อ่านแล้วเล่า

นางพญาหลวง

เรื่อง นางพญาหลวง
ผู้แต่ง กฤษณา อโศกสิน
สำนักพิมพ์ อักษรโสภณ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9749309227

เอาจริงๆ นี่ก็ไม่ใช่การรีวิวหนังสือนะ ..
มันคือการเล่าเรื่องย่อเลยแหละ!!
(ย่อแล้วจริงๆ นะ!)

ตอนที่เราเปิดมาเจอภาษาล้านนาโบราณขนานแท้
4 – 5 หน้าแรกนั้นแทบช็อกทีเดียวค่ะ
นึกว่าจะต้องเจอแบบนั้นไปทั้งเล่มเสียแล้ว
(ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ คงต้องเลิกอ่านไปก่อน >,<)
โชคยังดีที่พอพ้นช่วงนั้นมา สำนวนก็กลับคืนสู่สภาพที่พออ่านได้บ้าง
คือเป็นล้านนาฉบับเบาบาง แต่ก็ยังอ่านยากอยู่ดี
เพราะว่าเราจับเนื้อเรื่องไม่ติด ไม่เข้าใจ
ชั่งใจตัวเองอยู่พอสมควร ว่าจะเลิกอ่านดีมั๊ย
แต่ก็รู้ใจตัวเองอีกเช่นกันว่า ถ้าวางไป
โอกาสจะกลับมาอ่านใหม่นั้นน้อยนิดจนเป็นศูนย์แน่ๆ
คิดได้ดังนั้น .. ก็บอกตัวเองให้ก้มหน้าก้มตาอ่านมันต่อไปเสียเถอะ!

เมื่อตั้งใจว่าจะอ่านมันแน่ๆ ก็ต้องหาวิธีที่จะอ่านมันให้รอด
ซึ่งเราใช้วิธีเสิร์ชประวัติศาสตร์ช่วงนั้นจากกูเกิ้ลก่อนค่ะ
อ่านคร่าวๆ พอจับใจความได้
แล้วค่อยมาอ่านประเด็นที่ผู้เขียนต้องการจะเล่าจากในหนังสือ
ไปอย่างช้าๆ และก็เริ่มทำความเข้าใจเนื้อเรื่องไปด้วย
เมื่อมีหลักให้จับ เราก็เริ่มชินกับภาษาไปเอง 
แล้วพบอีกด้วยว่า จริงๆ แล้วมันก็ไม่ยากเท่าที่คิดกลัวแต่แรก

นางพญาหลวง เล่าประวัติศาสตร์ล้านนา (เชียงใหม่)
เล่าถึงกษัตริย์องค์ท้ายๆ แห่งราชวงศ์มังราย

ในช่วงปี พ.ศ. 2000 นิดๆ
ก่อนที่พระนางจิรประภามหาเทวีจะทรงครองนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2088 – 2089)

ผู้เขียนเริ่มต้นเรื่องด้วยการยกบทบันทึกประวัติศาสตร์ภาษาโบราณ
ซึ่งเท้าความถึงพระญาติโลก (พระญาลก) (พระเจ้าติโลกราช)
(กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 10 (บางแหล่งว่า 9) แห่งราชวงศ์มังราย)
ทรงมีโอรสคือท้าวสรีบุญเรือง (ท้าวบุญเรือง) ได้ครองเมืองเชียงราย
ก่อนจะถูกส่งไปไว้ที่ เมืองน้อย ในภายหลัง
ท้าวบุญเรือง มีลูกชายคนหนึ่ง คือท้าวยอดเชียงราย (พญายอดเชียงราย)
พระญายอด ผู้นี้ มีราชเทวีคนหนึ่งชื่อนางป่งน้อย (อโนชามหาเทวี)
มีโอรสด้วยกันหนึ่งองค์ คือ เจ้ารัตตนราชบุตร
กับมีลูกเลี้ยงชาวฮ่อ (จีนยูนนาน) อีกคนหนึ่งชื่อ เพลสลัง
พระญายอดรักลูกเลี้ยงมากกว่าลูกตนเสียจนเหล่าเสนาอามาจจ์ไม่พอใจ
จึงร่วมมือกันปลดพระญายอดลง ส่งไปไว้ที่ เมืองน้อย (อีกแล้ว)

(จริงๆ แล้วคือไปไว้ที่ เมืองซะมาด ซึ่งเป็นคนละเมืองกับเมืองน้อย
เมืองซะมาดเป็นชุมชนเล็กๆ แทบไม่เป็นเมือง ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองน้อย
และบางทีก็เรียกซะมาดเมืองน้อยไปเสียเลย หมดเรื่องหมดราว)

จากนั้นเหล่าเสนาฯ ก็อุสสาภิเสกเจ้ารัตตนบุตร (14 ชันษา) (พ.ศ. 2038) ขึ้นเป็นกษัตริย์
ปรากฎชื่อว่า ภูตาธิปติราชะ (พระญาแก้ว) (พญาแก้ว)
ส่วนพระญายอดที่เมืองน้อย ก็มีชีวิตอยู่ต่อมาอีก 10 ปี
ก่อนสุรคุตลงที่เมืองน้อย

นั่นคือความยากแรกที่เราผ่านไปแล้ว
แล้วต่อจากบทบันทึกประวัติศาสตร์อันยืดยาว
ผู้เขียนก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดซ้ำอีกครั้งด้วยภาษาที่ง่ายกว่าเดิม

ผู้เขียนเปิดเรื่องในตอนที่ พระญายอดเชียงราย
ทรงถูกเหล่าอำมาตย์ปลดออกจากราชสมบัติ
และให้ไปประทับที่เมืองซะมาด
จากนั้น ก็สถาปนา เจ้ารัตนราชบุตร
(พระเป็นเจ้าภูตาธิปติราช) (พระเมืองแก้ว) (พญาแก้ว) (พระชนมายุ 14 ชันษา)
ขึ้นครองราชธานี สืบสันตติวงศ์ ร่วมกับ พระอัครราชมาตา พระมหาราชเทวีเจ้า
ซึ่งก็คือพระราชเทวีในพระยายอดเชียงราย อโนชามหาเทวี (สิริยสวดี)
เรียกกันว่า พระเจ้าสองพระองค์ หรือ พระเป็นเจ้าแม่ลูกทั้งสอง
(คือปลดพ่อแล้วตั้งลูกกับแม่ขึ้นเป็นกษัตริย์)

เวลาผ่านไป 18 ปี
อโนชามหาเทวี พระชันษาย่าง 50 จากเจ้าตนแม่กลายเป็นเจ้าตนย่า
พญาแก้ว ครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 14 จนตอนนี้ล่วงเข้า 32 ชันษา
พระเมืองอ้าย ราชบุตรองค์ใหญ่ของพญาแก้ว วัย 17

พระเมืองอ้ายหมายปองปฏิพัทธ์ เจ้านางรุ่งนานฟ้า
ผู้เป็นเจ้าเย (ลูกสาวคนโต) ของหมื่นหนังสือ (อาลักษณ์)
นาม พญาเจ้าเจงวัน กับนางคำอิ่งภริยา
พญาเจ้าเจงวันผู้นี้รับราชการอยู่ที่เมืองซะมาด
พระเมืองอ้ายจึงต้องเทียวไปเทียวมาอยู่สองเมือง เพื่อมาจีบเจ้านางรุ่งนานฟ้า

แล้วในที่สุดพระเมืองอ้าย ก็ได้อภิเษกกับเจ้าเย (เจ้านางรุ่งนานฟ้า)
กินเมืองน้อย เป็นการฝึกการปกครองก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ (ล้านนา)
พร้อมทั้งเฉลิมพระนามและครองยศ พระเมืองอ้าย ใหม่ว่า พระญาเกส (18 ชันษา)
จากนั้นไม่นาน เจ้านางรุ่งนานฟ้าก็ให้กำเนิดโอรสองค์แรก นามว่า เจ้าซายคำ
และถัดมาอีกไม่นาน เจ้านางก็ให้กำเนิดโอรสองค์ที่สอง นามว่า เจ้าจอมเมือง
และคลอดธิดาเป็นคนสุดท้อง นามว่า เจ้าหญิงยอดคำทิพย์

ในปี จ.ศ. 887 (เทียบเป็นปี พ.ศ. ด้วยการบวก 1181 เช่น จ.ศ. 887 = พ.ศ. 2068)
พญาแก้วประชวรหนัก และสุรคุตลงในที่สุด
ขบวนเสนามาตย์ราชบริพารก็เชิญเสด็จ พระญาเกส (30 พรรษา)
พร้อมด้วยชายา โอรสธิดา เข้าสู่หอหลวงกลางเวียง นั่งเมืองเชียงใหม่
และถวายพระนามว่า พระเมืองเกษเกล้า เจ้านครพิงค์เชียงใหม่
แล้วทรงสถาปนา เจ้านางรุ่งนานฟ้า เป็นที่พระอัครมเหสี
ทรงพระนาม พระนางจิรประภาเทวี

พระเมืองเกษเกล้านี้ครองเมืองน้อยมาเนิ่นนานถึง 12 ปี
เมื่อกลับมายังเมืองเชียงใหม่ เหล่าเสนาอำมาตย์ที่คุ้นเคยก็เปลี่ยนหน้าไป
นอกจากนั้นแล้ว โอรสธิดาที่เติบโตขึ้น ก็มีความน่าเป็นห่วงแตกต่างกันออกไป
โดยเจ้าซายคำ โอรสองค์โตนั้น ฤทธิ์มาก มีนิสัยเกกมะเหรกเกเร
ทั้งแอบกินเหล้า เล่นพนัน นอนกับหญิงไม่เลือกหน้า
เที่ยวเตร่ และรีดไถชาวบ้าน ทำอำนาจบาตรใหญ่ ไม่เอางานเอาการใดๆ
ส่วนเจ้าจอมเมือง ก็อ่อนแอ เชื่องช้า เซื่องซึม
มีเพียงแต่เจ้าหญิงยอดคำทิพย์ ซึ่งอ่อนหวาน และเป็นที่รักของทุกคน

ในขณะนั้น ณ อาณาจักรล้านช้าง มีกษัตริย์หนุ่มวัย 27 พรรษา
นามว่า สมเด็จพระโพธิสารราชเจ้า ปกครองอยู่
กษัตริย์พระองค์นี้ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 19 พรรษา
ทรงเป็นราชโอรสของสมเด็จพระวิชุลราชเจ้า
และกษัตริย์หนุ่มแห่งล้านช้างผู้นี้เอง
ที่ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงยอดคำทิพย์ แห่งล้านนา
ทรงสถาปนาเจ้าหญิงขึ้นเป็นอัครมเหสีเจ้าเหนือหัวแห่งล้านช้าง
ทรงพระนาม พระนางยอดคำทิพย์

เมื่อถึงปี จ.ศ. 896 (พ.ศ. 2077)
มหาเทวีอโนชา (เจ้าตนย่าของพระเมืองเกษ) ก็สุรคุต
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าซายคำ โอรสเกเรของพระเมืองเกษ
ก็ร่วมมือกับเสนาอามาจจ์ทำขบถ ชิงบัลลังก์จากพ่อตนเอง
โดยปลงพระเมืองเกษลงจากราชสมบัติ แล้วส่งไปไว้เมืองน้อย (อีกแล้วและอีกแล้ว)
ในการเสด็จครั้งนี้ ได้มีพระมเหสี (พระนางจิรประภาเทวี)
และโอรสองค์ที่สอง .. (เจ้าจอมเมือง) กับครอบครัวของเจ้าจอมเมือง
(อันมีนางในหนึ่ง และลูกชายหญิงอีกสองคน)โดยเสด็จไปด้วย

เจ้าซายคำ ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระเมืองเกษในปี พ.ศ. 2081
ทรงพระนาม พระญาซายคำ เจ้านครพิงค์เชียงใหม่

ระหว่างนั้น พระนางยอดคำทิพย์ มเหสีพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง)
ได้ประสูติพระโอรส ทรงพระนาม เจ้าเชษฐวังโส

พระญาซายคำนั้น แม้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ยังไม่ละนิสัยเดิม
สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านและเหล่าเสนาอามาจจ์
จึงถูกเหล่าขุนนางลอบปลงพระชนม์ลงในวันหนึ่ง
(เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี) (พระชนมมายุ 28 พรรษา)
แล้วเหล่าเสนาฯ จึงย้อนกลับมาอัญเชิญพระเมืองเกษเกล้ากลับไปนั่งบัลลังก์อีกครั้ง
ในเวลานั้น พระเมืองเกษไม่ทรงวางพระทัยในอำมาตย์ราชบริพารคนใดอีกต่อไป
บรรยากาศการปกครองเต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจต่อกันและกัน
กษัตริย์ทรงมีจิตใจไม่มั่นคง ตัดสินความไม่เด็ดขาด ไม่เที่ยงธรรม
ขุนนางก็เริ่มแตกแยกออกเป็นฝ่ายต่างๆ ไม่สามัคคีปรองดอง และเริ่มกระด้างกระเดื่อง
ในที่สุด เมื่อครองราชย์ต่อกันมาได้ 2 ปี
พระเมืองเกษเกล้าก็ถูกขุนนางกลุ่มหนึ่งปลงพระชนม์
เมืองเชียงใหม่ก็ว่างกษัตริย์ลงในทันที
ขุนนางที่แตกแยกออกเป็นฝ่ายต่างๆ ก็ออกเสาะหาผู้ที่เหมาะสมมาเป็นกษัตริย์

กลุ่มของ แสนคราว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลอบปลงพระชนม์พระเมืองเกษเกล้า
พยายามอัญเชิญพระญาเขมรัฐ (เชียงตุง) ให้มาครองเชียงใหม่ แต่ทรงปฏิเสธ
จึงอัญเชิญเจ้าฟ้าเมืองนายมาแทน

ฝ่ายเจ้าหมื่นสามล้านอ้าย เจ้าเมืองนคอร, กับหมื่นแก้ว เจ้าเมืองเชียงราย,
หมื่นมณี เจ้าเมืองเชียงแสน, หมื่นยี่ เจ้าหมื่นพาน, และหมื่นหนังสือหลวง
และขุนนางอีกเป็นจำนวนมาก ที่ภักดีต่อราชวงศ์มังราย
รวมกันประชุมที่เมืองเชียงแสน เรียกกันว่า กลุ่มเชียงแสน
ตกลงกันว่าจะไปเฝ้า พระเจ้าโพธิสารราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง
(ที่เชียงใหม่เคยส่งเจ้าหญิงยอดคำทิพย์
ธิดาของพระเมืองเกษเกล้า กับพระนางจิรประภาเทวี
ไปอภิเษกกับพระองค์ .. บัดนี้มีโอรสหนึ่งพระองค์
ทรงพระนามเจ้าเชษฐวังโส หรือ พระอุปโยวราชล้านช้าง)
เพื่อขอพระอุปโยวราชล้านช้างมาเป็นเจ้าเชียงใหม่ สืบพระวงศ์ต่อไป

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีกลุ่มที่สามเกิดขึ้น
เมื่อเมืองแสนหวีได้ข่าวความวุ่นวายในเมืองเชียงใหม่
จึงให้ หมื่นหัวเคียน ยกรี้พลมาเพื่อเอาตัวแสนคราว
เกิดการสู้รบระหว่างสองฝ่ายถึงสามวันสามคืน แต่ก็ไม่รู้ผล
หมื่นหัวเคียนจึงส่งหนังสือไปยังกรุงศรีอยุธยา
เพื่อขอให้ส่งกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่
(ในขณะนั้นอยู่ในรัชสมัยของ สมเด็จพระไชยราชาธิราช)

ระหว่างที่ทางกรุงศรีอยุธยายังยกทัพมาไม่ถึงนั้น
เหล่าขุนนางกลุ่มเชียงแสน ก็สามารถกุมตัวแสนคราวและพวกได้
และประหารชีวิตลงเสียทั้งหมด
แล้วจึงอัญเชิญพระนางจิรประภาเทวีขึ้นครองเมืองเชียงใหม่
(พระชนมายุ 45 – 46 พรรษา)
(ระหว่างรอเจ้าหลาน พระอุปโยวราชล้านช้าง)

และในตอนนั้นเอง
ที่ทัพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช จากอยุธยาก็ยกมาถึง
พระนางจิรประภาจึงต้องออกไปรับทัพด้วยความละมุนละม่อม
ยอมตกลงจะส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

หากแต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด
เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพกลับ
เจ้าฟ้าเมืองยองห้วย และเจ้าฟ้าเมืองนาย ก็ยกทัพมาประชิด
หากแต่ไม่สามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ

หนำซ้ำยังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ทำให้ยอดเจดีย์หลวง และเจดีย์วัดพระสิงห์ หักพังลงมา
พร้อมเจดีย์องค์อื่นอีกหลายแห่ง

และแล้ว เจ้าหลาน (เจ้าเชษฐวังโส) (พระชนม์ 12 ชันษา)
ก็เดินทางจากล้านช้างมาถึงเมืองเชียงใหม่
ข่าวทัพล้านช้างที่ยกมาถึงเมืองเชียงใหม่พร้อมกับพระเจ้าหลานนั้น
สร้างความไม่พอพระทัยให้กับสมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา
พระองค์จึงยกทัพย้อนกลับมาอีกครั้ง หมายจะตีหักเอาเมืองเชียงใหม่ให้ได้
และระหว่างที่รบกันอยู่นั้นเอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาก็ถูกอาวุธปืนสาหัส
(แล้วก็กลับไปสิ้นพระชนม์ที่อยุธยาตามประวัติศาสตร์
แล้วก็เป็นยุคของแม่หยัวเมืองศรีสุดาจันทร์ (สมเด็จพระยอดฟ้า),
ขุนวรวงศาธิราช, พระเฑียรราชา, พระมหินทราธิราช, ฯลฯ
ที่เราเสียกรุงครั้งที่ 1 ให้แก่บุเรงนอง ก่อนที่พระนเรศวรจะทรงกู้เมืองคืนมา)

เมื่อศึกจากอยุธยาสงบลง ก็ถึงคราได้ทำพิธีอุสสาภิเสก
พระเจ้าหลานจากล้านช้าง (เจ้าเชษฐวังโส) ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์เสียที
ทรงพระนาม พระไชยเชษฐา (สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช)
พร้อมกันนั้น ได้อภิเษกอีกสองเจ้าหลานพี่น้อง ธิดาเจ้าซายคำ
คือเจ้าหญิงตนทิพ แลเจ้าหญิงตนคำ (พระชนม์ 10 และ 11 ชันษา)
เป็นเจ้าตนทิพ แลเจ้าตนคำ อัครมเหสีฝ่ายขวา แลฝ่ายซ้าย

ในเวลาต่อมา สมเด็จพระโพธิสารราชเจ้า
(กษัตริย์ล้านช้าง พระราชบิดาในพระไชยเชษฐา แห่งเชียงใหม่)
ก็ทรงถูกช้างล้มทับขณะทำพิธีคล้องช้าง สุรคตลง
สมเด็จพระโพธิสาราชเจ้านั้น มีมเหสี และพระสนมคนสำคัญทั้งหมด 3 องค์
คือพระมเหสีพระนางยอดคำทิพย์ จากเมืองเชียงใหม่,
มเหสีฝ่ายซ้าย ราชธิดาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (?)
และพระสนมเอก ผู้เป็นธิดาของพระญาขวาเทพา
(เสนาผู้ใหญ่ที่กุมกำลังผู้คนจำนวนหนึ่ง)
เมื่อสมเด็จพระโพธิสารราชเจ้าสุรคุตลง
ล้านช้างจึงแตกออกเป็นสองฝ่าย
คือฝ่ายของ เจ้าล้านช้าง โอรสที่เกิดกับมเหสีฝ่ายซ้าย (อยุธยา)
แลฝ่ายของ เจ้าวรวังโส (เจ้าท่าเรือ) โอรสที่เกิดกับสนมเอก ที่มีกำลังทหาร
เลยเถิดไปถึงขั้นที่ทั้งสองฝ่ายจะแบ่งล้านช้างออกเป็นสองส่วน
เหล่าขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระนางยอดคำทิพย์ และไม่อยากให้ล้านช้างแตกแยก
จึงตัดสินใจเชิญเสด็จ พระไชยเชษฐาเจ้า
จากเชียงใหม่กลับมาครองล้านช้าง เพื่อยุติปัญหาทั้งปวง

ในการกลับมายังล้านช้างในครั้งนี้
พระนางจิรประภาเทวี โดยเสด็จมาด้วยพร้อมกัน นอกจากนี้ ..
พระไชยเชษฐาได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต (พระแก้วบอระกต) (พระรัตนปฏิมา),
พระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์), พระแซกคำ, แลพระบุศยรัตน์ ไปพร้อมพระองค์
ผู้เขียนได้แทรกประวัติของพระแก้วมรกต และพระพุทธสิหิงค์
มาพร้อมกับเรื่องราวในตอนนี้ด้วย

พระไชยเชษฐา ทรงเข้าพิธีราชาภิเษก เสวยราชย์เป็นกษัตริย์ของล้านช้าง
ทรงพระนาม พระอุภัยภูธรบวรไชยเชษฐาไตรภูวนาถาธิปัติศรีศัตนาคนหุต
ทรงแต่งตั้งพระอนุชา พระเจ้าวรวังโส เป็นพระมหาอุปราช

แล้วเชียงใหม่ก็ว่างกษัตริย์ลงอีกครั้ง
เหล่าขุนนางได้ตกลงกันว่าจะเชิญ พระเมกุฏิ เมืองนาย มานั่งบัลลังก์เชียงใหม่
เพราะทรงเป็นเชื้อสายขุนเครือราชบุตรพระญาเมงราย
ทรงเฉลิมพระนาม พระเจ้าสุทธิวงษ์ดำรงนครเชียงใหม่
ซึ่งการกระทำในครั้งนี้ ทำให้พระไชยเชษฐาทรงพิโรธ
จึงยกทัพไปยังเชียงใหม่ หมายจะชิงเมืองคืน

การที่ พระไชยเชษฐา พยายามชิงเมืองเชียงใหม่คืนนี้
เกิดขึ้นยาวนาน รบกันหลายยก
แต่สุดท้าย เชียงใหม่ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (หงสาวดี) ไปในที่สุด
และแม้แต่ล้านช้างเอง ก็กลายเป็นของพม่าไปในเวลาต่อมา
(และแม้แต่อยุธยาเอง ก็ยังตกเป็นของพม่าไปด้วยเช่นกัน)
(ในยุคสมัยของพระเจ้าสิบทิศ บุเรงนองนั้นแล)
ราชวงศ์มังราย จึงสิ้นสุดลงในตอนนี้
แล้วเรื่องทั้งหมดก็จบลงด้วยประการประมาณนี้แล ..

สรุปลำดับการครองราชย์ของกษัตริย์ล้านนาที่ถูกเล่าถึงในเล่มนี้
คือเริ่มต้นเล่าจากพระเจ้าติโลกราช มาเป็นพระญายอดเชียงราย,
พระญาแก้ว, พระเมืองเกษเกล้า, พระญาซายคำ, พระเมืองเกษเกล้า (อีกครั้ง),
พระนางจิรประภาเทวี, พระไชยเชษฐา, พระเมกุฏิ,
และปิดท้ายด้วยราชเทวีเชื้อสายราชวงศ์มังราย พระนามว่า พระวิสุทธิเทวี
เป็นกษัตรีปกครองเชียงใหม่ภายใต้อำนาจของหงสาวดี

ทีแรกตั้งใจจะเล่าเรื่องย่อ
แต่เล่าไปเล่ามา ก็เล่าเสียหมดทั้งเรื่องเลย
ด้วยความที่ผู้เขียนเล่าประวัติศาสตร์แท้แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์
ไม่ได้แทรกความเห็นส่วนตัว หรือจินตนาการอื่นๆ ลงไปเท่าไร
มีเพียงบทสนทนา ที่ก็กลืนตามไปกับเนื้อเรื่องด้วยดี
จึงไม่มีเรื่องราวสลับซับซ้อนให้ต้องระวังสปอยล์ใดๆ
เราจึงขอใช้พื้นที่ตรงนี้ จดบันทึกการอ่านของตัวเองไปด้วย
เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นที่ไม่ได้อ่านเล่มนี้
หรือเป็นแรงบันดาลใจให้ใครบางคนอยากอ่านเล่มนี้
และต่อตัวเราเองที่อาจจะหลงลืมเรื่องราวในภายหลังด้วย

นางพญาหลวง เป็นหนังสือเล่าประวัติศาสตร์แท้ๆ เพียวๆ เลย
แต่ก็เป็นประวัติศาสตร์ในแง่มุมทีเราไม่เคยรู้มาก่อน
แถมยังมีค่านิยมที่แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคยอยู่
จึงรู้สึกว่าแปลกดี และอ่านสนุกดี (ถ้าไม่นับภาษาที่ยากมากนะ ;P)

ผู้เขียน (น่าจะ) ตั้งใจสดุดีพระเกียรติคุณกษัตริยาล้านนา
ไม่เฉพาะแต่พระนางจิรประภาเทวีนะ
แต่รวมไปถึงเจ้านายฝ่ายหญิงองค์อื่นๆ
(ความเห็นส่วนตัว นอกจากเล่าประวัติศาสตร์ล้านนาแล้ว
เราว่าผู้เขียนเน้นย้ำไปที่กรณียกิจของเจ้านายฝ่ายหญิงเป็นพิเศษนะ)
ผู้อ่านจะได้เห็นคุณงามความดี และพระสติปัญญา
ของพระนางอโนชามหาเทวี พระชายาในพระยายอดเชียงราย
ที่เฝ้าอบรมบ่มเพาะกษัตริย์
สอนเรื่องการปกครอง ทั้งปกครองบ้านเมืองและปกครองผู้คน
สอนเรื่องการทำนุบำรุงศาสนา สอนเรื่องการซื้อใจผู้คนภายใต้การปกครอง
ฯลฯ
แก่กษัตริย์ผู้เป็นลูก เป็นหลาน รวมไปถึงพระสุณิสา (ลูกสะใภ้)
(ซึ่งก็คือนางจิรประภาเทวี)

เราได้เห็นพระราชกรณียกิจกษัตริย์ล้านนา
โดยเน้นไปที่กรณียกิจด้านการศาสนา
การทำนุบำรุงวัด การสร้างเจดีย์ และศาสนสถานต่างๆ
เรื่องการศึกสงคราม มาเข้มข้นเอาในช่วงท้ายๆ

ประวัติศาสตร์ล้านนาโบราณเหล่านี้
แม้จะมีบันทึกเอาไว้หลายที่
แต่ข้อมูลทั้งหมดก็ยังไม่ได้ถูกชำระสะสางไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
บันทึกจากในหนังสือเล่มนี้, เรื่องราวที่ผู้เขียนเล่า
รวมทั้งเรื่องราวต่างๆ ที่เราได้เสิร์ชมา ข้อมูลลักลั่นกันไปหมด
โดยเฉพาะในวิกิพีเดียนี่มั่วมาก งงมาก
เพราะในที่หนึ่งเล่าเอาไว้อย่างหนึ่ง พออีกที ก็เล่าไม่เหมือนเดิม
ยกตัวอย่างเช่น ปีที่พระญายอดเชียงรายขึ้นครองราชย์
บางที่เขียนว่า 13 ชันษา บางที่เขียน 14 ชันษา และบางที่ก็เขียน 15 ชันษา
นอกจากนี้ ยังมีการสลับลำดับพ่อลูก รวมทั้งพระราชเทวี
ยกตัวอย่างเช่น บางที่เขียนว่า ..
พระเมืองเกษเกล้า เป็นพระโอรสในพญาแก้วกับพระนางจิรประภาเทวี
(จริงๆ แล้วพระเมืองเกษ อภิเษกกับพระนางจิรประภาเทวี)
แต่บางที่ก็เขียนถูกต้องตรงกับในหนังสือ ..
สลับๆ กันไป และมันก็จะงงๆ หน่อย

มีข้อหนึ่งที่เราไม่ค่อยเข้าใจธรรมเนียมการปกครองของล้านนาโบราณสักเท่าไร
คือการที่กษัตริย์หลายพระองค์ ถูกเสนาอำมาตย์ปลงลงจากราชสมบัติ
และเนรเทศไปไว้ที่เมืองน้อย
ท้าวบุญเรือง ราชโอรสในพระเจ้าติโลกราชก็หนึ่ง
พระญายอดเชียงรายอีกหนึ่ง พระญาเกษเกล้าก็ด้วย

เรานึกภาพไม่ออกว่าทำไมกษัตริย์เชียงใหม่ – 
ถึงให้อำนาจเหล่าอำมาตย์ราชบริพารมากมายขนาดนั้น
ข้าราชบริพารสามารถปลดกษัตริย์ หรือแต่งตั้งกษัตริย์ได้ตามอำเภอใจ
ปลดแล้วก็ไม่ได้ฆ่าแกง แต่เนรเทศไปไว้ที่เมืองเล็กๆ อีกเมืองหนึ่ง
องค์แล้วองค์แล้ว แล้วก็ยอมต่อๆ กันมา
บางคราก็กลับไปอัญเชิญองค์ที่ถูกเนรเทศไป กลับมาเป็นกษัตริย์
แล้วก็ฆ่าทิ้งเสียภายหลัง
แล้วก็ตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป
ทำไมต้องทำให้ลำบากขนาดนั้น
ทำไมเหล่าขุนนางไม่ฆ่ากษัตริย์พระองค์นั้นทิ้งแต่แรก
แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์เสียเอง จบเรื่องไป

ซึ่งเมื่อมาคิดดูดีๆ แล้ว
เราคิดว่ามันน่าจะต้องมีรายละเอียดซับซ้อนมากกว่านี้
มีเล่ห์กลนอกในทางการเมืองอะไรสักอย่างที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้
และผู้เขียนก็ไม่ได้ใส่จินตนาการของตนลงไป
ปล่อยพื้นที่ว่างๆ เอาไว้ให้ผู้อ่านงงๆ หรือนั่งคิดสมมติฐานเองเล่นเอาเอง

นอกจากนี้ ยังมีค่านิยมอีกหลายอย่าง ที่เราไม่ค่อยชิน หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน
หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำๆ จนอดคิดไม่ได้
ว่าเป็นค่านิยม หรือเป็นการผิดพลาดในการจดบันทึกประวัติศาสตร์กันแน่?
อาทิเช่น กษัตริย์หลายพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อตอนที่มีพระชนมายุ 14 ชันษา
เช่น เจ้าแสนเมืองมา เจ้าปู่ของพระเจ้าติโลกราช
พญาแก้ว พระราชโอรสของพระยายอดเชียงราย
หรือแม้แต่พระไชยเชษฐา (ในตอนที่ขึ้นครองเชียงใหม่)

หรืออย่างการมีพระเจ้าแม่ลูกหลายคู่ อาทิเช่น
พระเจ้าติโลกราช กับพระราชมาตา แม่พระพิลก
พระญาแก้ว กับพระราชมาตา พระนางอโนชามหาเทวี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความสับสนในการเทียบรัชกาล
ระหว่างเจ้าเมืองเชียงใหม่ กับกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาอยู่นิดหน่อย
ตอนหนึ่งในหนังสือบรรยายว่า ..
ในช่วงที่พญาแก้ว และพระเมืองเกษเกล้าครองเมืองเชียงใหม่นี้
เทียบได้กับรัชสมัยของพระอาทิตยวงศ์ ของอยุธยา
หนังสือลงเชิงอรรถอ้างถึงพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร์
ซึ่งอ่านต่อๆ มา จะเรียกว่า สมเด็จเจ้าอาทิตยวงศ์ รือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4
ซึ่งจริงๆ แล้ว สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 นั้นคือหน่อพุทธางกูร ต่างหาก
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 นั้น พระนามเดิมว่า พระอาทิตยเจ้า
ซึ่งเป็นคนละพระองค์กับ สมเด็จพระอาทิตยวงศ์ (ครองราชย์ถัดมาอีกเป็นร้อยปี)

เรามามั่นใจอีกครั้งตอนที่เล่าว่า สมเด็จเจ้าอาทิตยวงศ์ สวรรคต
และพระรัษฎาธิราช พระชนมายุ 5 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์!

แล้วก็เล่าถึงรัชสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช
ที่ยกทัพมาตีเชียงใหม่ในตอนที่พระนางจิรประภานั่งเมือง
เรียงลำดับการครองราชย์ของอยุธยาได้ลงตัว

ดังนั้น สมเด็จเจ้าอาทิตยวงศ์นั้น จึงต้องหมายถึงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 จริงๆ
ขอบคุณท่านมุ้ย การที่เราได้ดูสุริโยทัยนั้น
ช่วยให้เราเรียงประวัติศาสตร์ได้ขึ้นใจง่ายกว่าเดิมจริงๆ)

โดยส่วนตัว เรามองว่าเชิงอรรถในเล่มนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร
คำยากๆ ไม่ค่อยอธิบาย แต่คำง่ายๆ ใส่มาให้อ่านสะดุดตลอด
มีบางที่บางจุดเท่านั้นที่่จำเป็นจริงๆ

กับหนังสือ นางพญาหลวง เล่มนี้
ถ้าถามว่าสนุกมั๊ย ก็ต้องตอบว่าสนุกดี แม้จะอ่านยากไปสักหน่อย
ถ้าถามว่าจะหยิบมาอ่านอีกมั๊ย ..
ก็เป็นไปได้ แต่คงต้องทิ้งช่วงนานๆ หน่อย
แต่ถ้าอยากรู้เรื่อง คงกลับมาอ่านในรีวิวนี้ก่อนมากกว่า ^^”
ก็ประมาณนี้แหละ ทั้งหมดที่เราได้รับ และรู้สึก
จากการอ่าน นางพญาหลวง เล่มนี้

 

Comments are closed.