อ่านแล้วเล่า

ปลาดิบรวมมิตร

เรื่อง ปลาดิบรวมมิตร
ผู้แต่ง เรียวตะ ซูซูกิ
สำนักพิมพ์ abook
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786163270009

ปลาดิบรวมมิตร หรือ best of team pladib เล่มนี้
เป็นการรวมบทความจากคอลัมน์ Team Pladib ประจำนิตยสาร aday
ซึ่งอันที่จริง มันก็ถูกรวมเล่มมาแล้วหลายครั้ง หลายเล่ม
(เพราะคอลัมน์นี้อยู่คู่อะเดย์มายืนยงเป็นสิบปี)
รวมคอลัมน์เล่มต่างๆ ที่่เคยพิมพ์ออกมาแล้วก็อย่างเช่น ..
ทีมปลาดิบ ค้างคาวกินปลาดิบ ปลาดิบแช่น้ำปลา ปลาดิบแดดเดียว ฯลฯ
แต่ครั้งนี้พิเศษหน่อย เพราะเป็นการรวมเล่มเนื่องในโอกาสที่ aday ครบรอบ 10 ปี
เป็นปกแข็งหน้าตาสวยงามน่าสะสมสำหรับแฟนนิตยสาร และแฟนคอลัมน์

โดยส่วนตัว แม้เราจะเคยอ่านอะเดย์มาบ้างประปราย
แต่สารภาพว่าเป็นการอ่านผ่านๆ และเราไม่เคยอ่านคอลัมน์นี้เลยสักครั้งค่ะ
การอ่านหนังสือรวมเล่มเล่มนี้ จึงเป็นการตะลุยอ่านรวมคอลัมน์ของคุณเรียวตะแบบน๊อนสต็อป
ได้เห็นเห็นพัฒนาการทั้งทางภาษาและแนวความคิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ได้เห็นความเติบโต และฝีมือที่พัฒนาขึ้น

คอลัมน์ที่ว่านี้ เป็นคอลัมน์ที่เขียนโดยคนญี่ปุ่นที่มองเมืองไทยในสายตาของคนญี่ปุ่น
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคนญี่ปุ่นผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย
แล้วมองย้อนกลับไปยังประเทศแม่ของตัวเองด้วย
เป็นการนำเสนอแนวคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ในสังคม ผ่านสายตาแบบที่ว่านี้

เราเริ่มต้นอ่านรวมมิตรปลาดิบด้วยความรู้สึกเป็นศูนย์
ตอนต้นเล่ม ก็รู้สึกตะหงิดๆ นิดหน่อยว่าสำนวนมันจะไม่ค่อยลื่นไหล สละสลวยเท่าไร
บางทีก็รู้สึกห้วนๆ ไปหน่อย เปลี่ยนเรื่องเร็วไปหน่อย
บางทีก็พูดซ้ๆ ย้ำคิดย้ำทำ
แต่ยอมรับได้นะ คนญี่ปุ่นแท้ๆ เขียนได้ขนาดนี้ก็เก่งมากแล้ว
เราอ่านเอาวิธีความคิด เอาแนวความคิดของเขามากกว่า
และยิ่งเมื่ออ่านมาเรื่อยๆ จนถึงบทความหลังๆ
เราว่าเขาสื่อความคิดของเขาออกมาได้มากขึ้น
ภาษาสละสลวยขึ้น และความคิดก็ลึกซึ้งขึ้น

มุมมองคนญี่ปุ่นบางเรื่อง อ่านแล้วก็ฮาดี
มันเป็นเรื่องที่คนไทยชินมาก ธรรมดามาก
แต่คนญี่ปุ่นเก็บไปคิดลึกซึ้ง
หลายๆ เรื่องก็แปลกดี เป็นเรื่องที่คนไทยมองว่าปกติ
แต่คนญี่ปุ่นมองว่าแปลก ไม่ทำกัน
บางเรื่องก็ขำดี ว่าเรื่องธรรมดาของเรา เขาคิดไปไกลขนาดนี้เลยเหรอ

อันที่เราชอบเลยก็คือ เวลาไปซื้อของแล้วแม่ค้าเรียกเราว่าลูก
เราต้องตอบแม่ค้าว่าไง ต่องเรียกเขาว่าแม่หรือเปล่า
แล้วถ้าเรียก มันจะเป็นการทรยศต่อแม่ของเรามั๊ย
ประมาณว่ามีแม่อยู่แล้ว ยังจะไปรับคนอื่นเป็นแม่อีก
โอ้โห เหวอมาก ว่าคิดไปไกลขนาดนั้น .. คงเป็นเพราะเราชินด้วยแหละ

อีกอย่างหนึ่งที่เราชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือภาพประกอบ
(ผู้วาดภาพประกอบคือคุณชลธิชา สุจริตพินิจ (turquoiseting)
ภาพวาดภายในเล่มสวย และสื่อความหมายได้ดี
มีหลายภาพที่เราชอบมากๆ อย่างเช่นสองภาพข้างล่างนี้ มันเข้ากับบทความด้วย

สำหรับคนที่เริ่มสนใจหนังสือเล่มนี้ .. เมื่อคุณเปิดอ่านคุณจะได้พบกับ ..
ผู้เขียนซึ่งเป็นคนช่างคิด ขี้สงสัย และขยันหาคำตอบให้กับทุกสิ่งรอบๆ ตัว
นำเสนอโดยการเปรียบเทียบญี่ปุ่นกับไทย
แต่เป็นไปในเชิงบวก ชวนคิด ชวนหาคำตอบไปด้วยกัน
อ่านแล้วก็ทำให้เรานั่งพินิจพิเคราะห์ มองอะไรรอบตัวได้ละเอียดขึ้น
เขาเป็นคนที่อธิบายอะไรเคลียร์ดีนะ
เรื่องไท้ยไทยบางเรื่อง มันชาชินอยู่ในชีวิตเรา
เราเลยไม่เคยหยิบมันมาพิจารณาให้ลึกซึ้งดูซักที
แต่ผู้เขียนหยิบมาพูดถึง
เวลาอ่านแล้ว เราก็ได้แต่อุทานว่า ..
เออ ใช่! แบบนี้แหละ มันใช่เลย .. อะไรประมาณนี้

หรือถ้ายังไม่แน่ใจ แนะนำให้ไปลองหาอะเดย์สักเล่ม
แล้วเปิดอ่านคอลัมน์ของเขาดูสักเรื่องนึงก่อน
ชอบแล้วค่อยตัดสินใจมาอ่านรวมเล่มด้วยกันค่ะ 🙂

Comments are closed.