อ่านแล้วเล่า

เมืองโบราณเหนือแผ่นดินสยาม

เมืองโบราณเหนือแผ่นดินสยาม

เรื่อง เมืองโบราณเหนือแผ่นดินสยาม
(กำเนิดและล่มสลายเมืองโบราณเหนือแผ่นดินสยาม จากอดีตถึงปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์เรื่องบ้านเรื่องเมืองสำคัญของไทย)
ผู้เรียบเรียง ภาสกร วงศ์ตาวัน
สำนักพิมพ์ ยิปซี
ราคา 180 บาท

คำว่า “เมืองโบราณเหนือแผ่นดินสยาม” นั้น
ไม่ได้หมายถึงแผ่นดินที่อยู่เหนือเราขึ้นไปแต่เพียงอย่างเดียว
แต่หมายถึงนครโบราณรอบๆ เรา ก่อนที่จะมารวบรวมเป็นสยาม เป็นไทยอย่างทุกวันนี้
ไล่เรียงไปถึงหริภุญชัย ละโว้ อยุธยา ฯลฯ และอาณาจักรอื่นๆ ในยุคไล่เลี่ยกัน
อย่างตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) และปัตตานีเข้าไปด้วย

เป็นการรวมตำนานเมืองต่างๆ เป็นประวัติศาสตร์ในเชิงนิทาน
บ้างก็เป็นตำนาน และบ้างก็เป็นประวัติศาสตร์จริงๆ อ่านสนุกได้ความรู้
เล่ากระชับด้วยภาษาเข้าใจง่าย
(แต่บางทีก็รวบรัดทำให้ขาดอรรถรสบางอย่างอยู่นะ)
ในแต่ละบทตอน แม้จะแบ่งแยกชัดเจนว่าตอนไหนพูดถึงเมืองอะไร
แต่แต่ละตอนก็ยังมีเนื้อหาต่อเนื่อง เชื่อมโยงกัน
ด้วยเหตุแห่งการอพยพ และทำสงครามของเมืองต่างๆ
เรื่องเล่าจึงส่งต่อจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่งเป็นเส้นต่อเนื่องอันเดียวกัน

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังแทรกนิทานตำนานที่มาของชื่อพิกัดต่างๆ ในประเทศไทยมากมาย
ทั้งหมู่บ้าน หนอง แม่น้ำ ภูเขา ฯลฯ
ตำนานพวกนี้ในประเทศไทยมีอยู่เยอะมาก
แถมยังเล่าเกี่ยวพันกับสถานที่ต่างๆ หลายๆ แห่งในชุมชนเดียวกันเอาไว้เป็นเรื่องเป็นราว
ล้วนแต่เป็นเรื่องสนุกปะปนไปด้วยอภินิหารต่างๆ นานา ฟังเพลิน (แต่จำไม่ค่อยจะได้)
อยากรู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนริเริ่มเป็นคนแรก
ช่างแต่งช่างเล่าขยายกันไปได้แทบจะทุกพื้นที่ในประเทสไทย
เป็นเอกลักษณ์ที่น่ารักของภูมิภาคเราเสียจริงๆ

อ่านสนุกดีค่ะ เพราะนอกจากจะมีเนื้อความตามประวัติศาสตร์แล้ว
ผู้เขียนยังแทรกความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือขัดแย้งกับประวัติศาสตร์
เอาไว้ให้เราขบคิดเอาสนุกได้อีกด้วย

เหมือนกลับไปเรียนประวัติศาสตร์สมัยประถมกันอีกครั้ง
แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่ย่อยง่ายและสนุก
แถมอ่านแบบไม่ต้องเอาไปสอบ อ่านแล้วจำได้บ้าง ลืมบ้าง
ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่เอาไว้อ่านฆ่าเวลาที่ดีค่ะ

มีบางจุดเหมือนกันที่อ่านแล้วงงๆ มึนๆ
เพราะตัวประวัติศาสตร์เองก็ยังตั้งอยู่บนการสันนิษฐาน ยังไม่สามารถฟันธงแน่นอนได้
ผู้เขียนก็ต้องเล่าอยู่บนรากฐานของหลักฐานชิ้นต่างๆ
แยกเป็นสมมติฐานของคนนั้นคนนี้ สุดท้ายก็ยังสรุปอะไรไม่ได้
แถมกษัตริย์โบราณก็มีชื่อซ้ำเยอะมาก
เหมือนเป็นตำแหน่ง หรือประเพณีนิยมอะไรอย่างนั้น
อ่านไปอ่านมาเลยงงๆ ว่าหมายถึงองค์ไหนยุคไหนกันแน่
แถมเมืองหนึ่งๆ อาณาจักรหนึ่งๆ ยังถูกเรียกเป็นหลายชื่อด้วย
บางชนชาติชื่อคล้ายๆ กัน ก็ไม่ใช่ชนชาติเดียวกัน
อ่านแบบพื้นฐานไม่แน่นนี่มึนดีเหมือนกัน

เป็นหนังสือที่ ถ้ามีเวลาเหลือเฟือในอนาคต ควรจะหยิบมาอ่านอย่างละเอียดอีกครั้ง
ถ้าให้ดีทำเป็นแผนผังเวลา เทียบกับแผนที่ ก็คงจะสนุกดีและเข้าใจง่ายขึ้น
แต่ตอนนี้ ขอตัวไปมึนแป๊บค่ะ

Comments are closed.