อ่านแล้วเล่า

ชีวิตบลู

เรื่อง ชีวิตบลู
ผู้แต่ง ฮามานากะ อากิ
ผู้แปล ชัญพัส วรศักดิ์
สำนักพิมพ์ คลาสแอคท์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786168110454

กลิ่นอายความดาร์กลอยมาตั้งแต่เปิดหน้าแรก

มันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคเฮเซ (ค.ศ. 1989 – 2019)
ว่าด้วยเรื่องของมนุษย์คนหนึ่ง
ที่ถือกำเนิดขึ้นในวันแรกที่ปีเฮเซเริ่มต้น
และตายจากไปในวันสุดท้ายของยุคสมัยนั้น
ชื่อของเขาคืออาโอะ ที่แปลว่าสีน้ำเงิน
แต่สุดท้ายทุกคนก็เรียกเขาว่าบลู

ความพังทลายที่เริ่มต้นจากจุดเปราะร้าวเพียงนิด
อาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากโศกนาฏกรรมในครอบครัว
ความรุนแรงขยายตัวเป็นลูกโซ่ ส่งต่อกันเป็นทอดๆ
ความรักที่หายไปจากครอบครัว
ก่อให้เกิความบิดเบี้ยวของสังคม

เราชอบพาร์ทแรก
ที่ให้บรรยากาศการไล่ล่าตามหาเหตุและผล
ขณะที่พาร์ทหลัง
เราก็ชอบการหยิบเอาตัวตนของตำรวจ
มาอยู่บนความหมิ่นเหม่
เราชอบความรู้สึกขัดแย้งภายในใจของคุณตำรวจ
ที่จมปริ่มอยู่กับสำนึกผิดชอบชั่วดี
ความรู้สึกผิดต่อตนเอง ที่ทับซ้อนรอย
กับพฤติกรรม?ของอีกตัวละครที่เลวร้าย
โกรธคนที่ทำให้ฆาตกรต้องกลายเป็นฆาตกร
ขณะเดียวกัน ก็โกรธตัวเองที่แทบจะไม่ต่างกัน ..
เป็นการเปรียบเทียบตัวละคร –
ที่ผู้เขียนหยิบมาบีบเค้นอารมณ์คนอ่านได้ดีเลย

เล่มนี้เล่าเรื่องด้วยการส่งไม้ผลัด
จากผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งไปยังคนต่อๆ ไป
ผู้เขียนมีภาพร่างเชื่อมต่อ โยงใย กันอยู่ในหัว
แล้วหยิบแต่ละจุดมาเล่า อย่างเนิบๆ เรื่อยๆ
จนกระทั่งจุดหนึ่งที่เปิดเผยความเชื่อมโยงบางอย่างออกมา ..
ทำให้เราทึ่ง!!

หนังสือบอกเล่าชีวิตของเด็กคนหนึ่ง .. บลู
เด็กชายที่น่าสงสารที่สุดในเรื่อง
เด็กชายที่สะอาด บริสุทธิ์ แสนดี และไร้ตัวตน

ชะตากรรมของเด็กชายคนหนึ่ง
และเด็กชายหญิงคนอื่นๆ
ในยุคสมัยที่เราผ่านมา
แม้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นที่คนละประเทศ
แต่ความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม
ก็ทำให้เราเห็นภาพแทบจะซ้อนทับ
กับหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

เพิ่งพูดถึงไปหยกๆ ในรีวิวหนังสือเล่มที่แล้ว
ว่าเราพบเหตุการณ์ฆาตกรรมยกครัวบ่อยๆ
ในวรรณกรรมญี่ปุ่น
นึกไม่ถึงว่าเล่มต่อมาที่หยิบมาอ่าน
ก็แทบจะเกิดเหตุการณ์ทับซ้อนรอยกัน
แตกต่างเพียงรายละเอียดและวิธีเล่า

หนังสือได้บันทึกเหตุการณ์ในยุคเฮเซ
ที่คนยุคเราเคยมีประสบการณ์ร่วมเอาไว้หลายอย่าง
ทำให้คนอ่านได้เข้าใจวิวัฒนาการของยุคที่ค่อนข้างร่วมสมัย
ได้เห็นรากฐาน ที่มาที่ไป
ทั้งในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และค่านิยม
จริงๆ แล้ว ญี่ปุ่นก็มีขยะสกปรกที่ซ่อนอยู่ใต้พรมไม่ต่างจากบ้านเรา
แต่มันต่างกันตรงที่ พวกเขายังมีความคิดที่จะทำความสะอาด
รื้อร้างระบบ เพื่อให้ความเลวร้ายเหล่านั้นหายไป
ผู้เขียนตีแผ่ด้านมืดของญี่ปุ่นอย่างตรงไปตรงมา
เปิดเผยเรื่องราวในพื้นที่สีเทา
การล่วงละเมิดทางเพศ การค้าประเวณี
แรงงานผิดกฎหมาย
อำนาจมืดที่มีอิทธิพลเหนือตำรวจ
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
แบบที่รุนแรงมากกว่าเล่มไหนที่เคยอ่านมา ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้ทำได้ดีไปหมดทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นพล็อต วิธีเล่าเรื่อง การดำเนินเรื่อง
ลำดับขั้นของการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ
รวมไปถึงการสอดแทรกข้อมูลแห่งยุคสมัย
ก็ทำได้กลมกล่อมไม่ยัดเยียด ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน
ในด้านอารมณ์ก็ไต่ระดับได้ดี ไม่จืดชืด แต่ก็ไม่ฟูมฟาย
ไปจุกอกสุดๆ เอาตอนจบทีเดียว
เป็นหนังสือที่ลงตัว 

ถ้าจะถามความขัดใจ
เราไม่ชอบประโยคบอกความรู้สึกของพี่ชายตอนจบเรื่อง
มันสะดุดอารมณ์และช็อตฟีล
แต่นั่นก็เป็นความรู้สึกส่วนตัว ไม่ใช่ข้อด้อยของหนังสือ
บางที เราอาจจะลำเอียงเข้าข้างบลูเกินไป ..

Comments are closed.