อ่านแล้วเล่า

จวบระพีอัสดง

เรื่อง จวบระพีอัสดง
ผู้แต่ง Jacaranda K.
พิมพ์ที่ บริษัท จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786166048322

เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คาบเกี่ยวมาจนถึงช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเหตุการณ์หลังจากนั้น
ฉากของเรื่องเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

เนื้อเรื่องขับเคลื่อนไปตามเนื้อหาชีวิตของตัวละครหลัก ..
ระพี ดิเรกโยธิน
ระพีเป็นชนชั้นล่างสุดของครอบครัวที่เต็มไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์
เขาเป็นส่วนเกินของครอบครัวนี้ .. โดดเดี่ยว ลำพัง
ไม่มีใครให้แบ่งปันความสุข หรือแบ่งเบาความทุกข์
มีแม่ แม่ก็กีดกันตัวเองออกห่างจากเขาและทุกคนในบ้าน
มีพ่อ พ่อก็รดน้ำหล่อเลี้ยงเขาแต่เพียงร่างกาย ไม่ได้ซึมซาบลงไปถึงหัวใจ
กับคนอื่นๆ ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ..
เขาเติบโตมาอย่างไร้ความรัก
ไม่มีใครหรืออะไรที่เป็นของเขาอย่างแท้จริง

“ไม่เคยเป็นที่รัก ไม่เคยมีความสำคัญ
เป็นเพียงหนึ่งชีวิตที่เกิดขึ้นมาในบ้านนี้
ถูกเลี้ยงดูอย่างเป็นหน้าที่ที่พึงกระทำ
ไม่เคยได้รับความคาดหวัง ไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง
กระนั้นก็ไม่เคยทำให้ใครรู้สึกเติมเต็ม”

ในฐานะของชนชั้นล่างที่สุดในบ้านเช่นนี้
ทำให้เขามักจะเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ
เมื่อเทียบกับพี่น้องต่างมารดาคนอื่นไม่ได้
เขาจึงเลื่อนตัวเองมาเปรียบเทียบกับเด็กในบ้านคนหนึ่ง ..
นรินทร์ หรือนิ่ม ..
นิ่มเป็นลูกบ่าวที่มีวัยไล่เลี่ยกับเขา
แม้จะเรียนหนังสือกันคนละโรงเรียน แต่ระดับชั้นก็ใกล้เคียงกัน
ผลการเรียนก็สูสีคู่คี่ไม่ห่างกันนัก
นิ่มเป็นเด็กเข้ากับคนง่าย ร่าเริง มีน้ำใจ ขยันขันแข็ง
ในขณะที่ระพีเก็บตัวเงียบอยู่แต่ในห้อง
และใช้เวลาทั้งหมดไปกับการอ่านหนังสือ
เขาเขม่นหน้าคู่แข่งคนนี้อยู่ไม่น้อย ..
แม้มันจะเป็นการเขม่นแต่เพียงฝ่ายเดียว นิ่มไม่ได้รู้อะไรด้วยเลย

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการจะแกล้ง
กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกันมากขึ้น
จากเด็กในบ้าน ก็กลายมาเป็นคนสนิท
เราได้เห็นภาพการเติบโตของเด็กหนุ่ม
ทางร่างกายนั้นประการหนึ่ง แต่ที่ชัดเจนกว่าคือทางจิตใจ
และที่มากกว่านั้น คือทางความคิด ..

เราชอบที่่เขาเลือกฉากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เข้ามาเพื่อบอกเล่าประเด็นความแตกต่างทางชนชั้น
ที่จะนำไปสู่ความเท่าเทียมทางสังคมในภายหลัง

นิยายถ่ายทอดสถานการณ์ในช่วง พ.ศ.2475
เป็นภาพการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสายตานักเขียนรุ่นใหม่
ผู้เขียนทำให้เราเห็นภาพการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์
ที่เป็นต้นกำเนิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ผู้เขียนลำดับเส้นเรื่องได้ดี ไล่กราฟพัฒนาการของตัวละครได้ดี
เล่าเรื่องกระชับ ฉับไว เนื้อเรื่องสมดุล
ทำให้อารมณ์อ่อนไหวในจุดที่พอเหมาะ
และให้สาระในระดับที่กลมกล่อม ลงตัว
มีความหวานปนขมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจคนอ่าน

เล่มนี้ เราให้คะแนนความไม่คาดหวังไปด้วย
นิยายเรื่องนี้เกินความคาดหวังไปสูงมาก
หนังสือจากนักเขียนที่ไม่เคยอ่านมาก่อน
และน่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ กลับมีสำนวนที่ลื่นไหล กลมกล่อมได้ขนาดนี้
ดีใจที่วงการหนังสือไทยยังมีนักเขียนเก่งๆ แจ้งเกิดอยู่เรื่อยๆ
ดีต่อใจคนชอบอ่านนิยายไทยจริงๆ ค่ะ 🙂

Comments are closed.