อ่านแล้วเล่า

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

เรื่อง ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
ผู้แต่ง คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740212652

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือประวัติศาสตร์ไทย
แต่มันคือหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ การเมือง และการปกครองของไทย
ซึ่งถูกเขียนขึ้นจากผู้เขียนคู่สามีภรรยานักวิชาการสองคน
โดยสามี คริส เบเคอร์ เป็นชาวอังกฤษ และภรรยา ผาสุก พงษ์ไพจิตร ชาวไทย

การเขียนหนักสือเล่มนี้ครั้งแรกถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ
เพื่อใช้เป็นตำราเรียนให้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในเวลาต่อมา

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องของคำว่าชาติไทย –
ในนิยามต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งอดีต ก่อนที่ไทยจะรวมเป็นประเทศ
เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ชาติไทย คือเริ่มต้นเล่าอย่างจริงจังในสมัยอยุธยา
ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นการเล่าอย่างสรุปรวม ไปอย่างเร็วๆ
และเล่าทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิประเทศ และรูปแบบการปกครอง

หลายข้อมูลจากในเล่มนี้เป็นข้อมูลที่เราไม่เคยอ่านเจอมาก่อน
ทั้งๆ ที่ช่วงนี้ก็อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ติดต่อกันมาหลายเล่ม
อาจเป็นข้อมูลจากหนังสือเล่มที่เรายังไม่เคยอ่าน
หรืออาจเป็นข้อมูลจากบันทึกชาวต่างชาติ เป็นมุมมองจากชนชาติอื่นที่ได้บันทึกไว้
หลายตอน เป็นการสรุปผลผ่านวิจารณญาณของผู้เขียน

ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เล่าประวัติศาสตร์ไทยและภูมิภาคใกล้เคียง
ตั้งแต่ครั้งเริ่มตั้งชุมชนริมแม่น้ำ ก่อนสมัยสุโขทัย .. อย่างคร่าวๆ
ในช่วงนี้ผู้เขียนไม่ได้เล่าเรียงไทม์ไลน์ เล่าย้อนไปย้อนมาน่าเข้าใจผิด
มีการตีความในแบบที่เราไม่คุ้นเคย แปลกๆ ดี

การเล่าถึงประวัติศาสตร์ไทยในช่วงต้น ผู้เขียนเล่าไปอย่างเร็วๆ
อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในยุคก่อนเกิดขึ้นช้า
ต่อเมื่อคืบหน้ามาในยุคที่่ใกล้เคียงกับปัจจุบัน รายละเอียดก็เพิ่มมากขึ้น
ประวัติศาสตร์ไทยในช่วง 200 ปีล่าสุดนี้ถูกเล่าถึงอย่างเข้มข้น

สำหรับเรา เรามองว่า 
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เป็นหนังสือประวัติศาสร์ที่สรุปมาแล้ว
ผ่านการวิเคราะห์ตีความจากผู้เขียนมาแล้ว
ไม่ได้เป็นข้อมูลดิบ หรือเป็นบันทึกโดยตรงจากผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์
หนังสือที่ใช้อ้างอิง ก็ไม่ใช่หลักฐานบันทึกดั้งเดิม
เป็นเพียงหนังสือที่ถูกผู้เขียนยุคหลังๆ วิเคราะห์และเขียนขึ้นเช่นกัน

เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้ เราจึงรู้สึกแปลกๆ
หลายๆ มุมมองถูกมองจากมุมที่เราไม่คุ้นเคย
อ่านแล้วเกิดความรู้สึกตะหงิดๆ บ้าง เอะใจอยู่บ้าง
และอย่างที่เคยบอกตอนที่เราอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เล่มอื่นๆ
ว่าเราไม่ควรเชื่ออะไรร้อยเปอร์เซ็นต์
จงอ่านแล้วคิด วิเคราะห์ และเชื่อตามหลักเหตุผลที่คุณได้คิดวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว
ก็แม้แต่สิ่งที่บันทึกรายละเอียดตรงไปตรงมายังคลาดเคลื่อนเลยนี่นา

สำหรับเรา ประวัติศาสตร์นี่ขึ้นกับมุมมองเลยนะ
เรื่องเดียวกัน พอเปลี่ยนมุมมองก็กลายเป็นอีกเรื่องได้
อ่านหนังสือประวัติศาสตร์มากๆ มันสอนให้เรามองอะไรกว้างขึ้น
รู้จักเผื่อใจบ้างว่ายังมี “อื่นๆ อีกมากมาย” (เพลงเฉลียงขึ้น) ;P

สำหรับหนังสือเล่มนี้ เราเจอจุดที่ผิดบ้างเหมือนกัน .. ทั้งข้อมูลผิดและสะกดผิด
แต่เข้าใจว่าในการพิมพ์ใหม่ครั้งหลังๆ มานี้ ข้อมูลเหล่านี้น่าจะได้รับการแก้ไขบ้างแล้ว?

อย่างที่บอกไปก่อนแล้ว .. หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องไปตามไทม์ไลน์
ผู้เขียนย้อนเวลากลับไปกลับมาตามเรื่องที่เล่า
บางครั้งเล่าไปถึงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 แล้ว
แล้วก็ย้อนกลับมาพูดถึงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 อีก
ต้องตามดู พ.ศ.ที่พูดถึงดีๆ ไม่งั้นจะงง

การเล่าเรื่องโดยไม่เรียงไทม์ไลน์ทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน
เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นต่างรัชกาล
แต่เมื่อถูกนำมาเล่าต่อกัน
ก็อาจจะทำให้คนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์เข้าใจผิดได้

การเล่าเรื่องย้อนไปย้อนมา ทำให้เรามองไม่เห็นภาพรวม
นึกลำดับเหตุการณ์ และที่มาที่ไปของเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้
ผู้เขียนใช้ข้อมมูลที่ค้นคว้ามา สรุปให้เราอ่าน
โดยที่เราไม่ได้รับข้อมูลเหล่านั้นด้วย
ประวัติศาสตร์เล่มนี้จึงเป็นแต่เพียงประวัติศาสตร์ในทัศนะของผู้เขียน

ถึงจะอ่านไปอย่างติดขัดหลายประการ
แต่การอ่าน ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย
ก็ทำให้เราได้ตระหนักถ่องแท้เลยว่าการเมืองมันช่างวนลูป
เหตุการณ์มันช่างคุ้นเคย เดจาวู
ช่วงท้ายๆ ผู้เขียนได้ประมวลประวัติศาสตร์การเมือง
สังคม และวัฒนธรรมในยุคหลัง คือเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้
ซึ่งเป็นช่วงที่ยังหางานเขียนจดบันทึกไว้น้อยมาก
บันทึกเหตุการณ์ในช่วงหลังเดือนพฤษภาคม 2535
ผู้เขียนทำได้เข้มข้น เห็นภาพ .. 
อาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยอ่านสรุปเหตุการณ์เหล่านี้จากที่ไหนมาก่อน
ไม่มีภาพจำในหัว นอกจากประสบการณ์ที่เคยได้เกิดร่วมสมัยกับเหตุการณ์เหล่านี้เท่านั้น
(แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนักนะ)

หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราได้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์ชาติเราเอง
ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชาติไทย
ได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง การพัฒนา การเจริญเติบโตขึ้นของประเทศไทย
ทั้งทางวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความเชื่อ และทัศนคติต่างๆ

อ่านจบแล้ว เรานึกถึงแต่คำว่า “เสียดาย” และคำว่า “ถ้า..”
ประเทศไทยกำลังพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา
และกำลังพัฒนาต่อๆ ไปอย่างไม่หยุดยั้ง .. ตราบกระทั่งเราเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ผู้ปกครองยุคใหม่ เป็นคนที่ไม่เคยมีอำนาจอยู่ในมือ จัดการกับอำนาจไม่ถูก
พวกเขามัวแต่เสียเวลาไปกับเรื่องของตัวเอง
ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ
แล้วอำนาจก็ถูกเปลี่ยนมือไปยังคนที่ยังหลงมัวเมาในอำนาจ .. คนแล้วคนเล่า
ประเทศเราก็ค่อยๆ ดำดิ่งลงนับแต่บัดนั้น

ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองไปเป็นเช่นไร
สังคมไทยก็ยังเป็นเช่นเดิม
เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อนเลย .. มีแต่จะหนักข้อขึ้นไปเรื่อยๆ
เพราะปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้ถูกแก้ ..
และผู้ที่มีอำนาจแก้ ก็ไม่ได้อยากแก้ไขมัน

ถ้าครั้งนั้นเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างปุบปับ
หากเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
และการพัฒนาต่างๆ ไม่ได้หยุดชะงัก .. 
เราอยากจะลองมองเห็นประเทศไทยโลกเสมือนในมุมแบบนั้นสักครั้ง

เราเคยอ่านรีวิวหนังสือเล่มนี้ มาก่อนที่จะได้ลงมืออ่านเอง
รีวิวจากหลายนักอ่าน บอกเราว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดี
สนุก อ่านง่าย อ่านรวมเดียวจบ ฯลฯ
หลังจากอ่านเองจนจบ .. อยากจะกลับไปถามว่า
ไหนใครบอกว่าอ่านรวดเดียวจบอ่า .. คุณหลอกดาว!!

คุณผู้อ่านที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบลงง่ายๆ ..
ต้องเป็นมนุษย์สายการเมือง รัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์แน่ๆ

เราได้แค่ประวัติศาสตร์อย่างเดียว .. ซึ่งไม่รอด
ใช้เวลาอ่านปาเข้าไปสิบวัน ไปอย่างกระท่อนกระแท่น .. สุดเฮือกมากค่ะ

ในมุมมองของเราหลังอ่านจบ มีแต่เพียงว่า ..
หนังสืออะไรไม่รู้ ยิ่งอ่านยิ่งเกลียด
แต่มันก็ทำให้ความคิดกระโดดโลดแล่น บรรเจิดแจ่มจริงๆ เลย
หลังอ่านจบ ความคิดสองสามสี่กระแสตีกันอยู่ในหัวเลยค่ะ

 

Comments are closed.