อ่านแล้วเล่า

จักรยานที่หายไป

เรื่อง จักรยานที่หายไป
ผู้แต่ง อู๋หมิงอี้
ผู้แปล รำพรรณ รักศรีอักษร
สำนักพิมพ์ บิบลิโอ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786168293058

เท่าที่จำได้ เราไม่เคยอ่านวรรณกรรมจากไต้หวันมาก่อนเลย
เล่มนี้เป็นเล่มแรกในความทรงจำ
แต่ถึงจะไม่เคยอ่านมาก่อน แต่ผลงานที่เกิดขึ้นในโซนเอเชียด้วยกัน
ก็ยังมีกลิ่นอายของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันอยู่
ซึ่งความเชื่อมโยงนี้ ทำให้เราเข้าถึงความรู้สึกของผู้เขียน
ได้มากกว่าการอ่านวรรณกรรมจากฝั่งตะวันตก (อันนี้คือสำหรับเรานะ)

จักรยานที่หายไป เป็นนิยายที่มีส่วนผสมระหว่าง
เรื่องที่เกิดขึ้นจริง และจินตนาการซ้อนทับกันอยู่
เนื้อเรื่องเล่าถึงตัวละครชายที่เป็นนักเขียนคนหนึ่ง นามว่าเสี่ยวเฉิง
เราเชื่อว่าเสี่ยวเฉิง มีส่วนเสี้ยวของ อู๋หมิงอี้ (ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้) อยู่ไม่น้อย

ตัวละครเสี่ยวเฉิง เป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวที่มีลูก 7 คน
ครอบครัวของเขา อาศัยอยู่ในตลาดแห่งหนึ่ง
ความทรงจำวัยวัยเยาว์ค่อยถ่ายทอดออกมาในช่วงแรก

เหตุการณ์ที่ถูกเล่า ผูกพัน เชื่อมโยงอยู่กับจักรยานอย่างน้อย 3 คัน ที่เป็นของครอบครัว
และแล้ว จักรยานคันสุดท้ายของครอบครัวก็หายไป พร้อมๆ กับการหายไปของพ่อ
เรื่องของพ่อกลายเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง
จวบจนกระทั่งเขาเติบใหญ่ และมีชีวิตเป็นของตัวเอง

เสี่ยวเฉิงกลายเป็นนักเขียนเล็กๆ คนหนึ่ง
หนังสือของเขาได้รับการตอบรับจากผู้อ่านพอสมควร
รวมถึงจดหมายฉบับหนึ่ง ที่ทวงถามถึงเรื่องราวในนิยาย
ที่บังเอิญเป็นส่วนที่พ้องกันกับเรื่องราวในชีวิตจริงของเขา
ผู้อ่านถามถึงจักรยานที่หายไปของพ่อ ..

คำถามจากผู้อ่าน ทำให้เสี่ยวเฉิงหวนคิดถึงคำตอบนั้นในโลกของความจริงขึ้นมา
และนั่น ได้จุดประกายความคิดให้เขาคิดที่จะตามหาพ่อ ผ่านจักรยานคันที่หายไป

การสืบหาในครั้งนี้ ทำให้เขาเริ่มสนใจจักรยานเก่า
ได้รู้จักกับจักรยานเก่ารุ่นต่างๆ
และเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ผ่านจักรยานแต่ละรุ่นเหล่านั้น

ผู้เขียนเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและจักรยาน
ในขณะที่เสี่ยวเฉิงตามหาจักยาน
จักรยานเองก็ตามหาเขาด้วยเช่นกัน

จักรยานคันหนึ่ง ถูกส่งมอบจากคนคนหนึ่ง
ไปยังอีกคน และอีกคน
แต่ละครั้งที่เปลี่ยนเจ้าของ 
มันได้นำพาเรื่องราวต่างๆ ของพวกเขาติดไปกับมันด้วย
จักรยานมีเรื่องเล่า
และจักรยานที่เป็นของคนหลายคนจึงเต็มไปด้วยเรื่องราว
ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกถ่ายทอดออกมาทีละน้อย

คนไม่รู้จักที่รักจักรยานเหมือนกัน
คนหนึ่งสะสม อีกคนหนึ่งตามหา 
และเรื่องราวของจักรยานแต่ละคัน 
เชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน

นอกจากเรื่องราวของจักรยาน
ผู้เขียนยังเล่าถึงประวัติศาสตร์ของไต้หวัน
ในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งในช่วงนั้น ไต้หวันยังเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นอยู่
กลิ่นอาย บรรยากาศ มีความผสมผสานกันระหว่างจีนและญี่ปุ่น
เขาเล่าเรื่องในรูปแบบเชิงสารคดีผสมนิยาย

บางช่วง ผู้เขียนให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์กลมกลืนไปกันเนื้อเรื่อง
แต่บางช่วง ก็ใส่ข้อมูลเข้ามาโดดๆ แยกส่วนกับนิยายชัดเจน
วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ ทำให้ตอนที่เริ่มต้นอ่าน เป็นไปอย่างช้าๆ ไม่ลื่นไหล
ออกไปทางไม่ชอบด้วยซ้ำ
แต่เมื่ออ่านไปจนเริ่มชิน กลับรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์อย่างประหลาด

เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่สองในหนังสือเล่มนี้
เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อเข้ากับภาพสงครามโลกครั้งที่สอง ในประวัติศาสตร์ไทย
มุมมองของพม่าที่มีต่อทหารญี่ปุ่นนั้นต่างออกไปจากคนไทย
เพราะพม่าตกอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษมานาน
เมื่อมีทหารญี่ปุ่นเข้ามา พวกเขาจึงมีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อย

ระหว่างอ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในป่าที่พม่า 
เราคิดอยู่ตลอดว่าคนคนนี้เอาเรื่องที่ไหนมาเล่า
เป็นเรื่องที่คิดขึ้นในจินตนาการ
หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงจากใครคนหนึ่งที่เล่าให้เขาฟัง
มันมีความรู้สึก มีชีวิต มีวิญญาณ
ตรงนี้ผู้เขียนเล่าเรื่องได้ดีมาก

นอกจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียนยังแทรกเรื่องราวของจักรยานเก่า
ถ้าผู้อ่านสนใจเกี่ยวกับเรื่องของจักรยานเป็นพิเศษ
ก็น่าจะมีความสุขกับการอ่านหนังสือเล่มนี้มากขึ้นไปอีก

ถ้าถามเราว่าสนุกไหม
คำตอบคือ มันไม่ใช่หนังสือแบบที่อ่านแล้วเราจะรักมันในทันที
มันเป็นหนังสือแบบที่อ่านแล้ว เราจะค่อยๆ รักมัน
คงต้องใช้เวลาละเลียดรอบแล้วรอบเล่า
ก่อนจะตัดสินใจได้ว่าชอบมันหรือไม่

จักรยานที่หายไป เป็นหนังสือที่อ่านจบแล้วยากที่จะเล่า
อันที่จริงเราก็อยากอ่านรีวิวจากคนอื่นที่อ่านจบแล้วเหมือนกัน
อยากอ่านมุมมองคนอื่นๆ ที่มีต่อหนังสือเล่มนี้

ถ้าให้สรุป จักรยานที่หายไป เป็นหนังสือที่เล่าถึงสงครามด้วยความละเอียดอ่อน
เล่าถึงชีวิตและวิญญาณ ทั้งของคน สัตว์ และจักรยาน
ซึ่งทั้งหมดนี้ มีฉากหลังเป็นช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง ..
และเรื่องราวต่อจากนั้น

 

 

Comments are closed.