เรื่อง โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า
ผู้แต่ง ศิริวร แก้วกาญจน์
สำนักพิมพ์ ผจญภัย (Pajonphai publishing)
ราคา 345 บาท
โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า
หยิบยกเรื่องราวปัญหาภายในของประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างประเทศพม่า
ปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ และอย่างที่รู้ .. พม่าไม่ยอม
ทำทุกวิถีทางที่จะไม่ยอม .. ทรยศความเป็นมนุษย์ โกหก ตลบแตลง ตระบัดสัตย์ ผิดสัญญา
และเข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเองด้วยวิธีที่เหี้ยมโหดตามแต่จะสรรหามาได้
และนั่นไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาภายในประเทศพม่า
แต่เป็นปัญหาของไทยเพราะเขตแดนติดกัน และเป็นปัญหาของโลกเพราะเราเชื่อมโยงกันหมด
แม้ว่าหมวดหมู่ของหนังสือเล่มนี้คือนวนิยาย แต่ผู้เขียนก็แบ่งสัดส่วนของมันออกเป็นสองส่วน
ส่วนหนึ่งนั้นเป็นนิยายแท้ๆ เล่าด้วยอุปมาเปรียบเทียบ เล่าด้วยประโยคสัญลักษณ์
เล่าด้วยความรู้สึก ไม่ใช่เหตุผล
และคนอ่าน ก็รับความรู้สึกนั้นมาเต็มๆ โดยไม่ต้องถอดความ
แต่อีกส่วนเป็นบันทึกส่วนตัวของผู้เขียน ที่เขียนควบคู่ประกบกันไปในแต่ละบท
และบางครั้ง สองส่วนก็หลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกัน
ในช่วงต้น บันทึกนี้เล่าถึงเรื่องความรักที่พลัดพราก ผิดหวัง ..
สงสัยจะร้างราเรื่องนี้มาพอสมควร เลยทำให้อ่านแล้วไม่อิน ^^”
ทุกบทของนวนิยายที่คั่นด้วยบันทึกนี้ ทำให้เรารู้สึกว่ามันทำให้อรรถรสของนิยายขาดตอนเป็นห้วงๆ
อ่านไปสักพัก ก็เริ่มมึน สมองส่วนความจำทำหน้าที่ไม่ไหว
เราเลยขี้โกง อ่านเฉพาะส่วนบันทึกอย่างเดียวไปก่อน
แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านในส่วนนิยาย
อาจจะขาดอรรถรสบางอย่างที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ
แต่สารภาพตามตรงว่าไม่ชอบอ่านเหตุการณ์ที่เขียนสลับไปสลับมาแบบนี้เลย
(เหมือนๆ มูราคามิจะมีแบบนี้อยู่เรื่องนึง ซึ่งเราก็ยังอ่านไม่จบมาจนบัดนี้ -*-)
แต่สำหรับเล่มนี้ .. เราว่าบันทึกที่น่ารำคาญนั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์
โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า นวนิยายผสมบันทึกจากชายผู้อยู่ในภาวะอกหัก สับสน
แต่ในความสับสนก็ก่อให้เกิดนิยาย .. นิยายที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์
.. หรือแม้แต่บันทึกที่ว่า ก็เป็นส่วนหนึ่งของนิยาย
และ “ผม” ในที่นี้ ก็เป็นหนึ่งในตัวละคร .. เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของผู้เขียน?
อ่านย้ำซ้ำบ่อยเข้า ก็ชักจะสงสัยว่า .. ย้อนไปในยุคล่าอาณานิคม
ถ้าตอนนั้น ชนฝั่งตะวันออกเป็นฝ่ายเดินเรือไปพบชาวตะวันตกก่อน
ประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนแปลงไปไหม
เราจะทำร้ายเขา เหมือนที่เขาทำกับเราไหม .. และโลกเราจะเป็นอย่างไร?
ตัวตนของตัวละครสมมติในนิยายกับตัวละครจริงในบันทึก
ค่อยๆ เชื่อมโยงและซ้อนทับกันมากขึ้นในทุกบท
ความลับของผู้เขียนค่อยๆ เผยออกในแต่ละตัวอักษร
ขณะที่รัฐบาลทหารดำเนินมาถึงจุดที่ใกล้ถึงตอนอวสาน
(อย่างที่รู้ .. มันอวสานหลังนิยายเรื่องนี้จบไปเพียงไม่กี่ปี .. ซึ่งเราคงต้องรอดูว่ามันจะมีภาคต่อหรือไม่)
ตอนปลายของรัฐบาลทหารที่ว่านี้
ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นภาพการสอดแทรกของทุนนิยมจากนานาประเทศโดยรอบ
ทั้งใกล้และไกล ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เล่าโต้งๆ หรือแทรกมาในคำบรรยายภาพเหตุการณ์
หรือบางที .. นิยายเล่มนี้ควรจะมีภาคต่อ!!
หรือไม่อีกที ภาคต่อที่ว่าอาจไม่ได้อยู่ในสงครามเดียวกัน
ประวัติศาสตร์กี่เล่ม กี่ที่มา กี่จุดจบ .. ก็เหมือนกัน
เมื่อมนุษย์ยังคงแก่งแย่งที่จะเป็นใหญ่อย่างไม่หยุดยั้ง
ภาคต่อของมันก็คือเรื่องเดียวกัน แค่เปลี่ยนฉากและตัวละคร
เปลี่ยนอาวุธ เปลี่ยนกลวิธี .. แต่ที่ยังมี ยังยั่งยืน .. คือ .. สงคราม