อ่านแล้วเล่า

ในฝัน

146-2 ในฝัน

เรื่อง ในฝัน
ผู้แต่ง โรสลาเรน
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา (เล่มละ) 140 บาท (2 เล่มจบ)

ในฝัน เป็นนิยายเล่มแรกของคุณหญิงวิมล หรือที่รู้จักกันในนามทมยันตี
(ในเรื่องนี้ใช้นามปากกว่า ‘โรสลาเรน’ ค่ะ)
ถูกเขียนขึ้นในวันที่ผู้เขียนมีวัยเพียง 16 ปี และได้รับการตีพิมพ์เมื่อวัย 19 ปี
ในฝัน เป็นที่รู้จัก และเป็นที่รักของนักอ่านมาตั้งแต่รุ่นยาย .. รุ่นแม่ ..
จวบกระทั่งทุกวันนี้ ในฝันก็ยังเป็นแรงบันดาลใจของนักเขียนนักอ่านรุ่นใหม่อีกหลายต่อหลายคน

146-1 ในฝัน

ในฝัน เป็นนิยายที่เกิดขึ้นในประเทศสมมติ (อีกแล้ว ^^”)
เมื่อเจ้าชายจากแคว้นเล็กๆ .. พิรียพงศ์ ณ พรหมมินทร แห่งแคว้นพรหมมินทร
ถูกส่งตัวมาศึกษาต่อยังกุสารัฐ .. แคว้นเอกที่เป็นศูนย์รวมการปกครองของสมาพันธรัฐ
เป็นแคว้นซึ่งได้รับความตกลงยินยอมจากแคว้นเล็กแคว้นน้อยในแถบหิมาลัย
ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำการปกครองสูงสุด

เนื้อเรื่องได้แสดงให้เราเห็นถึงลำดับขั้นตอนที่บุคคลผู้หนึ่ง จะได้กลายเป็นกษัตริย์
ที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถนั้น ต้องผ่านการเรียนรู้เช่นไรบ้าง
เจ้าชายพิรียพงศ์ ทรงถูกส่งมอบให้เป็นลูกศิษย์ อยู่ในความดูแลของเจ้าชายโอริสสา
เจ้าชายจากแคว้นอมริตสา แคว้นเล็กๆ แคว้นหนึ่ง ..
แต่เป็นแคว้นซึ่งครองตำแหน่งเสนาบดีแห่งกุสารัฐตลอดมา
วิชาที่เจ้าชายโอริสสาได้ประสิทธิ์ประสาทแก่เจ้าชายพิรียพงศ์
คือ ‘วิชากษัตริย์’ อันประกอบไปด้วยสรรพวิทยา ที่ต้องทรงบำเพ็ญความวิริยะอุตสาหะอย่างสูง

146-5 ในฝัน

เจ้าชายโอริสสา เป็นเจ้าชายที่ทรงมีลักษณะของทูต
มีความสุขุม นิ่ง คมคาย พระทัยเย็น และดูยาก
กลยุทธ์ต่างๆ ที่ทรงสอนให้แก่เจ้าชายพิรียพงศ์ ล้วนแต่น่าทึ่ง
และทำให้เรามองเห็นภาพของตัวละครแต่ละตัวชัดเจนขึ้นด้วย
แม้จะใช้วิธีการบรรยายผ่านจดหมายของเจ้าชายพิรียพงศ์ถึงพระเชษฐภคินีเพียงเท่านั้น

ผู้เขียนมิได้บอกว่าเจ้าชายโอริสสาทรงเป็นนักปกครองที่ชาญฉลาดเพียงไร
แต่การกระทำต่างๆ การตัดสินใจในเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง
ได้ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์ทรงฉลาดจริงๆ

146-3 ในฝัน

เนื่องจากพระขนิษฐภคินี และพระอนุชาต้องอยู่ห่างไกลกันนี้เอง
เรื่องราวระหว่างสองพระองค์ จึงถูกดำเนินเรื่องไปด้วยวิธีเล่าผ่านจดหมาย
อ่านตอนแรกๆ ออกจะไม่คุ้นชินอยู่บ้าง
เพราะการเล่าเป็นจดหมายนั้น ความสนุกและไ่ม่สนุกของเนื้อหา
จะถูกตัดตอนเป็นท่อนๆ ไม่ต่อเนื่อง
กำลังสนุกอยู่ดีๆ ก็ทรงจบจดหมายลงเสียอย่างนั้น ปล่อยให้คนอ่านความรู้สึกค้าง
ต่อมาก็มาเริ่มจดหมายฉบับใหม่ ความรู้สึกใหม่ ตั้งต้นกันใหม่อีก
พระองค์โน้นทรงเขียนถึงพระองค์นี้ พระองค์นี้ทรงเขียนถึงพระองค์นั้น
ต้องคอยจำเอาเองว่าใครเขียนเอาไว้ว่าอะไร จะได้ต่อถูก ;P
ช่วงแรกๆ เลยไปแบบเฉื่อยๆ ชาๆ
นานๆ ทีจึงจะมีความคมคายของตัวละครมาสร้างสีสันบ้าง

ในฝัน เป็นนิยายที่เต็มไปด้วยความคมคายแทรกอยู่ระหว่างบรรทัด
ระหว่างวรรค .. และแทบจะทุกหน้าเลยทีเดียว
แม้แต่พูดถึงความรัก ก็ยังละเอียดอ่อน ละเมียดละไม
และมีชั้นเชิงต่อกันไม่แพ้การเมืองระหว่างรัฐเลย

ตัวอย่างเช่นคารมการบรรยายความรู้สึกภายในของเจ้าหญิงพรรณพิลาศ
ซึ่งปกติทรงเก็บทุกความรู้สึก มีเพียงความนิ่งๆ เย็นๆ หรือไม่ก็ทรงซนสนุกไปเท่านั้น
ความรู้สึกภายใน ถูกเผยออกมาในคำบรรยายอ้อมๆ เช่นนี้เอง

146-6 ในฝัน

แต่จงอย่ากลัวไปว่า นิยายเชิงการเมืองแห่งเมืองเจ้าชายเจ้าหญิงเหล่านี้
จะเครียดเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น
ผู้เขียนได้สอดแทรกการเสียดสี อารมณ์ขันแบบแสบๆ คันๆ
ให้คนอ่านสาแก่ใจอยู่เป็นระยะ
โดยเฉพาะเวลาที่ฝ่ายโกงเพลี่ยงพล้ำ โชว์โง่ ฯลฯ
เห็นภาพชัดเจนแม้จะเล่าผ่านจดหมายระหว่างแต่ละพระองค์ ^^

พระเอกและนางเอกของเรื่องนี้จะแทบไม่ได้พบกันเลย
(คือเคยพบกันเมื่อตอนทรงพระเยาว์ครั้งหนึ่ง และตอนท้ายของเรื่องอีกครั้งหนึ่ง .. เพียงเท่านั้น)
แต่การที่ทรงโต้ตอบต่อกันผ่านทางลายพระหัตถ์ ก็สร้างความโรแมนติกวี้ดวิ้วไม่น้อย
ผู้เขียนทำให้เราเชื่อได้ว่า การพบกันเพียงไม่กี่ครั้งนั้น ทำให้คนสองคนรักกันได้จริงๆ
คนนิ่งๆ ที่ไม่เคยมีใครดูออกว่าคิดอะไร รู้สึกอย่างไร อย่างเจ้าชายโอริสสา
เมื่อได้แสดงความรู้สึกต่างๆ ผ่านตัวอักษร ก็ลึกซึ้งและแสนหวานไม่แพ้ใคร
เป็นการจีบแบบที่ต้องรักษาพระเกียรติของเจ้าหญิงพรรณพิลาศไว้ด้วย
สำนวนไพเราะ อ่อนหวาน แต่สุภาพ .. พาให้คนอ่านจิกหมอนได้อย่างมีรสนิยม >,<

146-4 ในฝัน

ชอบมาก ตอนที่เจ้าชายพ่อสื่อ (พระอนุชา)
ทรงหยอดมาว่าเจ้าชายโอริสสาทรงเหม่อคิดถึงใคร
หรือทรงวางภาพวาดที่ใครบางคนประทานเอาไว้ใกล้โต๊ะทำงาน
และประทับมองอยู่เนิ่นนาน ฯลฯ
และขอให้พระพี่นางเธอทรงพระกรุณา ..
เจ้าหญิงพรรณพิลาศได้ทรงตอบพระอนุชาไปว่า จะให้กรุณาอะไร น้องไม่ได้บอกนี่?
และการจะเดาใจใครนั้น มันก็มีโอกาสผิด
การที่จะให้พระองค์ทรงตอบว่าอะไรนั้น .. อนาคตก็ไม่แน่นอน
เพราะเจ้าชายเสนาบดี (เจ้าชายโอริสสา) ทรงยืนอยู่ท่ามกลางภาระและทางเลือกมากมาย
คำตอบของพระองค์ในตอนนี้ จะไม่มีผลต่ออะไรเลย นอกจากสร้างความร้าวฉานในภายหลัง
ไม่ว่าเวลาข้างหน้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ..
ตอบใช่ก็เสีย ตอบไม่ก็เสีย ไม่ตอบดีกว่า เด็ดอ่ะ!
แถมตอบด้วยสำนวนแบบผู้เขียนด้วยนะ สุดยอด!!

คำเตือน : ข้างล่างมีสัญญาณ สปอยล์ กรีดร้องระดับกลางอยู่นะคะ

ผู้เขียน เปิดตัวในบทบาทนักเขียนด้วย ‘ในฝัน’
และ ‘ในฝัน’ นิยายเรื่องแรกเล่มนี้ .. sad ending จ้า!!
มิน่าเล่า หลายๆ เรื่องต่อมาของผู้เขียน จึงต้องทำใจก่อนอ่าน ว่าอาจจะเศร้าในตอนจบ!
เฮือก .. ไม่ได้ทำใจมาก่อนเลยว่าเรื่องนี้จะจบเศร้า
เพราะผู้เขียนเพิ่มความหวานมากขึ้น มากขึ้น ในจดหมายแต่ละฉบับ
ไม่มีร่องรอย ไม่มีวี่แววอันใดเลยที่จะบอกใบ้แก่เรา
เลยออกจะช็อคไม่น้อย เมื่อความหวานชื่น อิ่มเอมอันนั้น แปรเปลี่ยนเป็นความขมปร่า!!

แต่คงเพราะเหตุนี้ด้วยนั่นแหละ
‘ในฝัน’ จึงเป็นนิยายในดวงใจของใครต่อใครอีกหลายคน ..
อ่านในฝันในวันนี้ .. ร้องไห้อีกแล้วค่ะ ;P
146-7 ในฝัน

ปล. 1 เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นพล็อตแบบนี้ในนวนิยายของคุณหญิงวิมล
ประเทศเล็กประเทศน้อยที่รวมตัวกันปกครองแบบสมาพันธรัฐ
และนอกจากกลุ่มของประเทศเหล่านี้จะมีปัญหาภายในกันเองแล้ว
ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ก็กำลังแผ่ขยาย
เอื้อมมือขนาดใหญ่ยักษ์เข้ามาครอบงำทีละน้อยด้วย
นอกจากผู้เขียนท่านนี้ อีกเรื่อง (หรืออีกหลายเรื่อง) ที่เราคิดถึงก็คือ
นิยายเซ็ต ธิโมส์ แผ่นดินแสงดาว ของดวงตะวัน
ที่สอดแทรกแนวคิดและค่านิยมของประเทสอิสระขนาดเล็ก
ที่กำลังเตรียมตัวตั้งรับการถาโถมเข้ามาของชาติมหาอำนาจทั้งหลาย
เป็นอีกหนึ่งความรู้สึกที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของชนชาติในแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้แห่งนี้
ฝังรากลึกลงในประวัติศาสตร์ ในแบบเรียน
ในสถานบันครอบครัว ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ฝังลึกลงในดีเอ็นเอของพวกเราทุกคนเลยทีเดียว

ปล. 2 แอบเห็นชื่อแคว้นยโสธรเป็นแคว้นหนึ่งในสมาพันธรัฐด้วย
แต่คาดว่าน่าจะเป็นคนละยโสธรใน เลือดขัตติยา (หรือเปล่า?) ;P

Comments are closed.