อ่านแล้วเล่า

บูรพา

35-2 บูรพา

เรื่อง บูรพา
ผู้แต่ง ว.วินิจฉัยกุล
สำนักพิมพ์ ทรีบีส์
ราคา 475 บาท

หยิบเล่มนี้มาอ่านต่อกับรัตนโกสินทร์ด้วยความโชคดีค่ะ
เพราะถึงแม้ว่าเนื้อหาของทั้งสองเรื่องนี้จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย
แต่ประวัติศาสตร์ของทั้งสองส่วนส่งทอด เชื่อมโยงต่อกันพอดิบพอดี
รัตนโกสินทร์จบเรื่องลงในสมัยรัชกาลที่ 3 และบูรพาเริ่มต้นเรื่องในสมัยรัชกาลที่ 4
รัชกาลที่ชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาทในราชสำนัก
และมีบทบาทต่อสยามประเทศมากขึ้นอย่างเห็นได้ชาติ
ผู้เขียนจับประเด็นนี้ สร้างตัวละครต่างชาติให้เป็นนางเอกเสียเลย

การเล่าเรื่องแบ่งออกเป็นส่วนๆ
ในส่วนแรกเริ่มต้นเรื่องด้วยจดหมายของอสนี วิชชุเสนา ณ อยุธยา
ลูกหลานในตรุกูลวิชชุเสนาอันสืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายสายฟ้า (หม่อมเจ้าวิชชุประภา)
และแคธรีน เบอเนตต์ ลินลีย์
การเริ่มเรื่องทำได้สมจริงจนเกือบเผลอเข้าใจผิดว่านี่เป็นเรื่องจริง
และบุคคลต่างๆ เป็นเรื่องจริง จนผู้เขียนต้องมีภาคผนวกอธิบายเอาไว้ท้ายเล่ม
ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่มีราชสกุลนี้ เป็นสายสกุลที่ถูกสมมติขึ้นมาทั้งหมดทุกคน
ในบางส่วนต่อมา เป็นการเล่าเรื่องจากบันทึกของแคธรีน
ด้วยความที่เธอชอบอ่านหนังสือ เธอจึงเริ่มต้นที่จะเขียนดูบ้าง
และมันเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ลูกหลานในตระกูลได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ในบางส่วน เป็นการเล่าเรื่องในมุมมองของเจ้าชายสายฟ้า และผู้เขียนเอง
ในการเล่าเรื่องเช่นนี้ ทำให้เรามองเห็นภาพทุกมุมที่เกิดขึ้น
ได้เข้าใจความรู้สึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องในเรื่อง
โดยเฉพาะแคธรีน หญิงสาวชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตในสยามยุคพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

35-1 บูรพา

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ยุควิคตอเรีย
ในยุคที่ผู้ชายอังกฤษนิยมออกเดินทางเพื่อค้นหาชีวิตใหม่ในดินแดนอันไกลโพ้น
แคธรีนเป็นผู้หญิงหนึ่งในจำนวนน้อยนั้นที่คิดโลดโผนเช่นเดียวกับผู้ชาย
เธอชอบอ่านหนังสือ และใฝ่ฝันถึงการเดินทางไปยังดินแดนที่แสนไกล
เธอและอาเธอร์ ลินลีย์ พบและรัก(?) กันในระยะเวลาสั้นๆ
ก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกันอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่รู้จักกันดีพอ
เพราะสถานการณ์กำหนด .. เขาจะต้องเดินทางไปรับราชการที่สยามในอีกไม่นาน
และเมื่อเธอแต่งงานกับเขา เธอก็จะเดินทางไปพร้อมเขา .. สู่ดินแดนบูรพา
แม้จะฉุกละหุก แต่ทั้งสองก็ทำทุกอย่างตามประเพณี

ในวันแต่งงาน แคธรีนจับไข้ออกหัด .. เธอผ่านพ้นพิธีแต่งงานอย่างรวบรัด รวดเร็ว
แต่เธอไม่สามารถเดินทางไปพร้อมเขาได้ ..
อาเธอร์ออกเดินทางไปก่อน และสัญญาว่าจะหาทางให้เธอได้เดินทางตามไปภายหลัง
ไม่มีใครคาดคิดว่าการเปลี่ยนกำหนดการในครั้งนี้จะพลิกชะตาชีวิตของคนทั้งหมด

แล้ววันนั้นก็มาถึง ..
แคธรีนได้ร่วมทางที่คอนข้างสะดวกสบายร่วมทางไปกับร้อยเอกจัสติน
ชายหนุ่มชาวสยามผู้มีกิริยาดี มีความรู้และมารยาทสมบูรณ์พร้อม

บนเรือเดินทางสู่สยามประเทศประกอบไปด้วยตัวละครหลากหลาย
พันเอกโรแลนด์ นายทหารหม้ายผู้ที่เพิ่งแต่งงานกับแมรี่ ..
ลูกพี่ลูกน้องผู้แสนเอาแต่ใจของแคธรีน
แมรี่เดินทางมาพร้อมกัน และพ่วงเอาแอนนี่เด็กรับใช้ติดมาด้วยคนหนึ่ง
โรเบิต ฮันเตอร์ ลูกครึ่งชาวอังกฤษและสยาม
ชายหนุ่มขี้โอ่วางก้าม มีปมว่าตนไม่ใช่อังกฤษแท้
ชายชาวสยามที่ใช้ชื่อแทนตนว่าจัสติน และคนสุดท้ายคือแคธรีนเอง

ใครจะคิด .. ว่าความรักจะก่อกำเนิดขึ้น .. รักบนความแตกต่างทุกอย่าง

35-3 บูรพา

ความรักที่เป็นไปไม่ได้ และมันยิ่งทวีความเป็นไปไม่ได้ให้มากขึ้นอีก
เมื่อเธอมารู้ในภายหลังว่าแท้ที่จริงแล้ว จัสตินคือเจ้าชายจากสยามประเทศ

แต่หัวใจคนเราทำได้ทุกอย่าง มันผลักดันให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้น ..
หัวใจของแคธรีนผลักดันให้เธอเริ่มต้นที่จะทำมัน .. ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

ในวันแรกที่แคธรีนถึงบ้านของอาเธอร์ในสยาม เธอจึงได้รับรู้ความจริงว่า
แท้ที่จริงแล้ว อาเธอร์ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งอยู่ในบ้าน
หญิงสาวชาวอังกฤษ ผู้ประพฤติตนเป็นคู่นอนไร้ราคา
(ชาล็อตต์มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ด้วย)

เมื่อปัญหามาเจอกันปัญหา แทนที่ทุกอย่างจะยุ่งยาก มันกลับคลี่คลายปมบางอย่าง
ผู้หญิงอังกฤษในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่ได้ทันสมัยจ๋าเหมือนฝรั่งยุคเรา
ชีวิตของพวกเธอ ความสุขทุกข์ของพวกเธอ .. ยังต้องขึ้นอยู่กับสามี
คงเทียบได้กับค่านิยมยุคพ่อแม่ของเรา ที่เมื่อแต่งงานไปแล้วก็ต้องทนหวานอมขมกลืน
ถึงอย่างไร เรื่องหย่าร้างก็เป็นเป็นเรื่องผิดบาปและใหญ่โตในสายตาของสังคมอยู่ดี

การที่หญิงม่าย หรือแม้แต่หญิงสาวชาวอังกฤษจะแต่งงานกับชายชาวตะวันออก
เป็นเรื่องยากมหันต์พอๆ กันกับการที่เจ้าชายสยามจะแต่งงานกับแหม่มผมทอง

นางเอกของอาจารย์วินิตาคนนี้หัวก้าวหน้าไม่แพ้ลอออรจากมาลัยสามชายเลย
ล้ำกว่าด้วยซ้ำ เพราะมีขนบฝรั่งติดตัวมาเป็นพื้นฐาน
แคธรีนตัดสินใจส่งจดหมายลับๆ ขอความช่วยเหลือจากจัสตินหรือเจ้าสายฟ้า
ให้ช่วยเธอหลุดพ้นจากปัญหานี้
ด้วยความลงตัว เธอได้รับเชิญให้ไปสอนภาษาและความรู้
สำหรับกุลสตรีในพระบวรราชวัง (วังหน้า)

วันที่แคธรีนเข้าวัง คือวันที่ชีวิตคู่ระหว่างเธอและอาเธอร์สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ชีวิตในวัง ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม
ก็ทำให้เกิดเรื่องราวโกลาหนสนุกสนาน (ต่อคนอ่าน) มากมาย

ชีวิตของแคธรีนและเจ้าชายสายฟ้า เริ่มต้นอย่างอย่างลำบาก
และดำเนินไปอย่างยากลำบากยิ่งกว่า
แม้ทั้งคู่จะรักกัน แต่ความรักไม่สามารถเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างได้เหมือนดั่งเทพนิยาย

ผู้เขียน เขียนบูรพาอย่างชีวประวัติของคนคู่หนึ่ง
แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ก็เขียนอย่างสมจริง
ทำให้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น .. แม้เริ่มต้นคล้ายคลึงกับนิทานชวนฝัน
ความรักของเจ้าชายตะวันออก กับหญิงสาวชาวตะวันตก
แต่เมื่อความรักเกิดขึ้นอย่างจริง เรื่องราวอื่นๆ ที่ตามมาจึงดู “จริง” ไปหมด
จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ความสุขอย่างในนิยายเท่าไรเลย
ถึงอย่างนั้น ผู้เขียนก็ยังใจดี ที่เพิ่มเติมความสุขนิดๆ หน่อยๆ ให้คนอ่านในตอนท้ายเรื่อง
แม้ไม่จบชวนฝัน แต่ความสมจริงก็ทำให้ความสุขนั้นอิ่มเอมและจีรังยิ่งกว่า

บูรพาเป็นนิยายที่อ่านเอาประวัติศาสตร์ก็ได้ค่ะ
แม้เรื่องราวจะเน้นไปที่ตัวแคธรีนเป็นส่วนมาก
แต่เราก็จะได้กลิ่นอายของชีวิตคนไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่จางๆ
หรือจะอ่านเอาอรรถรส เล่มนี้ก็มีเพียบพร้อม สมบูรณ์ ทั้งความสุข ความเศร้า อาลัย อาวรณ์
เป็นความทุกข์สุขของมนุษย์ตั้งแต่วัยเริ่มต้นชีวิต วัยที่เต็มไปด้วยความฝัน
จวบจนถึงวัยที่ต้องรับภาระหน้าที่ต่างๆ ภาระของครอบครัว ภาระของความเป็นลูก
และภาระของคนที่เป็นพ่อแม่ .. แม้จะล่วงเข้าสู่วัยกลางคน
มนุษย์ไม่เคยสิ้นสุดความสุขทุกข์ แม้จะไม่โลดโผนเท่าวัยหนุ่มสาว แต่ก็ยังนับว่ามีอยู่นั่นเอง
และเราก็จะหลงไปกับความทุกข์สุขของตัวละครในวัยต่างๆ
สุขเศร้าไปกับพวกเขา และเอาใจช่วยให้เรื่องราวจบลงด้วยดี
เป็นอีกเล่มที่อ่านแล้วอิ่มเอมค่ะ

Comments are closed.