อ่านแล้วเล่า

ขลุ่ยไม้ไผ่

เรื่อง ขลุ่ยไม้ไผ่
ผู้แต่ง พจนา จันทรสันติ
สำนักพิมพ์ openbooks
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786167982076

เปลี่ยนโหมดปุบปับ ก็เลยต้องจูนกันหน่อยค่ะ
ประมาณต้นเดือนหน้า เรากำลังจะมีกิจกรรม
เกิดอยากจะอ่าน สิทธารถะ กับ book club วันศุกร์
ตอนนี้ก็เลยพยายามเลือกหนังสือที่ปรับโหมดเข้าหาสิทธารถะทีละน้อย
ขลุ่ยไม้ไผ่ จึงถูกหยิบมาอ่านด้วยเหตุผลนี้ 🙂

ขลุ่ยไม้ไผ่ เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องไฮกุของญี่ปุ่น
ในช่วงต้น ผู้เขียนยกผลงานชื่อดัง จากกวีญี่ปุ่นหลากหลายบทมาเล่า
งานหลักๆ ที่ถูกยกตัวอย่างมากหน่อย คืองานของท่านบาโช (มัตสึโอะ บาโช)

ในส่วนต่อของเล่ม จึงเป็นงานไฮกุของผู้เขียนเอง
โดยที่ระหว่างบทของไฮกุ จะมีบทบรรยายเหตุการณ์
หรือสถานการณ์อันเป็นที่มาของไฮกุแต่ละบท

อดแปลกใจตัวเองไม่ได้ว่าทำไมเราจึงรู้สึกเฉยๆ กับเล่มนี้
นั่งหาเหตุผลมาได้ว่า
มันน่าจะเป็นเพราะคำอธิบายคั่นในแต่ละบทนี่แหละ

เข้าใจว่าหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว
มันเกิดขึ้นในยุคที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยต่อไฮกุ
ผู้เขียนจึงต้องใส่คำอธิบาย
เพื่อให้ผู้อ่านมือใหม่ได้เข้าใจรสสัมผัสของกวี
แต่การแทรกคำอธิบายไปตลอดทั้งเล่มเช่นนี้
ก็ลดทอนความงดงามตามธรรมชาติของบทกวีเช่นกัน

เราทุกคนอ่านบทกวี แล้วตีความต่างกัน
เฉกเช่นเดียวกันกับการมองดอกไม้ดอกหนึ่ง แล้วรู้สึกต่างกัน
ซึ่งพอมีการตีความของผู้เขียนมาเป็นแนวทาง
และบางบทเราตีความออกมาไม่เหมือนกัน
ทำให้รู้สึกอึดอัดเหมือนถูกขังอยู่ในกรอบ อ่านไม่สนุก

ไฮกุได้สร้างภาพของเราขึ้นมาแล้ว
เรื่องเล่าของผู้เขียนได้สร้างภาพทับภาพนั้น
ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในใจเรา
หรือบางที หนังสือเล่มนี้อาจจะต้องเรียงลำดับเสียใหม่
นำเรื่องเล่าขึ้นต้นนำมาก่อน แล้วปิดท้ายด้วยกวีไฮกุ?

ด้วยวิธีเล่าแบบนี้
ทำให้ความชอบบทกวีของเรา กลายเป็นไม่ได้อยู่ที่บทกวี
หากไปอยู่ที่เรื่องเล่าประกอบแทน
เราชอบบทปลาช่อน ที่เรื่องเล่าไม่มากไป ไม่น้อยไป
มันช่วยเสริมให้บทกวีดูน่ารักขึ้น 🙂

การเปลี่ยนจากคำอธิบาย
เป็นการบอกเล่าชั่วขณะที่บทกวีนั้นถือกำเนิดขึ้นมา ดีกว่ามาก
เพราะเราจะเข้าใจสถานการณ์
แล้วเราาก็ตีจะความจากเรื่องราวนั้น
ผนวกกับใส่ประสบการณ์ส่วนตัวของเราลงไปร่วมด้วย
ทำความเข้าใจบทกวีผ่านมุมมองของเรา

และก็มีบางบทที่เราไม่ชอบ อย่างเช่น บทที่เล่าถึงฤดูหนาว

ตื่นขึ้นมาในเช้าวันนี้
ฉันรู้สึกได้ว่า
ฤดูหนาวได้มาถึงแล้ว

มันดูเป็นประโยคที่ถูกตัดทอนแยกบรรทัด มากกว่าเป็นไฮกุ
เราว่าไฮกุน่าจะให้อารมณ์ได้มากกว่านี้
น่าจะพูดถึงธรรมชาติ ที่เราอ่านแล้วรู้สึกถึงลมหนาว
ไม่ใช่พูดถึงลมหนาว แต่เราไม่รู้สึก

ถึงแม้จะได้ไม่ได้ชอบหนังสือเล่มนี้มากมาย
แต่เราชอบ .. ที่มันทำให้เรากลับมานึกถึงบทกวี .. รอบตัว 
สิ่งดีของหนังสือเล่มนี้คือ
ทำให้เราหยุดนิ่ง และหันมามองตัวเอง
ท่ามกลางความเปลี่ยนผัน ยุ่งเหยิง อยู่ทุกวันนี้
ถ้าเราลองหยุดนิ่ง แล้วมองธรรมชาติบ้างเล่า ..
เราเห็นอะไร ..

เมื่อวาน เราไปโรงพยาบาลยามบ่าย
ได้ไฮกุ (มั๊ง?) มาหนึ่งบท

สายลมเย็นเยียบ
เงียบสงบ
โรงพยาบาล

กลับถึงบ้าน ได้มาอีกหนึ่งบท

หญ้ารกหลังบ้าน
ดอกไม้ป่า
กระจิ๊ดริด

อะไรแบบนี้ละมั๊ง ที่หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดขึ้นกับเรา 🙂

 

Comments are closed.