อ่านแล้วเล่า

ปลายเทียน

121-3-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99

เรื่อง ปลายเทียน
ผู้แต่ง แก้วเก้า
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
ราคา 360 บาท

ปลายเทียน เป็นเรื่องแต่งใหม่ที่ได้ดึงเอาวรรณกรรมเรื่องขุนช้าขุนแผนมาเล่าอีกครั้งค่ะ
ไม่ใช่ขุนช้าขุนแผนจ๋า แล้วเล่าใหม่โดดๆ
แต่เป็นการดึงเอาบางตัวละครที่มีอยู่จริงในเรื่อง มาโลดแล่นในนิยายเรื่องใหม่เล่มนี้
ตัวละครที่ถูกนำมา มีอยู่สองตัวด้วยกันค่ะ คือพระเอก และตัวร้าย
คือขุนแผน และเถรขวาด
ขุนแผนในเรื่องนี้ดูจะรับบทร้ายหน่อยๆ เพราะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระนางของเรื่อง
ส่วนเถรขวาด กลายเป็นผู้ช่วยพระเอกแทน
แต่ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนก็ยังคงลักษณะของตัวละครเดิมเอาไว้มากที่สุดค่ะ
ส่วนอีกสี่ตัวละครใหม่ ที่เดินออกมาจากเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วยเช่นกัน
แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีตัวตนจริงอยู่ในเรื่อง แต่มาจากแรงบันดาลใจของผู้เขียน
คือสร้อยสุมาลี และเพชรกล้า (และสองพี่เลี้ยงนางหล้าและนางลูน) ค่ะ
สร้อยสุมาลี ถูกวาดภาพให้เป็นธิดาของเจ้าเมืองเชียงใหม่อีกคน
(เป็นพี่น้องกับสร้อยฟ้าภรรยาของพลายงาม)
ส่วนเพชรกล้า ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นบุตรของแสนตรีเพชรกล้า ทหารล้านนา
แสนตรีเพชรกล้านั้นเป็นยศ เมื่อแสนตรีเพชรกล้าได้ตายลง
เพชรกล้าบุตรชาย (ในจินตนาการของแก้วเก้า)
จึงได้รับยศแสนตรีเพชรกล้าแทนพ่อ และเรียกสั้นๆ ว่าเพชรกล้า (ไม่ใช่ชื่อ)

ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนได้เล่าที่มาของเรื่องเอาไว้อย่างละเอียด ชัดเจน ในตอนต้นเล่มค่ะ
ชอบอ่านอะไรแบบนี้จัง
เหมือนได้แอบรู้บางความลับและกระบวนการคิดของผู้เขียน ^^

121-2-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99

เรื่อง ปลายเทียน นี้ เริ่มต้นในตอนที่ ..
วงศ์เมือง แสนทรงพล นักเขียนชื่อดังได้ประมูลสมุดข่อยโบราณ
ซึ่งจารึกวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับพิเศษ
เป็นตอนที่ไม่เคยพบมาก่อน และไม่ซ้ำตอนกับที่ไหน
ตอนที่แทรกมานี้ ได้พูดถึงตัวละครที่ชื่อว่าเจ้าสร้อยสุมาลี และเพชรกล้า
และด้วยความพิเศษในตัวของวงศ์เมือง ทำให้เขาได้เข้าไปในโลกของวรรณคดีจริงๆ
ได้พบกับเจ้าสร้อยสุมาลีและเพชรกล้าจริงๆ
รวมไปถึงพี่เลี้ยงทั้งสอง .. นางหล้า นางลูนด้วย
ตัวละครทั้งหมดนั้น ได้หลบหนีจากการควบคุมตัวในฐานะนางเชลย
(เชียงใหม่แพ้สงครามอยุธยา ขุนแผนจึงได้คุมตัวเชลยทั้งหมดไปถวายพระพันวษา)
ระหกระเหินกันอยู่กลางป่า วงศ์เมืองจึงชักชวนให้ทั้งสี่คนมาพักที่บ้านของเขา

121-1-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99

วัจน์ แสนทรงพล เศรษฐีเจ้าของธุรกิจที่ประคองตัวฝ่าพ้นวิกฤตไอเอ็มเอฟมาได้อย่างสวยงาม
ผู้เป็นน้องชายแท้ๆ ของวงศ์เมือง ถูกตามตัวให้มาพบพี่ชายตัวเอง
ที่บ้านสวนต่างจังหวัดอันแสนจะโลว์เทคและไกลลิบ
พี่ชายของเขา เรียกร้องเวลาที่มีค่าดั่งทองของเขามาเพื่อบอกว่า
สร้อยสุมาลี ธิดาอีกคนของเจ้าเชียงอินทร์ ได้หลุดข้ามมิติ
หนีภัยมาขอพักอาศัยอยู่กับเขาที่เรือนติดกันนี้!!
บ้าไปแล้ว ใครเชื่อก็บ้าแล้ว พี่ชายของวัจน์ต้องบ้าไปแล้วแน่ๆ!!
เขาทำการล่อหลอกพาพี่ชายไปที่โรงพยาบาล และให้จิตแพทย์ประจำตัวดูแล
วงศ์เมืองโกรธมาก ไม่ยอมพูดคุยกับน้องชาย แต่ยื่นคำขาดขอติดต่อกับหลานชาย

เรวิทย์ ลูกชายคนเดียวของวัจน์ กับรุจิยา จึงเป็นตัวกลางระหว่างพ่อกับลุง
ตอนที่เรวิทย์รู้ข่าวอาการป่วยของลุง
เขากำลังอยู่กับเพื่อนสาว เกาลัด ลูกสาวอดีตเศรษฐีที่เพิ่งประสบพิษไอเอ็มเอฟ
เขาเป็นอีกคนที่ไม่เชื่อวงศ์เมือง
ในขณะที่เด็กสาวเกาลัด ผู้ชอบความตื่นเต้นบ้าระห่ำ กลับปักใจเชื่อหน่อยๆ
เธอขู่บังคับให้พี่จือ เลขาของบิดาเพื่อน พาไปที่บ้านของลุงของเรวิทย์
และได้พบกับตัวละครแปลกประหลาดเหล่านั้นเข้าจริงๆ
เมื่อมนุษย์ในวรรณคดี กับมนุษย์จริงมาพบกัน ความมันส์จึงบังเกิดค่ะ
ความแตกต่างแบบสุดขั้วของสองโลก ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี วิถีปฏิบัติ ฯลฯ
ความรักแบบผิดฝาผิดตัว ความตื่นเต้นจากภัยพาล
ทั้งภัยจากพ่อจอมแสบของเรวิทย์
(มีความดื้อ เอาแต่ใจแบบคุณฟ้าฟื้นใน เรือนมยุรา แต่ลดระดับลงมา)
แล้วยังศัตรูที่ตามมาจากในสมุดข่อย อย่างขุนแผน และผีพราย
แล้วยังผู้ช่วยที่ไม่ค่อยน่าจะฝากความหวังอย่างเถรขวาด
ผู้เขียนผูกเรื่องได้สนุกมาก และเนียนมากๆ ค่ะ

ตัวละครหลักแท้ๆ ของเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น
เปิดตัวมาเฉพาะในช่วงท้ายๆ ของเรื่องค่ะ
ในขณะที่ตัวละครสมมติอย่างเจ้าสร้อยสุมาลี เพชรกล้า นางหล้าและนางลูน
คือตัวละครที่โลดแล่นควบคู่ไปกับตัวละครในยุคปัจจุบัน
อย่างเรวิทย์ เกาลัด และคนอื่นๆ เกือบตลอดเรื่อง

ตัวละครเรื่องนี้ เฉพาะตัวที่หลุดออกมาจากขุนช้างขุนแผน ..
คุยกันเป็นกลอนทั้งเรื่องเลยค่ะ
แล้วแก้วเก้าก็แต่งได้ไพเราะสละสลวย กลมกลืนทั้งเรื่องเลยด้วย
ส่วนตัวละครในโลกจริง ก็มีความเป็นคนจริงๆ
มีเลือดเนื้อ มีความเจ็บปวด มีความละเอียดอ่อน สัมผัสจับต้องได้
ตัวละครทุกตัว มีข้อด้อยข้อดีเป็นคนธรรมดา

เกาลัด เด็กสาวแสนเปรี้ยวและดูว่า ‘ง่าย’ ในสายตาของใครต่อใคร
แท้จริงแล้วเธอก็มีความดีในตัว แม้ไม่ได้รักนวลสงวนตัวอย่างผู้หญิงยุคเก่า
จนถูกใครต่อใคร รวมทั้งเพชรกล้าดูถูก แต่เธอก็รักษาเนื้อรักษาตัวมาด้วยดี
ไม่ได้ง่ายอย่างที่ใครๆ ปรามาส

เรวิทย์ เด็กไม่เอาถ่าน เที่ยวเล่นไปวันๆ ในสายตาของพ่อ
เนื้อแท้ของเขาก็เป็นคนเห็นอกเห็นใจคนอื่น มีอารมณ์ละเอียดอ่อน และน่ารัก

วัจน์ ชายผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูง
ร่ำรวยเงินทอง แต่ยากจนความสุข
เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่แตะ ไม่มีบ้านเล็กบ้านน้อย
แต่ก็ปากร้าย ไม่เคยคิดถึงจิตใจใคร ดูถูกและตีราคามนุษย์ทุกคน
รักใครไม่เป็น หรือไม่ก็แสดงออกถึงความรักไม่เป็น แม้แต่การรักตัวเอง

รุจิยา แม่ของเรวิทย์ หญิงสาวกึ่งๆ ม่ายผู้แสนดี ใจเย็น
แต่ก็ทิ้งสามีมาอยู่ตัวคนเดียวอย่างหน้าตาเฉย

ฯลฯ

121-4-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99 121-5-%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%99

ดูๆ ไปแล้ว ชอบเกือบทุกอย่างที่รวมกันเป็นเรื่องนี้เลยค่ะ
รู้เลยว่าผู้เขียนต้องใช้ความสามารถมากขนาดไหน
ที่จะแต่งเรื่องใหม่เรื่องหนึ่งให้กลมกลืนไปกับวรรณคดีโบราณ
เป็นนิยายที่ทั้งดี แล้วก็สนุกด้วย ที่รวมกันอยู่ในเล่มเดียว
เสียดายอย่างเดียวว่าตอนเอาไปทำเป็นละคร กลับไม่ค่อยประทับใจเท่าไร
ถ้าใครสักคน จะหยิบนิยายเรื่องนี้มารีเมคอีกครั้ง
ขอแบบสวยงามสมกับบทประพันธ์นะคะ ..
ไม่เช่นนั้น ก็ขอเก็บความงามเอาไว้
ในรูปของความทรงจำในมโนภาพของคนอ่านแบบนี้แหละ .. ดีแล้ว

Comments are closed.