อ่านแล้วเล่า

จักรพรรดินี

153-2 จักรพรรดินี

เรื่อง จักรพรรดินี
ผู้แต่ง ลักษณวดี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา (เล่มละ) 200 บาท (2 เล่มจบ)

เรื่องนี้คล้ายๆ เลือดขัตติยา
นิยายที่เล่าเรื่องของเจ้าหญิงพระองค์หนึ่ง .. รัชทายาทแห่งมหาแคว้น
แคว้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหลายแคว้นโดยรอบ

แคว้นเอาเชนี ถูกล้อมรอบด้วยวินทยา พิหารี และอวันตี ..
แคว้นเล็กๆ ที่ต้องการจะรวมกันเพื่อครอบครองอำนาจเหนือแคว้นใหญ่
ในอดีตนมนาน เจ้าชายเล็กๆ จากแคว้นเล็กๆ .. พิหารี
ได้กลายมาเป็นพระจักรพรรดิแห่งเอาเชนี ..
สมเด็จพระราชบิดาของเจ้าหญิงพระองค์น้อย .. เจ้าฟ้าหญิงอินทุอรวรลักษณา
วันเวลาล่วงเลยผ่าน จนถึงวันที่เสด็จฯ .. จากไป

113-6 จักรพรรดินี

เราชอบที่ผู้เขียนบรรยายความรักระหว่างสมเด็จพระจักรพรรดิ
และสมเด็จพระจักรพรรพินี (สมเด็จพ่อและสมเด็จแม่ของเจ้าฟ้าหญิงอินทุอร)
เป็นการใช้พื้นที่เพียง 1-2 บท บรรยายฉากจากตายที่เศร้าซึ้ง
และทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วทั้งสองพระองค์ทรงรักกันมากเพียงใด
งานแบบนี้ ลักษณวดีทำได้ดีจริงๆ ค่ะ

113-4 จักรพรรดินี

เพียงชั่วข้ามคืนที่สมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จฯ จากไป
ฟ้าหญิงพระองค์น้อยผู้แสนซุกซนก็เติบโตเอางานเอาการทันที
ราวกับเมล็ดพันธุ์แห่งความฉลาดเฉลียว
ได้รับน้ำฝนอันชุ่มชื่นพร้อมจะเติบโต
ความซุกซนก่อนหน้าเป็นเพียงฉากกั้นบางเบา .. ที่ถูกเลื่อนออกไป

113-3 จักรพรรดินี

สมเด็จพระจักรพรรดิทรง ‘มา’ จากพิหารี
เมื่อเสด็จ ‘ไป’ จึงควรส่งเสด็จฯ ‘กลับ’ ไปยังพิหารีเช่นกัน
ในคราที่เจ้าหญิงรัชทายาทเสด็จฯ ไปทรง ‘ส่งเสด็จฯ’ ที่พิหารี
เธอได้พบใครคนหนึ่ง .. คนหน้างอที่เอางานเอาการ
คนคนเดียวที่กินสองตำแหน่ง ..‘ทหารรับใช้’ และ ‘ลูกชาย’
ของเสนาบดีกลาโหม
ใครคนนั้นที่ให้คำสัญญา จะกลับไปรับราชการที่เอาเชนี ..
สวธาบดี หลานพระราชาธิบดีแห่งพิหารี
มีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงจากอวันตี บิดาเป็นเสนาบดีกลาโหมที่พิหารี

153-1 จักรพรรดินี

สิ่งหนึ่งที่ดำเนินคู่มากับนิยายเจ้าหญิงเจ้าชาย ของลักษณวดี (ในทุกนามปากกา)
คือเรื่องของการเมือง เรื่องนี้ก็ไม่น้อยหน้าใคร มีกับเขาเหมือนกัน
ฝ่ายดีมักจะอยู่ทางทหาร .. เจ้าคุณกลาโหม
และฝ่ายร้ายมักแบ่งๆ กันไปตามแนวทางของแต่ละเรื่อง
เรื่องนี้ ผู้เขียนได้ผูกปมลึกลับซับซ้อนกว่าเคยนิดหน่อย มีหักมุมให้ได้ลุ้นๆ บ้าง

เมื่อแคว้นเอาเชนี คือเมืองแห่งฤดูหนาว
เมื่อฤดูหนาวยาวนานกว่าปกติ ความอดอยากจึงเริ่มมาเยือน
หลายแคว้นโดยรอบ จึงใช้จุดอ่อนนี้เพื่อเริ่มลงมือทำการบางอย่าง
ซอกซอนลึกลงไปถึงฐานราชบัลลังก์แห่งเอาเชนี
แผนการซับซ้อนถูกวางมาเนิ่นนาน และเริ่มปะทุขึ้นในยามที่เอาเชนีมีปัญหา

113-5 จักรพรรดินี

นิยายเรื่องนี้ แม้จะมีความคล้ายคลึงกับนิยายแนวๆ เดียวกันเรื่องอื่นๆ
แต่เมื่อเว้นช่วงไปสักระยะ แล้วหยิบมาอ่าน ..
มันก็ให้ความสนุก ให้อารมณ์ที่แปลกออกไปจากหนังสือที่อ่านประจำ
ฉากประชาชนลุกฮือเพราะความกอดอยาก
ดูคล้ายๆ กับการประท้วงครั้งหลังๆ ในบ้านเราอยู่ไม่น้อย
ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ที่ว่า ก็เกิดหลังจากที่ลักษณวดีเขียนหนังสือเรื่องนี้
บางที มันอาจเกิดซ้ำๆ มาหลายหนแล้ว
แต่ ‘วิธี’ มันเพิ่งมาเห็นชัดเจนเอาตอนที่เราโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ได้?

เป็นอีกเล่มที่อ่านเอาเพลินก็สนุก อ่านเอาสาระก็มีให้ค่ะ
ที่สำคัญคืออย่าหยิบแนวเดียวกันมาอ่านติดๆ กัน
เพราะมันจะรู้สึกซ้ำๆ ไปกันหมด
ต้องนานๆ อ่านทีแล้วจะโอเคค่ะ ^^

Comments are closed.