อ่านแล้วเล่า

คำสาปร้านเบเกอรี

110-1 คำสาปร้านเบเกอรี

เรื่อง คำสาปร้านเบเกอรี
ผู้แต่ง ฮารูกิ มูราคามิ
ผู้แปล วชิรา, นาลันทา คุปต์, ไกรวุฒิ จุลพงศธร,
จินนี่ สาระโกเศศ, สิงห์ สุวรรณกิจ, อนุสรณ์ ติปยานนท์

สำนักพิมพ์ กำมะหยี่
ราคา 195 บาท

หลังจากจบเล่มที่แล้วไป (เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน)
เราก็กลับมาเริ่มเข็ดๆ กับงานของมูราคามิอีกครั้ง (โดยเฉพาะเรื่องสั้น)
แต่ก็ตัดใจหยิบเล่มนี้มาอ่าน เพราะเป็นรวมเรื่องสั้นในชุดเดียวกัน ต่อกัน
หยิบมาอ่านให้จบๆ ไป เผื่อจะได้ตัดสินใจทำอะไรกับมันซะที

สำนวนแปลดีโดยสม่ำเสมอเท่ากันทุกตอน
ทั้งๆ ที่กระจายกันแปลไปคนละบทคนละตอน

เรื่องสั้นเหล่านี้ มีรอยเชื่อมต่อกับบางเรื่องยาวของเขา
ทั้งที่เคยเขียนไปแล้ว และกำลังจะเขียนในอนาคตต่อไป?
คนที่มีประสบการณ์การอ่านหนังสือของเขาน้อยกว่าน้อย
และไอ่ที่อ่านไปแล้วไม่ค่อยจำก็มี
ทำให้เราไม่ค่อยจะมีส่วนร่วมกับความเชื่อมต่ออันนี้

มีรสชาติและกลิ่นไอคล้ายคลึงกันกับรวมเรื่องสั้นเล่มแรก ..
เส้นแสงที่สูญหายฯ มีความคล้ายคลึงจับเข้าคู่กันได้เป็นเรื่องๆ

คำสาปร้านเบเกอรี่
ถ้าเป็นตรรกะ ก็เป็นตรรกะป่วยๆ
แต่ถ้าเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งก็อาจจะเป็น .. อย่างที่คำนำเกริ่นเอาไว้
ก็แล้วแต่จะขบคิดกันไป
และสรุปได้ว่า ..
เราไม่ชอบการตีความเนื้อเรื่องที่ตั้งอยู่บนตรรกะบิดเบี้ยวอย่างนี้
การอ่านรอบที่สองอาจจะทำให้ผ่านพ้นจุดนี้ไปได้
แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นแรงบันดาลใจให้หยิบมาอ่านซ้ำ

ช้างหาย
เป็นเหตุการณ์ธรรมดาที่กลายเป็นความน่าพิศวง
เป็นเรื่องเล่าที่น่าติดตาม ว่ามันจะไปสุดตรงที่ใด
และแม้เมื่ออ่านจบ จะไม่มีอะไรหลงเหลือให้ขบคิดเท่าไร
แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เรารู้สึกดีกับมันมากกว่าเรื่องอื่น

พี่ชาย น้องสาว
เล่าเรื่องความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องที่ต้องมาอยู่ร่วมบ้านกันในเมืองหลวง
มีความสนิทสนมทะเลาะเบาะแว้งกันตามมาตรฐานพี่น้องทั่วไป
ความผูกพันฉายชัดผ่านบททะเลาะเสียดสี
อ่านเพลินดี
ธรรมดาๆ บ้างก็ได้ ไม่ต้องแปลกประหลาดหลุดโลกก็ได้
เป็นเรื่องที่โอเคค่ะ

ฝาแฝดและทวีปที่จมดิ่ง
เรื่องสั้นแก้คิดถึงชุดไตรภาคอันโด่งดัง ซึ่งเราก็ยังไม่ได้อ่าน
(หรืออ่านแล้ว แต่ยังอ่านไม่จบ)

110-2 คำสาปร้านเบเกอรี

อาณาจักรโรมันล่มสลาย ชาวอินเดียนลุกฮือเมื่อปี 1881
ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ และโลกแห่งสายลมเกรี้ยวกราด (สาบาน ว่านี่คือชื่อเรื่อง!?)

เราชอบตอนนี้นะ
เนื้อความยังคงจับต้องไม่ได้เหมือนเดิม อันนั้นปลงได้แล้ว
แต่ชอบการเปรียบเทียบประหลาดๆ ที่มีอยู่ในเนื้อเรื่อง

สายลมเกรี้ยวกราดกรรโชก
เสียงโกรกกรากกึกก้องคะนองคึก
ราวกับการลุกฮือของชาวอินเดียนในปี 1881

บ่ายวันอาทิตย์อันสงบราบเรียบ
ราวกับสมัยอันรุ่งเรืองของอาณาจักรโรมัน
(นึกแบบไทยๆ ว่า
มันเป็นบ่ายวันอาทิตย์ที่ราบเรียบเงียบสงบ
ราวกับยุคสมัยอันรุ่งเรืองของพระนารายณ์
มันก็ดูประหลาดๆ เนอะ ;P)

อีกสาเหตุที่ชอบก็เพราะมันเป็นเรื่องราวของคนเขียนไดอารี่
และเราก็ชอบเขียนไดอารี่ (แม้จะไม่ค่อยได้เขียนมาสักพักแล้ว)
คนเรามักจะชอบหนังสือที่มีเรื่องราวโยงใยมาถึงตัวเองได้ .. มั๊งนะ

ตำนานนกไขลาน
เล่าเรื่องได้สนุกดี น่าติดตาม แม้เป็นเพียงเรื่องสั้นๆ
เพราะยังไม่ได้อ่านฉบับจริง อ่านแต่เรื่องสั้น
เลยรู้สึกเสียเปรียบคนอื่นเขานิดหน่อย
แต่เอาเถอะ ถึงยังไงเราก็อ่านมูราคามิไม่ค่อยรู้เรื่องอยู่แล้ว
และก็รู้สึกว่า บางทีฉบับเต็มก็อาจจะน่าสนใจ
เป็นอีกเรื่องที่เกือบๆ จะชอบ

รวมเรื่องสั้นเล่มที่ 2 เล่มนี้ต่างกับเล่มแรกตรงที่
เล่มแรกเริ่มจากตอนที่ดูดีที่สุด แล้วไล่ลงไปจนถึงห่วยสุด
ในขณะที่เล่มนี้เปิดที่เรื่องเหลวๆ ก่อนเลย
อ่านจบเรื่องสั้นเรื่องแรกๆ ถึงกับรำพึงก็ตัวเองเลยว่า ..
เริ่มเข็ดอีกแล้ว
ความฮึกเหิมเมื่อตอนหยิบเล่มแรกมาอ่านหายหมดสิ้น
สะอาดหมดจด เหมือนไม่เคยมีมาก่อน
รู้สึกแปลกๆ ดี ที่ตอนเราอ่านนิยายชุดไตรมุสิก
ก็อ่านไปเพียงสองเล่ม แล้วก็หยุด
และนี่ก็กำลังจะอ่านรวมเรื่องสั้นชุด แฟนเฮียมูฯ รวมหัว
ไปเพียงสองในสามเล่ม แล้วก็หยุดอีก
คล้ายๆ ได้ยินเสียงในหัว ..
มูราคามิบอกกับเราว่า ‘คุณไม่ไม่ได้ไปต่อ’ อะไรประมาณนั้นเลย

แต่พออ่านเรื่องต่อๆ ไป ต่อๆ ไป มันกลับดีขึ้นแฮะ
ไม่ชอบรวมเรื่องสั้นตรงนี้แหละ
ยากจะหาเล่มที่ทำให้เราชอบได้ทั้งเล่มจริงๆ เลย

ปล.1 ควาญช้างในเรื่องช้างหาย แฟนน้องสาวในเรื่องพี่ชายน้องสาว
หุ้นส่วนของ ‘ผม’ ในฝาแฝดและทวีปที่จมดิ่ง
ชื่อของแมวที่ดันเหมือนกับชื่อพี่เขยของผมในเรื่องตำนานนกไขลาน
ฯลฯ
ทั้งหมดชื่อ โนโบรุ วาตานาเบะ เหมือนกันทั้งหมดเลย
อาจมีบาง ‘โนโบรุ วาตานาเบะ’ ที่เราหลงลืมคลาดเคลื่อนไป
แต่เท่าที่เจอมันก็มากเกินพอ
นี่มัน ‘ขอชื่อ โนโบรุ วาตานาเบะ สักสามสี่ชาติ’ ชัดๆ

ปล.2 ยังคงมีตัวละครที่มีลักษณะซ้ำๆ
อย่างเช่น ผู้หญิงที่เดินลากขา ผู้หญิงที่มีหูสวยๆ
คนที่มีจำนวนนิ้วขาดหรือเกินไปจากคนปกติ ฯลฯ
นี่ละมั๊ง อีกบางส่วนของความเป็นมูราคามิ

Comments are closed.