อ่านแล้วเล่า

แกะรอยควอนตัมกับลุงแอลเบิร์ต

62.1 แกะรอยควอนตัม กับลุงแอลเบิร์ต

เรื่อง แกะรอยควอนตัม กับลุงแอลเบิร์ต
ผู้แต่ง Russell Stannard
สำนักพิมพ์ พิศวาส ปทุมุต์ตรังษี
ราคา 95 บาท

อ่านมาจนถึงเล่มสุดท้ายแล้วค่ะ
และตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มที่สามนี้ หนังสือชุดนี้ก็ยังคงคอนเซ็ปต์อ่านง่าย
เนื้อเรื่องในเล่ม เป็นทฤษฎีที่ถูกย่อยให้อ่านง่ายล้วนๆ
ไม่มีสมการยุ่งยากมาปะปนให้มึนงงเลยแม้แต่น้อย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมึนอยู่ดี .. แฮ่!

เนื้อหาในเล่มนี้ เปลี่ยนจากเรื่องราวของอวกาศมาอยู่ใกล้ตัวกว่าเดิมค่ะ
เป็นเรื่องราวของสสารที่อยู่รอบตัวเรา (ดูเป็นเคมีมากกว่าฟิสิกส์ดีเนอะ ^^)
เกดังเก้น หลานสาวของคุณลุงแอลเบิร์ต จะไม่ได้ขึ้นยานอวกาศ
ที่อยู่ในบอลลูนความคิดของคุณลุง ท่องเที่ยวไปในอวกาศอีกแล้ว
แต่เธอจะถูกย่อส่วนเป็นมนุษย์จิ๋ว ไปท่องโลกแห่งสสาร
เพื่อหาคำอธิบายที่เข้าใจง่ายๆ เกี่ยวกับควอนตัมแทน

คอวนตัมคืออะไร?
ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องควอนตัม เกดังเก้นกับลุงแอลเบิร์ตพาเราไปท่องโลกแห่งสสารก่อน
สสารอันประกอบไปด้วยอนุภาคเล็กๆ ที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ ว่าโมเลกุล ว่าอะตอม
แล้วก็มีสิ่งที่เรียกว่านิวเคลียส มีอิเล็กตรอน นิวคลีออน ฯลฯ
คำประหลาดๆ เหล่านี้ ถูกจับมาอธิบายอย่างง่าย (ง่ายกว่าเล่มก่อนนะ)

นอกจากเรื่องของอนุภาค ในเล่มนี้ยังหยิบเรื่องของคลื่นมาเล่าซ้ำอีกครั้งด้วย
แต่เป็นในกรณีที่ต่างกันออกไป ในเล่มนี้ เรากลับไปที่จุดเริ่มต้น
คือการทดสอบว่าแท้จริงแล้วแสงเป็นคลื่นหรือว่าอนุภาคกันแน่?

เรื่องของแสงที่เป็นคลื่น แต่บางครั้งก็ทำตัวเหมือนอนุภาค
แลัอิเล็กตรอนที่เป็นอนุภาค แต่บางครั้งก็ทำตัวเหมือนคลื่น
ควอนตัมที่ฟังดูยากๆ ลุงแอลเบิร์ตก็ให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า
มันเป็นเพียง ‘อนุภาค’ หรือ ‘ก้อนพลังงาน’
แม้ในปัจจุบัน เรื่องราวของควอนตัมก็ยังถูกนักวิทยาศาสตร์ค้นคว้ากันไม่จบ
ไม่แปลกที่จะอ่านแล้วมึน เพราะนักวิทยาศาสตร์เองก็ยังเถียงกันไม่เสร็จเลย
แต่หนังสือเล่มนี้ก็ให้เราได้ลองอ่าน ได้ลองปวดหัวแบบนักวิทยาศาสตร์ดูบ้าง
เปิดโลกทัศน์กันค่ะ ^^

ปล. เนื้อหาบางส่วนค่อนข้างเก่า อย่างเช่นจำนวนชนิดของอะตอม
ซึ่งในเล่มนี้บอกเอาไว้ว่ามีเท่ากับ 92 ชนิด
แต่ตอนนี้มีการค้นพบธาตุใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุด เหมือนเพิ่งประกาศไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ว่า เราพบธาตุใหม่เป็นชนิดที่ 118 แล้ว

Comments are closed.