อ่านแล้วเล่า

ปุลากง

เรื่อง ปุลากง
ผู้แต่ง โสภาค สุวรรณ
สำนักพิมพ์ บรรณกิจ
เลขมาตรฐานหนังสือ –

อ่าน ปุลากง ครั้งแรก เมื่อตอนที่มันเป็นหนังสือนอกเวลาของสมัยมัธยมของเรา
จำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าเป็นมัธยมปลายหรือมัธยมต้น
แต่จำความรู้สึกแรกอ่านได้แม่นว่า เข็นมันไปได้ยากเย็นจริงๆ
อาจจะเป็นเพราะชื่อเรื่องแปลกประหลาด ไม่สื่ออะไร
การดำเนินเรื่องก็เก่าๆ เชยๆ
แต่เมื่อผ่านการปูเรื่องไปได้หน่อย ทีนี้ละก็ติดหนึบกันเลยทีเดียว

ปุลากง เป็นชื่อตำบลแห่งหนึ่งใน อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
แต่เปล่าเลย เรื่องไม่ได้เริ่มต้นขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนั้นหรอก
เรื่องเริ่มต้นขึ้นในเมืองหลวงของประเทศนี้เอง ด้วยพล็อตง่ายๆ ของเด็กชายขวางโลก
เด็กชายศกร หรือนายเข้ม ลูกเมียน้อยของพ่อผู้เป็นข้าราชการชั้นสูง มีฐานะทางสังคมที่ดี
เข้มอยู่บ้านหลังเล็กๆ ซึ่งอยู่ในรั้วรอบขอบชิดเดียวกับครอบครัวใหญ่
แต่แตกต่างกันทุกอย่างกับคนอื่นๆ ที่เป็นลูกพ่อเหมือนกัน เพียงแต่คนละแม่
ขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง จนเกือบต้องเดินทางผิดไปเพียงเพราะต้องหาเงินมาเรียนหนังสือ
เขาอยู่กับแม่ลำพังสองคน ค่ำคืนนั่นหรอก พ่อถึงเดินมาเข้าห้องแม่ .. แล้วก็จากไป
ซ้ำๆ ไปอยู่ทุกวัน ..
น้ำตาของแม่คือรอยช้ำของเขา มันกลายเป็นปมฝังรากลึก
เข้มกลายเป็นเด็กชายขวางโลก ซึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ขวางโลก
หน้าตาของเขาดุเข้มสมชื่ออยู่ตลอดเวลา เป็นเสือยิ้มยาก
ไม่เคยญาติดีกับใครพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะแม่เด็กหญิงมอมแมมข้างบ้าน
หนูตุ่น หรือศุภรา .. ลูกสาวครูสอนเปียโนของพี่สาวต่างแม่

แล้วเวลาก็ผันผ่าน ต่างคนต่างไปมีวิถีชีวิตของตัวเอง
เข้มเลือกที่จะเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะมีเบี้ยเลี้ยงให้ และไม่ต้องอยู่บ้าน
ศุภราเรียนจบปริญญาในสาขาสังคมสงเคราะห์
และจบครุศาสตร์บัณฑิตอีกแขนงด้วยในเวลาต่อมา
วีรุทย์ เพื่อนวัยเด็กที่คบกันมาจนโต ได้ชวนให้หนูตุ่นมาเป็นนักพัฒนากรที่ภาคใต้
ตัวเขาเองนั้นประจำอยู่ก่อนแล้วที่ตำบลมายอ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
หนูตุ่น ถูกส่งตัวมาที่ปุลากงในเวลาต่อมา

ตำบลปุลากง ประกอบไปด้วยสี่หมู่บ้าน ชาวบ้านเป็นไทยอิสลามทั้งหมด
พูดภาษามลายูกับเกือบทั้งหมู่บ้าน พูดไทยกันแทบไม่ได้เลย
ชาวบ้านมีอาชีพทำนา ทั้งตำบลไม่มีร้านค้าขายของเลย
มีโรงเรียนหนึ่งโรงเรียน คือโรงเรียนปาโฮะกาเยาะ

หนูตุ่น ผู้หญิงตัวเล็กๆ ได้เข้าไปพักอาศัยร่วมกับชาวบ้าน
เธออยู่ร่วมบ้านกันกับครูใหญ่ที่มองโลกกว้างไกล
ครอบครัวของครูใหญ่อบอุ่น โอบอ้อมอารี แม้จะพูดกันคนละภาษา
ผู้เขียนค่อยๆ เปิดโลกการทำงานของพัฒนากร และผู้ที่มีอาชีพเสียสละอื่นๆ
ที่ทำงานอยู่ตามชนบทห่างไกล ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีห้องน้ำห้องส้วม
ไม่ความสะดวกสบายต่างๆ ที่คนเมืองคุ้นชินเลย
ต้องเสี่ยงภัยอันตรายต่อโจรขโมย และผู้ก่อการร้ายที่แทรกซึมอยู่ทั่วไป
ชีวิตประจำวัน พวกเขาก็ต้องปรับตัวเข้ากับชาวบ้านให้ได้
แนะนำ โน้มน้าวให้พวกเขาทำสิ่งที่ดีๆ ต่อหมู่บ้าน ต่อตำบล
อย่างเช่นร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมแซมโรงเรียน ช่วยกันทำถนน ฯลฯ
สอนให้พวกเขาเห็นความสำคัญของสาธารณะสุข อย่างเช่นกินอาหารสะอาด
สร้างห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ สอนภาษาไทย ฯลฯ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ที่สำคัญที่สุดคือสร้างความเข้าใจว่าพวกเขาก็เป็นคนไทยเช่นเดียวกัน
แม้จะนับถือศาสนาต่างกัน แม้จะพูดกันคนละภาษา
สร้างความรัก ความหวงแหนต่อชาติบ้านเมืองและพระมหากษัตริย์
ทั้งหมดนี้เป็นงานที่ไม่ง่ายเลย และหนูตุ่นก็ได้ทำให้เราดู

ส่วนนายเข้มเอง ถ้าไม่ใช่พรหมลิขิตก็คงเป็นนิยาย
ที่เขาบังเอิญมาเป็นผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรอำเภอยะหริ่งพอดี
พระเอกนางเอกจึงมาเริ่มสร้างความคุ้นเคยกันตอนนี้นี่เอง
แต่อย่าคาดหวังมากนะคะ ฉากพระเอกนางเอกอยู่ด้วยกันมีน้อยมาก
และทั้งคู่ต่างก็ปากหนัก ฟอร์มจัดพอๆ กัน

แต่ ปุลากง ก็ไม่ใช่นิยายอุดมคติหนักๆ เหมือนกัน
ผู้เขียนเล่าเรื่องได้กลมกล่อม ราบรื่น อ่านสนุกดี
ฉากที่พัฒนากรสาวพัฒนาหมู่บ้าน ก็น่ารัก อ่านเพลิน
ฉากหวานๆ แม้จะมีน้อย และพระเอกน่าหมั่นไส้ในความขี้เก็กเป็นบางครั้ง
แต่ก็ฟินพอใช้
จำได้ว่าอ่านจบรอบแรก เราเสียน้ำตาให้หนังสือเล่มนี้ด้วยค่ะ
แต่รอบนี้ไม่มีแม้แต่น้ำตาคลอๆ แก่แล้วจิตใจกล้าแข็งมาก 555

Comments are closed.