จดหมายจากสันคะยอม

เรื่อง จดหมายจากสันคะยอม
ผู้แต่ง ฮิมิโตะ ณ เกียวโต
สำนักพิมพ์ สารคดี
ราคา 190 บาท
สันคะยอมในมุมของฮิมิโตะฯ คือตัวอย่างหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทของไทย
เปล่า .. จดหมายจากสันคะยอมไม่ใช่เรื่องเครียดขนาดนั้น
สำนวนของฮิมิโตะฯ ยังคงผ่าซาก และเปิดมุมมองแปลกๆ ให้เราเสมอ
เรื่องเล่าในจดหมายจากเกียวโต
เราได้รู้ว่าฮิมิโตะฯ จากบ้านจากเมืองไปอยู่เกียวโตเสียหลายปี
การห่างบ้านไปนานขนาดนั้น เมื่อกลับมาอีกครั้ง ย่อมหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงไม่พ้น
ความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดาโลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
เพียงแต่ถ้าเราอยู่กับมัน เราอาจจะไม่รู้สึก
แต่สำหรับคนที่จากไปนานๆ บางความเปลี่ยนแปลงก็ทำให้รู้สึกเศร้า
เปล่า .. ฮิมิโตะฯ ไม่ได้บอกว่าเธอเศร้าแม้แต่น้อย
แต่ตัวหนังสือของเธอแอบบอกเราเป็นระยะๆ .. ว่าอย่างนั้น
จดหมายจากสันคะยอม เป็นภาคต่อของจดหมายจากเกียวโต
ด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเชื่อมต่อกัน
แต่ภาพที่เกิดขึ้น เป็นคนละภาพ เปลี่ยนจากเกียวโต ณ ญี่ปุ่น
มาเป็นหมู่บ้านสันคะยอม ณ เชียงใหม่แทน
เมื่อฉากเปลี่ยน เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเปลี่ยนไปตามภาพ
ภาพที่สันคะยอมคือวิถีชีวิตเก่าแก่ของคนเมือง (เชียงใหม่)
ที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปเพราะวิถีชีวิตคนเมือง (หลวง) เข้าแทรกแซง
ฮิมิโตะฯ ฉีกขนบสาวเชียงใหม่ในทุกมโนฯ
หลายหัวข้อที่ฮิมิโตะฯ นำมาเล่าในจดหมายจากสันคะยอมนั้น
น่าสนใจและน่าปวดหัวไปพร้อมๆ กัน
ที่น่าสนใจคือ เป็นมุมมองชนบทจากคนชนบทแบบที่เราไม่ค่อยจะได้คิดได้เห็น
แต่ที่น่าปวดหัวก็คือ มันพลิกโลก กลับตาลปัตรไปจากรากฐานที่เราเคยคุ้น
ความผกผันของสังคมจริงๆ กับสังคมในหนังสือแบบที่คนกรุงอ่าน
มันกลายเป็นความยากที่จะหาจุดบรรจบกันได้
แต่อย่าเพิ่งไปนึกภาพหนังสือวิชาการเครียดๆ นะ
ฮิมิโตะฯ ถ่ายทอดมันออกมาในแบบที่อ่านง่าย เห็นภาพชัดแจ้ง
ด้วยสำนวนมันส์หยด .. มันส์แบบที่เคยบอกไว้ว่า ..
บางตอนก็น่ารัก และบางตอนก็น่าหมั่นไส้นั่นแหละ
นอกจากเรื่องราวทั่วๆ ไปของสังคมความเป็นอยู่แล้ว
ฮิมิโตะฯ ยังเล่าเรื่องอาหารการกินด้วย
เวลาที่ฮิมิโตะฯ เล่าเรื่องการทำอาหารอย่างลาบ หลู้ หรือส้าแล้ว
คำบรรยายของเธอช่างทำให้เราเห็นภาพ รส กลิ่นแทบในคราเดียวกัน
อ่านแล้วก็พิพักพิพ่วน กึ่งอยากชิม กิ่งแหวะเวียนเหียนมึนอย่างบอกไม่ถูก
เรียกว่าบรรยายดีเกินเหตุน่าจะได้
ตอนหนึ่งที่ตื่นตาตื่นใจ และคล้ายๆ จะได้เห็นภาพทับซ้อนกับตัวเราในวัยเด็ก
ก็คือตอนที่ฮิมิโตะฯ เล่าถึงกระบวนการเริ่มต้นการอ่านของเธอ
คนบ้าหนังสือคล้ายๆ กันอ่านแล้วเลยอินเป็นพิเศษ ^^
เด็กๆ สมัยเรามักขาดแคลนหนังสือ การอ่านในวัยเด็กจึงเป็นไปแบบหิวกระหาย
อ่านเอาเป็นเอาตาย อ่านเป็นบ้าเป็นหลัง จนติดนิสัยมาถึงตอนโต
ต่างกันหน่อยนึงตรงที่ตอนเด็กๆ หนังสือมีน้อย เลยต้องอ่านซ้ำๆ เล่มเดิมๆ หลายรอบ
เรื่องไหนเป็นยังไงจำได้ขึ้นใจ
ในขณะที่พอโตขึ้น บางเล่มเพิ่งอ่านจบไปไม่ถึงเดือน จำชื่อพระนางไม่ได้เสียแล้ว
แต่ก็เป็นความต่างที่มีความสุขทั้งสองแบบ ^^
จดหมายจากสันคะยอมเล่มนี้ สนุกและพัฒนาขึ้นจากจดหมายจากเกียวโตเยอะมากค่ะ
Comments are closed.