือเล่มนี้
เรายกสี่แผ่นดินมาเปรียบเทียบโดยเกือบตลอด ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
เป็นการรีวิวที่ดูจะเต็มไปด้วยอคติ (เป็นพิเศษกว่ารีวิวอื่น)
เพราะตลอดเวลาที่อ่าน ร่มฉัตรก็ชวนให้นึกถึงสี่แผ่นดินไปทุกบททุกตอนเลยจริงๆ
และสี่แผ่นดิน ก็เป็นนิยายที่เรารักมากเสียด้วยสิคะ
ก่อนจะอ่านเล่มนี้ ไม่คาดคิดเลยว่าจะเหมือนขนาดนี้ เลยออกจะผิดหวังสูงไปหน่อย
และเราคิดว่า ด้วยฝีมือของทมยันตี .. เธอสามารถเขียนได้ดีกว่านี้จริงๆ ค่ะ

Comments are closed.