อ่านแล้วเล่า

ตาย-เป็น : การแพทย์สมัยใหม่ ความตาย และความหมายของปลายทางชีวิต

เรื่อง ตาย-เป็น
การแพทย์สมัยใหม่ ความตาย และความหมายของปลายทางชีวิต

ผู้แต่ง กาวานดี อาทูล
ผู้แปล บวรศม ลีระพันธ์
สำนักพิมพ์ openworlds
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167885292

ครั้งแรกที่ได้รับหนังสือเล่มนี้มา
เราจินตนาการไปเองว่ามันเป็นหนังสือเชิงปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องมรณานุสติ ทำนองนั้น
ต่อเมื่ออ่านคำนำ คำนิยมต่างๆ จึงเริ่มปรับความเข้าใจใหม่
มันไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับการยอมรับความตายอย่างสงบ
ในแง่มุมของศาสนา หรืออะไรทำนองนั้น
แต่เป็นเรื่องราวที่เน้นหนักไปในทางการแพทย์
การอภิบาลผู้สูงอายุในช่วงสุดท้ายของชีวิตทั้งทางร่างกายและโดยเฉพาะจิตใจ
อธิบายแนวทางการรักษาในรูปแบบของการร่วมกันรักษา ทั้งแพทย์ และผู้ป่วย
หรือว่าด้วยเรื่องของการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยร้ายแรงกับแพทย์ผู้รักษา ประมาณนั้น

คำนำตอนต้นเล่มนี้ใช้ภาษาปลิดชีพมาก
ภาษามันออกจะดูวิชาการจ๋า จนน่ากลัวว่าจะอ่านยาก
มันขู่เราว่าเนื้อหาข้างในนี้โคตรวิชาการเลย
แต่พอเริ่มเปิดอ่านเนื้อหาข้างในเข้าจริงๆ มันก็ไม่ได้ดุขนาดนั้น
มันอ่านง่ายกว่าที่เกร็งรอทีแรก

ผู้เขียนนำเราเข้าสู่โลกของผู้สูงอายุอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
มีตัวอย่างการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุที่มีตัวตนจริงๆ หลายกรณี
มาแนะนำให้เราได้รู้จัก ได้เขาใจตัวเขาและปัญหาของเขา
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นหมอ (และผู้แปลก็เป็นหมอ) เขาก็อธิบายในแง่มุมของหมอด้วย
ซึ่งมันเป็นไปอย่างง่ายๆ เข้าใจได้ไม่ยาก

หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของการดูแลรักษาผู้ป่วย
โดยเน้นไปที่ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคร้ายแรง (เน้นมะเร็งเป็นหลัก) และผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ในช่วงต้นเล่ม
ผู้เขียนได้ตีแผ่ช่วงชีวิตสุดท้ายของผู้สูงวัยทั้งหลายเอาไว้อย่างน่าหดหู่
พวกเขาไม่มีอิสระที่จะใช้ชีวิตตามใจตัวเอง ..
มันเต็มไปด้วยจุดมุ่งหมาย “เพื่อความปลอดภัย”
แต่ทั้งหมดไม่ได้ขึ้นกับความพอใจ
หรือกิจวัตรอันเคยชินมาตลอดชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น

 

การดูแลให้ความสำคัญไปที่สุขลักษณะ ความเจ็บป่วยเฉพาะตัว และสวัสดิการ
แต่จิตใจที่อิสระเสรีเล่า .. มันเป็นคนละเรื่องกับทุกอย่างข้างต้น
คนแก่ก็มีจิตใจไม่ต่างจากวัยรุ่นหรือคนวัยอื่นๆ
พวกเขาไม่ได้ต้องการความปลอดภัย 100% อย่างที่ญาติๆ ของพวกเขาคิด
เขาต้องการอิสระเสรีที่จะเลือก จะคิด จะตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวเองมากกว่า

ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ควรมีโอกาสเลือกตอนจบของชีวิตตนเองได้
มากกว่าแพทย์หรือผู้เชียวชาญใดๆ
จะมากำหนดขั้นตอนการรักษาอันแสนซับซ้อนและทรมาน
เพียงแค่เพื่อยืดช่วงเวลาของชีวิตออกไปอีกเพียงเล็กน้อย

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผู้เขียนเล่าว่าพ่อของเขา (ซึ่งเป็นหมอเหมือนกัน) ป่วยเป็นมะเร็ง
และต้องรับการรักษาจากหมอหลายคน
ทำให้เราปลงได้เลยว่า แม้แต่หมอด้วยกันยังสื่อสารกันไม่เข้าใจเลย
นับประสาอะไรกับคนไข้ตาสีตาสาอย่างเราๆ
ผู้ป่วยโรคร้ายแรงไม่อาจได้รับคำแนะนำการรักษาที่ถูกต้องชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์
เป็นไปได้ว่าหมอก็ไม่รู้ชัด แต่ปัญหาคือหมอไม่ควรปลอบใจแบบส่งๆ
คนไข้ต้องการรู้ข้อมูลที่แท้จริงเท่าที่หมอรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีรักษา

แม้ว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ จะเป็นไปในทางทรมานจิตใจสำหรับเรา
เพราะเนื้อหามันไม่สนุก มันชวนหดหู่
แถมยังเต็มไปด้วยกรรมวิธีการรักษาแบบต่างๆ
อาทิเช่น การเจาะ ผ่า การร้อยท่อนานาชนิดเข้าไปในร่างกาย ฯลฯ
อาการต่างๆ ที่เกิดกับผู้ป่วยและผู้สูงวัยก็ไม่ได้จรรโลงจิตใจขณะอ่าน
แต่เมื่อทนทู่ซี้อ่านไปจนจบ เราพบว่า ..
มันเป็นหนังสือที่ดี และก็มีบางช่วงที่สนุกดีเหมือนกัน (เป็นความสนุกที่อธิบายยาก)
เราได้แนวความคิดใหม่ๆ มีข้อมูลความรู้เป็นบรรทัดฐาน
กะจะเก็บไว้ใช้เวลาไปพบแพทย์หรือพาญาติผู้ใหญ่ไปพบแพทย์

ยิ่งอ่านก็ยิ่งพบว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะมากสำหรับคนที่มีผู้ใหญ่อยู่ในบ้าน
ผู้ใหญ่แบบแก่มากๆ หรือป่วยมากๆ และต้องพาไปหาหมอบ่อยๆ
เราจะเริ่มๆ ค้นพบวิธีสื่อสาร การมองหาความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา
ซึ่งจะนำมาซึ่งความสุขสงบเท่าที่จะเป็นไปได้ .. ในช่วงท้ายของชีวิต
แม้ว่าคนทั่วไปอาจจะอ่านไม่อิน
แต่หนังสือเล่มนี้เหมาะที่จะแฝงตัวอยู่ในชั้นหนังสือของโรงพยาบาลจริงๆ ค่ะ
(ว่าแต่ในโรงพยาบาลมีห้องสมุดหรือชั้นหนังสือมั๊ยนะ?)

Comments are closed.