อ่านแล้วเล่า

จิตา

143-1 จิตา

เรื่อง จิตา
ผู้แต่ง ทมยันตี
สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม
ราคา (เล่มละ) 380 บาท (2 เล่มจบ)

ตอนที่อ่านเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ยังอยู่ในวัยเรียนอยู่เลยค่ะ
อ่านจบแล้วชอบมาก
ผู้เขียนเปิดเรื่องได้ดึงดูดความสนใจมาตั้งแต่ต้น
เมื่อเด็กหญิงเล็กๆ ที่เพิ่งพ้นวัยทารกมาไม่นานคนหนึ่ง
แสดงออกถึงการมีอำนาจทางจิต สามารถเคลื่อนย้ายของเล่นที่ต้องการมาสู่ตนเองได้!

ความมหัศจรรย์ของจิตา ค่อยๆ เริ่มปรากฏและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทมยันตีใช้ความน่าตื่นตาตื่นใจของอภินิหาร
มาดึงเราผู้อ่านเข้าสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้ทางพุทธศาสนา
เรื่องราวของสมาธิ พลังทางจิต และโลกหน้า

จารวีและทศพร แม่และพ่อของจิตา
เป็นตัวแทนของคนไทยพุทธยุคนี้ ที่เป็นชาวพุทธโดยมรดก เป็นพุทธเพียงนาม
หากแต่รู้เรื่องราวแก่นแท้ของพุทธศาสนาน้อยมาก
ต่อเมื่อลูกสาวผิดปกติ แบบที่ไม่มีใครสามารถหาคำมาอธิบายได้
เมื่อนั้น จิตใจของทั้งสองคนจึงเริ่มเปิดรับพุทธศาสนา ..
เปิดรับความมหัศจรรย์ในทางพุทธศาสนา .. เพื่อหาคำตอบในสิ่งที่ลูกเป็น

143-2 จิตา

นัยยะสำคัญที่ซ่อนไว้ภายใน
มีแก่นของเรื่องไม่ต่างไปจากนวนิยายหลายๆ เรื่องของผู้เขียน
ซึ่งล้วนพูดถึงบุญกรรมที่เคยทำมาแต่ชาติก่อน หรือชีวิตหลังความตาย
เป็นเส้นแห่งไทม์ไลน์ยาวๆ หลายชั่วชีวิตของตัวเราเอง
เกิดดับ เกิดดับ สร้างกรรม รับผลกรรม เวียนว่ายวนเวียนไม่จบสิ้น

143-4 จิตา

มีตัวละครที่เป็นตัวอย่างของมนุษย์หลายๆ แบบ
มนุษย์ที่เชื่อในพุทธศาสนา และปฏิบัติตามหลักแห่งพุทธะ
มนุษย์ผู้ปฏิบัติธรรมมาโดยตลอด แต่หัวใจเพิ่งเริ่มรับรู้ธรรมที่แท้จริงเมื่อทุกข์กระทบ
มนุษย์ผู้ทำบุญ แต่ไม่รู้จักบุญ
มนุษย์ที่นับถือพุทธศาสนา แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับศาสนาพุทธเลย
มนุษย์ที่นับถือพุทธศาสนา แต่รับความเชื่อแบบงมงายมาเต็ม
และมนุษย์ที่นับถือพระ ไหว้พระ และขอพระ โดยที่ไม่ลงมือปฏิบัติ ฯลฯ
มนุษย์แต่ละแบบ แตกต่างกันไปตามบัวหลากเหล่า
เมื่อมีเหตุเกิดแก่ตน มนุษย์แต่ละแบบถูกน้อมนำ และเลือกหนทางปฏิบัติ
แม้บัวปริ่มน้ำ ก็ยังเปิดรับพุทธศาสนาได้ .. บ้าง .. เบาบาง .. แต่ก็นับว่ายังได้เริ่มต้น 143-3 จิตา

แม้เนื้อหาของเรื่อง ผู้เขียนจะตั้งใจสอดแทรกธรรมะเข้ามาอย่างเข้มข้น
แต่จิตาก็ไม่ใช่หนังสือธรรมะที่อ่านยาก
ออกจะเป็นหนังสือที่อ่านได้สนุกเสียด้วยซ้ำ
ตัวละครในเรื่อง แม้จะมีดีเลวปะปนอย่างมนุษย์ปุถุชน
หากแต่เมื่อได้รับการสั่งสอน (ทางธรรม) ได้เรียนรู้ มนุษย์ก็มีพัฒนาการ
ต่อให้เป็นคนที่โง่ที่สุด หรือกิเลสหนาที่สุด (ในเรื่อง)
ก็ยังได้เรียนรู้ ได้เริ่มต้นหนทางแห่งพุทธะ
แม้หนังสือจะเปิดมาแบบมีตัวกึ่งร้ายกึ่งดี แต่ในตอนท้าย ผลที่เกิดขึ้นก็ทำให้ชื่นใจ
จำได้ว่าตอนอ่านครั้งแรกๆ เสียน้ำตาให้กับตอนจบของจิตาหลายหน
แต่มาจนถึงครั้งนี้ มีเพียงแค่น้ำตาคลอๆ กึ่งเศร้า กึ่งปีติ

143-5 จิตา

แม้จะเคยอ่านจิตามาหลายหนแล้ว แต่นานๆ หยิบมาอ่านเสียอีกที
ก็ปลุกสำนึกอยากทำความดีในตัวขึ้นมาทุกครั้ง
อ่าน เพื่อเอาไว้กล่อมเกลาจิตใจ เวลาที่หลงๆ ลืมๆ ธรรมะไปบ้าง
จิตา
เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับสมาธิ พลังจิต และพลังในทางพุทธศาสนา
ที่สนุกที่สุดของทมยันตี (ในทัศนคติของเราค่ะ)

Comments are closed.