คราส
เรื่อง คราส
ผู้แต่ง อติภพ ภัทรเดชไพศาล
สำนักพิมพ์ มติชน
ราคา 250 บาท
ความรู้สึกแรกที่อ่านจบคือโมโห เหมือนถูกหลอกให้อ่านอะไรก็ไม่รู้อยู่ตั้งนาน
‘ไม่เห็นจะรู้เรื่องเลย’ คือคำแรกที่นึกออกในตอนที่อ่านบรรทัดสุดท้ายในหนังสือจบ
ผู้เขียนต้องการจะบอกอะไรก็ไม่รู้ สื่ออะไรก็ไม่รู้
นึกอยากเขียน อยากโยงอะไรก็โยง
กระตุ้มต่อมคำถามให้วิ่งพล่านอยู่ในหัว ก่อนที่จะจบลงแบบ .. ไม่ตอบอะไรเลย
ไม่มีทางเลือก ไม่มีความคิด ไม่มีไอเดีย มีแค่ความงง ตกลงเฮียจะสื่ออะไร?
เอ้า .. มา เล่าเท่าที่พอจับใจความได้กันก่อน
ผู้เขียนเปิดเรื่องได้น่าสนใจ มีวิธีเล่าที่ปลุกเร้าความอยากรู้
ความทรงจำอันบิดเบี้ยว
มนุษย์เรามักเลือกจำในสิ่งที่เราอยากจะจำ
และละลืมรายละเอียดบางสิ่งบางอย่างที่สะเทือนใจออกไป
หลายความทรงจำที่เราไม่แน่ใจว่ามันเกิดขึ้นจริง
หรือเป็นเพียงบางความลวงของสมองกันแน่?
ปมความรู้สึกที่ติดอยู่ในห้วงของความทรงจำ
มันถูกฝังลึกเอาไว้มิดเม้น แต่จิตใต้สำนึกไม่เคยลืมมัน
ผู้เขียนแบ่งนิยายของตนเองออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ
ตัวตนของแต่ละตัวละคร ถูกเล่าเอาไว้ในตอนของตนเอง
เสือ, ไตร (=ตั้ม และ =เสรี .. คนบ้าอะไรมีตั้ง 3 ชื่อโดยไม่จำเป็น), โรส และนพพล
ในตอนสุดท้าย เป็นส่วนหนึ่งจากนิยายที่ (เดาว่า) ถูกเขียนโดยตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในเรื่อง
ตัวละครทั้งหมด เป็นกลุ่มเพื่อนสมัยมัธยม
ต่างคนต่างเติบโต แยกย้าย และมีชีวิตเป็นคนตนเอง
ในตอนจบของแต่ละตอนที่ว่านี้มีจุดร่วมบางอย่างทับซ้อนกันอยู่
ตัวละครแต่ละตัวมีความทรงจำร่วมกันอยู่ส่วนหนึ่ง
มันคือปมของเรื่อง จากมุมมองและความทรงจำของแต่ละคน
ผู้เขียนจงใจใส่เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ทางสังคมและการเมือง
ทั้งในและต่างประเทศ ที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาลงไปในนิยาย
(เช่นเหตุการณ์คาร์บอม, 911, กระแสวิพากษ์บั้งไฟพญานาค,
การเปลี่ยนแปลงระบบเบอร์โทรศัพท์จากตัวเลข 9 หลักมาเป็น 10 หลัก ฯลฯ)
นับเป็นบันทึกเหตุการณ์คร่าวๆ สะท้อนภาพสังคมในยุคนี้พอได้
แต่ทั้งนี้ไม่ (เห็นจะ) มีผลสัมพันธ์หรือสำคัญต่อเนื้อเรื่อง (เลย)
เป็นไอเดียที่ดี แต่วิธีเขียนยังไม่ตกผลึก
ผู้เขียนได้ใช้เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เป็นตัวเทียบเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละตอน
เล่าสลับไปสลับมา ย้อนไปมา ..
สารภาพว่าเราอ่านผ่านๆ เพราะขี้เกียจไปจำว่าอะไรเกิดตอนไหน
และเหตุการณ์ใดเกิดก่อนหลังเหตุการณ์ใดในเรื่องกันแน่
ชื่อตัวละคร เพื่อนของตัวละคร ญาติของตัวละครในแต่ละตอนมีมากเกินจำเป็น
หลายตัวไม่เคยมีบทบาทในเรื่อง เอ่ยถึงเพียงครั้งเดียว ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
อย่างที่บอกว่า ผู้เขียนใช้วิธีเล่าปูทางให้เราคิดถึงจุดจบในแบบหนึ่ง
แต่เมื่ออ่านถึงตอนจบจริงๆ ความต้องการของเรากลับไม่ได้รับการตอบสนอง
เรียกว่าจบแบบขัดใจเจ้ ไม่มีคำตอบของหลายคำถามที่ผุดพ้นวนเวียนอยู่ในหัวขณะอ่าน
บทสรุป .. ‘คราส‘ เป็นนิยายที่มีกลิ่นอายจิตๆ ติสต์ๆ
และสำหรับเรา มันคือนิยายที่เขียนไม่เสร็จ
Comments are closed.