คน 17 เมษา
เรื่อง คน 17 เมษา
ผู้แต่ง กิตติศักดิ์ คงคา
สำนักพิมพ์ 13357
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786168296264
คน 17 เมษา
เป็นบันทึกการเดินทางของผู้เขียน
ที่เดินทางไปยังประเทศกัมพูชา
โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะย้อนรอยประวัติศาสตร์กลับไปเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน
ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจบลงได้ไม่นาน
ในขณะที่หลายประเทศกำลังเร่งฟื้นฟูตนเองจากความบอบช้ำ
ยังมีอีกบางประเทศ ที่ยังล้มลุกคลุกคลาน
และถูกกระทำให้ตกต่ำลงไปยิ่งกว่าเดิม .. กัมพูชาเป็นหนึ่งในนั้น
ห่างประเทศไทยออกไปไม่ไกล
เรื่องราวโหดร้าย ไร้ความยุติธรรม และไม่ให้ค่าความเป็นมนุษย์ ..
เกิดขึ้นที่นั่น
หนังสือวางรากฐานให้คนอ่านตั้งแต่แรกเริ่มถือกำเนิดแผ่นดินกัมพูชา
ในยุคสมัยที่เราชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอยู่ร่วมกัน
ตั้งแต่ยังเป็นอาณาจักรฟูนัน เจนละ ขอม ฯลฯ
ไล่เรียงมาถึงยุคที่รัตนโกสินทร์ของเราเริ่มก่อตั้ง
เทียบกับกัมพูชา ที่กำลังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส
อธิบายประวัติศาสตร์การคืบคลานเข้ามาของฝรั่งเศส
รวมถึงความขัดแย้งต่างๆ ของฝรั่งเศส กับกัมพูชาและไทย
เรื่องกรณีพิพาท ร.ศ.112 ที่เคยเข้าใจอย่างเบลอๆ ผ่านทวิภพ ของทมยันตี
ผู้เขียนก็ได้อธิบายให้เราเห็นภาพโดยรวมได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังให้ภาพประวัติศาสตร์สงครามโลกทั้งสองครั้ง
ที่มีผลโยงใยมาถึงฝั่งเอเชีย
สงครามโลก ที่มีผลกระทบต่อทุกคนบนโลก
ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ข้างไหนของสงครามก็ตาม
ผู้เขียนยึดโยงประวัติศาสตร์ทั้งโลกที่ร้อยเลาะเกาะเกี่ยวกันเป็นหนึ่ง
ทำให้เรามองเห็นภาพเหตุการณ์เป็นองค์รวม
ที่ไม่ว่าจะแตะต้องตรงส่วนไหน ก็ล้วนมีผลกระทบส่งถึงกัน
เช่นเดียวกับการเด็ดดอกไม้ส่งผลให้สะเทือนถึงดวงดาว
การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยความรุนแรง
อาจยิ่งส่งผลให้ปัญหายิ่งทบทวี
การกระทำบางอย่างจากผู้นำประเทศมหาอำนาจ
อาจส่งผลกระทบต่ออีกประเทศหนึ่งอย่างเลวร้าย
อย่างที่ผู้กระทำไม่อาจคาดการณ์ได้
พ้นจากสงครามโลก
เขมรยังได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามเย็น
ในฐานะหมากตัวหนึ่งของสองขั้วมหาอำนาจ
เขมรเองก็ถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย
ประวัติศาสตร์ของเขมร โลดแล่นขึ้นลง
ตามการเชิดชักของสองกลุ่มการปกครอง ..
คือฝ่ายคอมมิวนิสต์ และฝ่ายที่ไม่ใช่
และท้ายที่สุด ผลแห่งความทุกข์ที่สุด
จึงตกอยู่กับประชาชาตาดำๆ ที่เขาไม่ได้อยู่ฝ่ายใดเลย
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลก ..
เกิดขึ้นในช่วงนี้
มันคือช่วงที่คนกัมพูชาฆ่ากันเอง ..
ด้วยเหตุผลคือความแตกต่างที่ถูกครอบงำลงมาจากกรอบของคนอื่น
คน 17 เมษา คือคำที่เขมรแดงใช้เรียกคนอีกฝ่าย
วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1975 คือวันที่เขมรแดง (พรรคคอมมิวนิสต์)
อันมีเจ้านโรดมสีหนุเป็นผู้นำ (ที่ถูกชักเชิดและขับเคลื่อนไปโดยพลพต)
ยึดครองพนมเปญได้สำเร็จ
และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างบางประชาชนฝ่ายตรงข้าม
ซึ่งทั้งหมด มีจำนวนราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดของประเทศ
นอกจากเล่าประวัติศาสตร์
ผู้เขียนยังพาเราไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่อเหตุการณ์นี้สองแห่ง
คือ คุกตวลสเลง และลานสังหารเจืองแอ็ก
สถานที่ที่เคยขัง ทรมาน และสังหารนักโทษที่ไร้ความผิดนับหมื่น
ศพมากมายถูกฝังอยู่ใต้ผืนแผ่นดิน มีทั้งที่ถูกขุดออกมาแล้ว
และอีกมากมายที่ขุดต่อไปไม่ไหว
การเดินในอาคารที่บรรจุหัวกระโหลกมนุษย์นับหมื่นเอาไว้ในตู้กระจก
และเรารับรู้ว่า เจ้าของหัวกระโหลกเหล่านั้นตายยังไง
มีช่วงชีวิตสุดท้ายก่อนตายยังไง
หนำซ้ำ เรายังอาจได้เห็นภาพถ่ายใบหน้าของพวกเขามาก่อนแล้ว
จากในอีกห้องหนึ่งของพิพิธภัณฑ์
มันคงเป็นความรู้สึกสุดหดหู่ที่ยากจะอธิบาย
แต่ผู้เขียนก็สามารถทำให้เรารู้สึกตามได้
ตอนที่ผู้เขียนเล่าถึงบรรยากาศ –
ภายในพิพิธภัณฑ์อันเคยเป็นคุกตวลสเลง
คนอ่านเองก็พลอยหายใจไม่ทั่วท้อง
รู้สึกหวิวโหวงไปตามที่ผู้เขียนเล่า
ถึงจะอ่านเรื่องราวของสงครามมามากเท่าไร
เราก็ไม่เคยชินกับสงคราม และผลพวงของมันเลยสักครั้ง
สงคราม .. ไม่ว่าเมื่อไรหรือที่ใด ก็ไม่เคยโหดร้ายน้อยไปกว่ากัน
อดคิดไม่ได้ว่า
ถ้าในสงครามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้
มีคนตายราวหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด
แล้วผู้ฆ่าเล่า .. พวกเขามีกันกี่คน
และทุกวันนี้พวกเขายังมีชีวิตกันอยู่หรือไม่ .. อย่างไร
พวกเขามีญาติพี่น้องหรือไม่
และทุกคนรู้สึกอย่างไรต่อเขา และการกระทำของเขา
หลังจาก 4 ปีนรกของเขมร
ที่เหล่าเด็กๆ ถูกพรากจากพ่อแม่
พวกเขาถูกล้างสมอง และป้อนข้อมูลอะไรเข้าไปบ้าง
พวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไร
ใช้ชีวิตแบบใดปะปนกับผู้คนอื่นๆ ในเวลาต่อมาจากตอนนั้น
ยังคงเป็นคำถามว่าคนกัมพูชายุคนี้ถูกหล่อหลอมจากอะไรขึ้นมาบ้าง
นับถืออะไร เชื่อในอะไร และมีตรรกะเช่นไร
ถ้าหนังสือเล่มนี้เป็นนิยายสักเรื่อง
มันก็คงเป็นนิยายที่ตรรกะพังมาก
เพราะในตอนจบ ตัวร้ายทั้งหมด –
ไม่ได้รับผลของการกระทำเลวร้ายทั้งหมดที่ทำมาเลย
แต่เมื่อนี่ไม่ใช่นิยาย และมันคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ..
ตอนจบของมันยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่ ..
แย่ยิ่งกว่าการที่มันจะเป็นนิยายสักเรื่องเสียอีก ..
ถ้านิยามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ด้วยคำว่า “บาป”
บาปครั้งนี้ก็ไม่ใช่กรรมอันเกิดจากกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว
หากแต่เป็นบาปกรรมของคนบนโลกที่ร่วมกันสร้าง
อันที่จริงคนไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว ฯลฯ
ไม่ควรจะมานั่งทะเลาะกันเอง เกลียดกันเองเลย
พวกเราทุกคนล้วนแต่ถูกปั่นหัวจากเหล่าประเทศมหาอำนาจ
พวกเขาวางตัวเหนือกว่า เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง
แต่ผลของการกระทำส่งผลให้เราเห็นๆ กันอยู่ หากมองอย่างรอบด้าน
ถึงแม้เด็กยุคใหม่จะไม่อินกับคำว่า
โชคดีที่ได้เกิดเป็นคนไทย
แต่เรากลับรู้สึกเสมอ ..
ทุกครั้งที่ได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้
เรารู้สึกโชคดี .. ที่ได้เกิดเป็นคนไทย
ปล.1
นับได้ว่า คน 17 เมษา
เป็นเล่มที่ถือกำเนิดคู่กันมากับ
จวบจนสิ้นแสงแดงดาว
ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์เดียวกันนี้ ไว้ในรูปของนิยาย
ในขณะที่เนื้อหาในเล่มนี้ ถูกเล่าออกมาในรูปแบบของสารคดี
ที่ถ่ายทอดความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจริงได้ครอบคลุมมากกว่า
เล่าประวัติศาสตร์ได้ละเอียดกว่า
แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งสองเล่มก็เติมเต็มซึ่งกันและกัน
หากเคยอ่านเล่มหนึ่ง เราก็อยากให้ลองหยิบอีกเล่มขึ้นมาอ่านด้วย
ปล.2
ขอบคุณสำนักพิมพ์ 13357
สำหรับหนังสือที่จับใจเราที่สุดเล่มนี้นะคะ
แอบเอาใจช่วยให้หนังสือเล่มนี้
ส่งสารออกไปให้ผู้อ่านมากๆ ให้เข้าใจกลไกของสงคราม
อย่าหล่อหลอมตัวเองด้วยความเกลียดชัง
การตัดสินความแตกต่างอย่างชั่ววูบ
และอย่าเอาตัวเองเข้าไปเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนมัน
Comments are closed.