อ่านแล้วเล่า

เต๋อแบบพิกเลต

เรื่อง เต๋อแบบพิกเลต
ผู้แต่ง เบนจามิน ฮอฟฟ์
ผู้แปล อัจฉรา ประดิษฐ์
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9789740207580

ทั้ง เต๋าแบบหมีพูห์ และ เต๋อแบบพิกเลต
ก็ล้วนแล้วแต่อ้างอิงถึงคัมภีร์เต๋า เต๋อ จิง (เต้า เต๋อ จิง) เช่นเดียวกัน
ซึ่งในมุมของพูห์ พูห์เป็นตัวแทนของความเรียบง่าย
ในขณะที่พิกเลต เป็นตัวแทนของสิ่งเล็กๆ
(เต๋อ มีความหมายถึงคุณธรรมของความเล็ก และจิง แปลว่าคัมภีร์)

ทั้งผู้เขียนและผู้แปลต่างยืนยันกันเป็นเสียงเดียวว่า
นี่ไม่ใช่ภาคต่อของ เต๋าแบบหมีพูห์
หากแต่มันเป็นเกลอกันต่างหาก
และด้วยเหตุผลประมาณนี้ หนังสือทั้งสองเล่มนี้จึงต่างมีวิธีเขียนที่คล้ายๆ กัน
คือมีทั้งส่วนทฤษฎี มีส่วนที่ยกตัวอย่างมาจากหนังสือพูห์
(ที่แปลเป็นไทยแล้วทั้ง 2 เล่มคือ วินนีเดอะพูห์ และ บ้านมุมพูห์ )
และนอกจากนี้ ยังมีส่วนที่เจ้าตัวละครน้อยๆ ทั้งหลายในเรื่อง
จะโผล่หน้าออกมามีบทบาท ช่วยผู้เขียนอธิบายเรื่องยากๆ ให้ง่ายขึ้น
ด้วยสำนวนมึนๆ ตามคาแรกเตอร์ตัวเองอีกด้วย

ผู้เขียนเพียงหยิบเรื่องเต๋อ (และเต๋า) มาย่อยให้อ่านง่ายๆ
ผ่านตัวละครทั้งพิกเลต (และหมีพูห์ในเล่มก่อน)
ซึ่งเราก็ไม่ได้เชี่ยวชาญแนวนี้นะ
ไม่รู้ว่าหลักของเต๋าและเต๋อมีอะไรซับซ้อนและลงรายละเอียดเยอะกว่านี้หรือเปล่า
แต่สองเล่มนี้อ่านง่ายดี อ่านได้เพลินๆ

เราว่ามันอยู่ในหมวดหนังสือที่อ่านแล้วอบอุ่น อ่อนโยน ดีต่อใจนะ
ซึ่งจะว่าไป ก็รับประกันไม่ได้หรอกว่าทุกคนอ่านจะรู้สึกแบบนี้เสมอ
มันคงขึ้นกับประสบการณ์ส่วนตัวด้วย

สำหรับเรา ส่วนที่เจ้าพิกเลต
รวมทั้งพูห์และผองเพื่อนอื่นๆ เข้ามาแทรกนั่นน่ารักดี ชอบมาก
ส่วนในตอนที่ผู้เขียนอธิบายทฤษฎีหรือหลักการของเต๋า (และเต๋อ) นั่น
ก็ให้ความรู้สึกเหมือนน้ำใสไหลริน
อ่านได้เรื่อยๆ เพลินๆ โดยไม่ต้องเคร่งเครียดจับใจความอะไร
ปล่อยให้ตัวหนังสือไหลผ่านเราไป
แล้วก็กลั่นกรองรับเอาทั้งความรู้ และความรู้สึกนั้น

ผู้เขียนมีอารมณ์ขัน
เขาใช้ลักษณะนิสัยแบบอียอร์
เสียดสี วิพากษ์มนุษย์ในสังคมตะวันตก
หลายข้อดูจะเลยเถิดไปไกลเกินเรื่องเต๋อๆ เต๋าๆ
และหลายเรื่องดูน่าประหลาดใจมากที่ได้รู้ว่า
คนอเมริกันก็รู้สึกต่อผู้นำของเขาไม่ต่างจากที่เราๆ รู้สึกต่อผู้นำของเรา
นักธุรกิจอเมริกันทำลายล้างโลก (ในทางการผลาญธรรมชาติ) พอๆ กันกับนักธุรกิจบ้านเรา
นักการเมืองบ้าสร้างและบ้าซื้ออาวุธพอๆ กันกับเรา
แม้จะออกนอกเรื่องไปไกล แต่
มันดันไม่น่าเบื่อ
เพราะเราดันเห็นด้วยกับผู้เขียนซะอย่างนั้น!!

ที่น่าเสียดายคือ ผู้เขียนพูดถึงพิกเลตน้อยไปหน่อย ทั้งที่มันเป็นเจ้าของเรื่องเลยนะ
แต่ผู้เขียนยังรวบยอด เล่าถึงแรบบิท อียอร์ ทิกเกอร์ อาล์ว ฯลฯ เอาไว้ครบถ้วน ..
จนออกจะมากเกินไปด้วยซ้ำ

แม้เราจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเต๋อแบบที่อ่านง่าย
แต่มันก็ไม่ใช่หนังสือนิทานอ่านง่ายจนน่าเบื่อ
มันมีอะไรให้เราได้คิดตาม ได้งง ได้สงสัย ได้ชวนเชื่อ
อ่านไปก็คุยกับหนังสือไปด้วย เบื่อบ้าง สนุกบ้างไปตามเรื่อง
เพราะฉะนั้น อย่าคาดหวังอย่างสุดโต่งจากหนังสือเล่มนี้นะคะ 🙂

 

Comments are closed.