อ่านแล้วเล่า

ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้

เรื่อง ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้
ผู้แต่ง นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
สำนักพิมพ์ ศยาม
เลขมาตรฐานหนังสือ 9747235242

ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้ เล่าถึงวิถีชีวิตไทยสมัยก่อน
โดยที่ผู้เขียนสืบเสาะค้นคว้าหาข้อมูลไทยโบราณที่ใกล้จะดับสูญ
ผ่านตัวบุคคลผู้รู้จริง เพราะมันเป็นอาชีพ เป็นความรัก เป็นชีวิต
เป็นสิ่งที่ผูกพันกับพวกเขามาตั้งแต่เด็กเล็กจนเติบใหญ่กลายเป็นครูบา
มีลูกศิษย์สืบต่อบ้าง และกำลังจะดับสูญไปกับตัวเขาเองบ้าง
อาชีพที่ว่านี้มีทั้งหมอตำแย, ช่างปลูกเรือนไทยโบราณ,
ครูฝึกลิง, ช่างปูนปั้น, ความรู้เรื่องลมของชาวประมง,
พิธีกรรมของนายหนังผู้เชิดหนังตะลุง ฯลฯ

ทั้งที่เป็นหนังสือที่น่าจะอ่านได้สนุก เพราะเป็นแนวที่เราชอบ
แต่กลับมีหลายส่วนที่เราอ่านแล้วตะหงิดๆ ในใจ
ยกตัวอย่างในกรณีที่ผู้เขียนอธิบายถึงภาพจิตกรรมฝาผนังไทยโบราณ
ว่ามักเป็นภาพสองมิติ แบนราบ และมีขนาดสัดส่วนไม่สมจริงนั้น
เป็นเพราะคนไทยมองภาพเหล่านั้นด้วยใจ

หรือการที่คนไทยแบ่งแยกประเภทสัตว์ต่างๆ ไม่ละเอียดเหมือนคนฝั่งยุโรป
เป็นเพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของไทย

และแม้แต่ตรรกะที่ว่าด้วยความเป็นเพศชาย
เพศหญิง และเพศที่สาม ในสมัยโบราณ เปรียบเทียบกับสมัยนี้ในหลายข้อ

ทั้งหมดสามเรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้ ..
เราว่ามันเป็นการให้ตรรกะที่เอาแต่ใจไปหน่อย
อ่านแล้วรู้สึกไม่สุดอยู่หลายจุด
เพราะกลุ่มตัวอย่างมีน้อยจนเราคิดว่าไม่ควรด่วนสรุปไปก่อน

และในระหว่างที่ตรรกะยังไม่ชัดเจนนี้เอง
ผู้เขียนได้ยกย่องภูมิปัญญาความรู้แต่โบราณ
พร้อมทั้งดูถูกความรู้อันตื้นเขิน หยาบกระด้างของสังคมสมัยใหม่
ซึ่งเรามองว่ามันเป็นการตัดสินความผิดถูกเกินไป
โดยที่คนอ่านยังไม่ถ่องแท้ทั้งสองด้าน แต่ถูกชักจูงให้ตัดสินไปแล้ว

ถ้ามองในแง่ดี ก็ยังนับได้ว่า ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้ เล่มนี้ 
เปิดโอกาสให้เราได้เปิดใจมองโลกในอีกแง่
เป็นแง่เราเคยมองมาก่อน ผ่านมันมาก่อน แต่หลงลืมมันไปแล้ว
ทำให้เราได้ฉุกคิด ได้ทบทวน ว่าเราควรเลือกอยู่ในโลกไหนกันแน่
ส่วนคำตอบ ควรเป็นไปตามวิจารณญาณของผู้อ่าน
ของใครของมัน .. และย้ำอีกครั้งว่าเราไม่ควรตัดสินกัน

มีอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นตอนที่อ่านแล้วหายใจไม่ทั่วท้องเอาเสียเลย
มันคือตอนที่ว่าด้วยเรื่องตาลโตนด
ซึ่งเราอ่านแล้วรู้สึกโหวงๆ .. เสียดายอะไรก็บอกไม่ถูก
ผู้เขียนเล่าโยงใยไปถึงประวัติศาสตร์การคอร์รัปชั่น
ซึ่งอ่านแล้วมันช่างจี๊ดใจดีเหลือเกิน
คนไทยเราคอรัปชั่นกันมานานเกินกว่าที่เราจะนึก
คือมีมาตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น
(และจริงๆ แล้วอาจมีมาก่อนหน้านั้น)
มันฝังรากลึกมากับสังคมไทยมานานมาก
จนเรานึกหาทางแก้ไม่ออก
มันไม่ได้เพิ่งมี เพียงแต่เราเพิ่งรู้ต่างหาก

พูดโดยรวม หนังสือเล่มนี้มีทั้งส่วนที่เราชอบ และไม่ชอบ
ผสมปนเปกันไป ชอบมากบ้าง ไม่ชอบมากบ้าง
เป็นหนังสือที่เอาไว้อ่าน เพื่อรับรู้และเข้าใจความคิดของคนโบราณ
และยังมีเกร็ดความรู้เก่าๆ ที่เริ่มจะสูญหายไปแล้ว
คิดเสียว่าอ่านเล่นๆ เพื่อให้มีมุมมองที่กว้างขวางขึ้นกว่าที่เคยค่ะ

Comments are closed.