อ่านแล้วเล่า

การเดินทางของผีเสื้อหลากสี

เรื่อง การเดินทางของผีเสื้อหลากสี
Becoming a Butterfly

ผู้เขียน เมริษา ยอดมณฑป
สำนักพิมพ์ แมงมุมบุ๊ก
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786169347248

การเดินทางของผีเสื้อหลากสี เป็นบันทึกประสบการณ์การฝึกงาน
เป็นนักจิตวิทยาฝึกหัดของนักศึกษาปริญญาโท ปีสุดท้าย
ลิซ่า ยอดมน หรือ เมริษา ยอดมณฑป เป็นนักศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยา
ของมหาวิทยาลัย King’s College  London (KCL) ประเทศอังกฤษ
เธอจะต้องผ่านการฝึกงานในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง นาน 6 เดือน ก่อนเรียนจบ

หนังสือถูกแบ่งออกเป็นตอนสั้นๆ ทั้งหมด 12 ตอน แบ่งตาม 12 เคสที่เธอรับผิดชอบ
จิตแพทย์ที่เป็นที่ปรึกษาของเธอชื่อ สตีเฟ่น หรือสตีฟ
คนไข้ของเธอ เป็นเด็กและวัยรุ่นทั้งหมด

หนังสือเล่าเรื่องด้วยภาษาที่ง่าย มีความเป็นวรรณกรรมเยาวชน
แต่ละตอน ถูกตั้งชื่อตามเอกลักษณ์ และลักษณะอาการของเด็กๆ
ด้วยถ้อยคำที่น่ารัก อบอุ่น และเป็นมิตร
อย่างเช่น เด็กชายมังกร เด็กหญิงไร้เสียง เด็กชายโทรโข่ง ฯลฯ

แม้ว่าเนื้อหาที่เล่านั้นจะหนักหน่วง
แต่บทสนทนาน่ารักๆ ระหว่างลิซ่ากับเด็กชายเด็กหญิง
หรือคุณหมอจิตแพทย์สตีฟที่ใจดี ช่วยให้กำลังใจลิซ่าในการทำงาน
ก็ช่วยทำให้บรรยกาศของเล่มถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไม่หนักหน่วงนัก
ผู้เขียนรักษาสมดุลระหว่างอาการของเด็กๆ
และหนทางการรักษา ที่ทำให้เรามองเห็นแสงสว่างแห่งความหวัง

เราเชื่อว่า ในการปฏิบัติงานจริง
ขั้นตอนต่างๆ คงไม่ได้ราบรื่น เรียบง่าย เหมือนในหนังสือ
แต่ผู้เขียนลดทอนความยากลำบากต่างๆ ลงมา
ด้วยความตั้งใจจะถ่ายทอดบทบาทของจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา
ต้องการจะปรับความเข้าใจว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์นั้น ไม่ใช่คนผิดปกติ
การป่วยใจ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต่างจากอาการป่วยกาย
และหากอาการต่างๆ ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ
ก็จะทำให้อาการนั้นไม่ลุกลามจนยากจะแก้ไข

เราชอบประโยคหนึ่งในคำนำที่ผู้เขียนบอกกับเราว่า
“ได้โปรดอย่าเหมารวมทุกคนที่มีโรคและอาการทางใจว่าเป็นคนบ้า
และอย่าตีตราบุคคลที่มาพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาว่าเป็นคนอ่อนแอ
เพราะทุกๆ คนมีวันที่เลวร้ายด้วยกันได้ทั้งนั้น
บางคนผ่านมันไปได้ แต่บางคนยังผ่านไปไม่ได้
การมาพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
ถือเป็นการเผชิญหน้ากับปัญหาที่ดี ไม่ใช่การหนีปัญหา”

ในแต่ละตอนที่เรื่องดำเนินไป เราได้เห็นกระบวนการรักษา
ได้อ่านบทสนทนาที่ทำให้เราได้ปรับมุมมองและวิธีคิด
ได้เห็นความอ่อนแอของคน และเห็นหนทางที่จะช่วยเหลือด้วยวิธีปฏิบัติที่จริงใจ
ลิซ่ามองเห็นข้อดีเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการรักษา

แม้จะดีขึ้นเพียงนิดเดียว แต่ก็ถือว่าดีขึ้น
อย่างเช่น เด็กที่ไม่พูดเลย เริ่มเปล่งเสียงหัวเราะเบาๆ
เด็กชายที่เศร้าหมอง ผุดรอยยิ้มเล็กๆ ที่ถ้าไม่สังเกตก็จะมองไม่เห็น
ทั้งหมดนี้เป็นพัฒนาการของการรักษา
ที่ทำให้เราคนอ่านมองเห็นแสงสว่างในเส้นทางเดียวกันด้วย

การเดินทางของผีเสื้อหลากสี
เป็นหนังสือที่อ่านแล้วไม่ได้กดทับหัวใจเราขนาดนั้น

แต่ก็ทำให้เราได้เข้าใจความทุกข์ของเด็กๆ ในแต่ละเคส
ที่ล้วนหลากหลาย และอาจเหมือนใครบางคนที่เรารู้จัก
มันเป็นหนังสือที่อบอุ่น และเต็มไปด้วยพลังบวก
เป็นหนังสือดีๆ ที่อยากแนะนำให้อ่านและบอกต่อค่ะ 🙂

Comments are closed.