อ่านแล้วเล่า

ตามรอยเจ้าอนุวงศ์

เรื่อง ตามรอยเจ้าอนุวงศ์
คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย – ลาว
ผู้แต่ง สุเจน กรรพฤทธิ์
สำนักพิมพ์ สารคดี
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789744843517

จากคำนำผู้เขียน ..
ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ เล่มนี้ไม่ได้สื่อถึงประวัติศาสตร์ –
ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าอนุวงศ์เพียงอย่างเดียว
แต่ผู้เขียนมีเจตนาสะท้อนให้เห็นไปถึงระบบการเรียนประวัติศาสตร์ของบ้านเรา
ที่ล้วนต่างติดอยู่ในกรอบแห่งความรักชาติ คลั่งชาติ
หนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์ให้น้ำหนักในส่วนที่เราเป็นฝ่ายถูกกระทำ
และละเลยในส่วนที่เราเป็นผู้กระทำ .. 

ผู้เขียนจึงหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ครั้งใหม่
มองประวัติศาสตร์จากทั้งสองฝ่ายคือไทยและลาว
เป็นการมองนอกกรอบแห่งการรักชาติ
ซึ่งเมื่ออ่านเจตจำนงค์ของผู้เขียนแล้ว เราก็กลัวว่า
ผู้เขียนไม่ได้ตั้งทัศนคติเพื่อยืนอยู่ตรงกลาง
หากแต่ปมในใจ จะพาเขาไปยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งของคำว่านอกกรอบ

แต่เมื่ออ่านจนจบทั้งเล่ม ก็พบว่าเนื้อหาในเล่มเป็นกลาง ไม่ได้เอนเอียงไปทางด้านใด
ผู้เขียนลงหลักฐานทั้งหมดเท่าที่ยังคงเหลืออยู่
ทั้งของฝ่ายไทย ลาว และหลักฐานอื่นๆ เท่าที่เกี่ยวข้องเอาไว้อย่างรอบด้าน
อ่านต่อเนื่องได้เรื่อยๆ ไม่เบื่อ และสนุกดี
หลักฐานต่างๆ ก็ชวนให้เราคิดไปในมุมมองของเราบ้าง
ซึ่งเหมือนบ้าง ต่างบ้าง กับทั้งผู้เขียน และทั้งหนังสือเรียนประวัติศาสตร์

เราเองอ่านประวัติศาสตร์ (ผ่านนิยาย) มาติดๆ กันหลายเล่มในช่วงนี้
ก็เห็นได้ชัดเช่นกันว่า ประวัติศาสตร์ไทยที่แท้จริง –
ไม่ได้เหมือนที่เขาสรุปให้เราเห็นเป็นชิ้นเป็นอันในหนังสือเรียนเท่าไรนักหรอก
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์เพียงสั้นๆ หนังสือแต่ละเล่มตีความไปต่างกันราวฟ้ากับดิน
เรื่องราวเดียวกันแท้ๆ เมื่อมองจากคนละมุม ก็กลายเป็นคนละเรื่อง

ไม่ต้องนึกไปไกลถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็ได้
เอาแค่เรื่องที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของเรา เรายังไม่สามารถรับรู้ความเป็นจริงได้เลย
ดังนั้น กับเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ เรายิ่งไม่ควรยืดถือ เชื่อถือไปเสียทั้งหมด
คิดทุกครั้งที่ได้อ่าน ได้รู้ หรือแม้แต่ได้เห็น ได้ยิน
ไม่มีอะไรดีไปกว่าการใช้หลักกาลามสูตรทั้งสิบประการของพระพุทธเจ้า

ภายใน ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ เล่มนี้
ผู้เขียนใช้วิธีเขียนแบบหนังสือสารคดี
บอกเล่าพระราชประวัติของเจ้าอนุวงศ์ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์
เล่าถึงสาเหตุที่ทรงพลัดบ้านพลัดเมืองมาเป็นองค์ประกันที่กรุงธนบุรี
คาบเกี่ยวเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพมหานคร
ไล่เรียงไปจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ที่คนไทยเรียกกันว่า กบฏเจ้าอนุวงศ์
และเล่าไปจนถึงวาระสุดท้ายในพระชนม์ชีพ
ด้วยหลักฐานทั้งจากฝั่งไทยและฝั่งลาว มีลงพื้นที่จริง
ไปดูสถานที่จริง ไปพูดคุยกับผู้คนในพื้นที่ ..
เล่าถึงความยากลำบากในการทำงานทางประวัติศาสตร์
โดยมีการแทรกแซงจากการเมือง ฯลฯ

หลายประโยคที่ผู้เขียน รวมทั้งนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นๆ ได้กล่าวไว้ในเล่มนี้
ก็ชวนให้เราสะดุดใจคิดอะไรบางอย่าง
และหลายประโยคที่ผู้เขียนตั้งคำถาม ก็สะเทือนอารมณ์คนอ่านไม่ใช่น้อย

การสืบค้นทางประวัติศาสตร์นั้นสนุกดี
แต่ในขณะเดียวกันก็ยากลำบากด้วย
ในฐานะของผู้อ่าน การเลือกติดตามประสบการณ์การสืบค้นของผู้เขัยน
จึงคงไว้แต่เพียงความสนุกที่ไม่ต้องยากลำบากไปด้วย ;P

ดังนั้น เพื่อความคุ้มค่าที่นักประวัติศาสตร์ได้ลงมือลงแรง ..
เราจึงอยากจะชวนเพื่อนๆ มาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ..
เพื่อความสนุก เพื่อการเรียนรู้ และเพื่อทัศนคติที่ถูกที่ควร
อ่านแล้วไม่ต้องจำอะไรก็ได้ แต่เราจะได้แนวคิดที่ต่างออกไปจากที่เคยแน่นอน
ลองดูค่ะ 🙂

 

Comments are closed.