เรื่อง คอนเชตตา คอนเชตตา Stream of Concetta ผู้แต่ง ลาดิด (LADYS) เรื่องเริ่มเล่าจากสองฝั่ง หนึ่งคือนักเขียนหญิงวัย 25 ที่กำลังหมดไฟในการเขียน และหมดไฟเสน่หาที่จะใช้เพื่อรัก เมื่อไร้รัก ไร้แรงขับ ตัวหนังสือก็หยุดนิ่ง อีกหนึ่ง คือโสเภณีหญิงสูงวัย ที่ยังเต็มไปด้วยเสน่ห์ลุ่มลึก มีอำนาจต่อจิตใจล้นเหลือเหนือผู้ว่าจ้าง เธอกลายเป็นแรงบันดาลใจของนักเขียน คือหนทางที่จะนำพาเธอไปหาคอนเชตตา เป็นเล่มมีด เป็นกรรไกร เป็นด้ามขวาน ที่ปลดปล่อยเธอจากเถาวัลย์พันธนาการ นอกจากการเล่าผ่านสองฝั่ง เรื่องยังปะปนไปด้วยบทสนทนาที่กลมกลืนไปกับคำบรรยาย เรื่องนี้ขับเคลื่อนด้วยมวลอารมณ์มากกว่าพล็อต มันไหลลื่น หากแต่ก็อยู่กับที่ เหมือนถูกตัดตอนออกมาจากนิยายเรื่องยาวสักเรื่อง คอนเชตตา คอนเชตตา ไม่ดึงดูดเราเท่าเล่มอื่นๆ มันมีความโรแมนติกแทรกเข้ามา การที่นักเขียนเขียนถึงนักเขียน เราอดคิดไม่ได้ว่า เค้าโครงบางส่วนอาจแตกขยายผ่านจินตนาการ ออกมาจากสัดส่วนเสี้ยวอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงขณะเขียน และมันยิ่งโรแมนติกสำหรับเรา คอนเชตตาสำหรับเรา เราว่าเธอเหมือนก้อนถ่านก้อนหนึ่ง .. และมันน่าเศร้านิดๆ
เรื่อง คุณคริมสันส์นั้นสุขสบาย The Crimsons’ ผู้แต่ง ลาดิด (LADYS) ถลอกถลกชั้นเนื้อภายในจิตใจของคนสองคน ที่พูดได้ยากว่ารักกัน หากแต่ก็รักกัน ไปพร้อมๆ กับหมุนวนกันไปในโลกของทุนนิยม โลกที่ต่างคนต่างก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ชั่งตวงวัดความรักตัวเอง กับความรักที่มีให้ฝ่ายตรงข้าม แม้กับตัวเองก็ไม่อาจให้คำตอบได้ ว่าเสแสร้างหรือจริงใจ ทางเลือก ทางไม่เลือก .. แม้คำบรรยายจะบอกอยู่บ่อยๆ ว่าคุณคริมสันส์นั้นเอื้ออารี มีจิตใจเมตตา แต่การบรรยายอย่างอื่นโดยรอบ ถึงความหวาดกลัวที่ทุกคนมีต่อคุณคริมสันส์ หรือการพยายามหาเงิน เพื่อที่จะหนีออกจากคณะละครสัตว์ของคุณคริมสันส์ ก็ขัดแย้งกับประโยคบอกเล่าที่ปูมา ลาดิดยังคงเล่าเรื่องได้น่าติดตาม เธอบอกเราเฉพาะเรื่องที่ควรบอก และปล่อยให้เราค้นหาเหตุผลของการกระทำแปลกๆ ของตัวละคร ผ่านการติดตามเนื้อเรื่องไปอย่างกระชั้นชิด เอกลักษณ์ของลาดิด คือแรงดึงดูด หนังสือของเธอ อ่านสนุก น่าติดตาม เล็ก กระชับ เรียบง่าย แต่พุ่งตรงเข้าประเด็น มีผลต่อหัวใจ มันถูกวางแผน ถูกจัดวางมาแล้ว ดำเนินเรื่องเนิบเรื่อย .. จนถึงจุดหนึ่ง ที่เธอจะฟาดเรา เหมือนแส้ที่แอนน์ฟาดรูบี้ทุกตัว เราเป็นสิงโตตัวนั้น .. เราเป็นสิงโตตัวหนึ่ง .. ของคุณคริมสันส์ และคุณคริมสันส์นั้นสุขสบาย
เรื่อง อดาไลน์ และเรื่องสั้นอื่นๆ Adaline and Other Short Stories ผู้แต่ง ลาดิด (LADYS) นี่เป็นหนังสือของคุณลาดิดเล่มที่สอง ที่เราได้อ่าน เปลี่ยนรูปแบบจากเล่มแรก ที่เป็นนิยาย มาเป็นอดาไลน์ที่เป็นรวมเรื่องสั้น ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ถนัดของเราเลย แต่ .. สำนวนของคุณลาดิดก็ยังคงทำได้ดีเช่นเคย เราชอบเรื่องแรกๆ โดยเฉพาะเรื่องรอยสัก (สักและสารภาพแสนซ้ำซาก) เรื่องนั้นจบได้จี๊ดมากกกกก เราว่าในเล่มนี้ ลาดิดใส่ความคมคาย เสียดสี และซ่อนสัญลักษณ์ เอาไว้มากมาย แต่ละเรื่อง ปะปนไปด้วยเรื่องราวของความสัมพันธ์ .. เราหันมุมหนึ่งแก่กัน ขุดฝังอีกหนึ่งมุมไกลห่าง ยิ่งทุกข์ ยิ่งเป็นแผล เป็นปุ่มปมในใจ ยิ่งเก็บไว้ลึกสุดลึก อนุญาตให้เห็น ให้รู้จักกันเพียงเท่านั้น และไม่เห็น ไม่รู้จักกันอีกไม่รู้เท่าไร .. แต่เราก็รักกัน ชื่นชมกัน เกลียดกัน ทะเลาะกัน ฯลฯ จากมุมเดียวเสี้ยวนั้น .. นอกจากเรื่องของความสัมพันธ์ ในเล่มนี้ยังมีเรื่องราวของความแตกต่างระหว่างชนชั้น และเรื่องอื่นๆ อีกนิดหน่อย โดยมาก มันเป็นเรื่องราวของความรัก … Read More →
เรื่อง คุณเคนต์และข้าพเจ้า Ms.Kent&Me ผู้แต่ง ลาดิด LADYS สำนักพิมพ์ แซลมอน เลขมาตรฐานหนังสือ 9786162985553 เข้าใจผิด (คล้ายหลายคนเลย) ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแปล ด้วยภาพปก ชื่อเรื่อง และภาพฉากที่ผู้เขียนวาดขึ้นมา เล่มนี้ไม่ได้เอ่ยชื่อเมือง หรือบอกพิกัดของฉากต่างๆ ในเรื่องเลย แต่เพราะชื่อของมิสเคนต์แท้ๆ เชียว ที่เป็นจุดกำเนิดให้เราวาดภาพฉากของเรื่องนี้ เป็นต่างเมืองที่ห่างไกลเอเชีย เรื่องเริ่มต้นขึ้นด้วยถ้อยความจากสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง เจ้าของสมุดบันทึก เพิ่งจะเสียชีวิตไปได้ไม่นาน และคนที่กำลังอ่านสมุดบันทึกเล่มนี้ คือหลานย่าของเธอ หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องผ่านสายตาของ “ข้าพเจ้า” ผู้เป็นหลานคนนี้ ตลอดชีวิตของคนกลัวทะเล มีแม่ที่เกลียดทะเล เธอตัดสินใจทันทีว่าจะขายขายข้าวของทั้งหมด รวมทั้งบ้านริมทะเลหลังนั้น ก่อนจะเดินทางกลับไปยังที่ที่เธอจากมา แต่แล้ว สมุดบันทึกเจ้ากรรมของย่า ก็รั้งเธอเอาไว้ รวมทั้งชะลอการขายข้าวของชิ้นอื่นๆ ในบ้านไปด้วย “ข้าพเจ้า” อ่านสมุดบันทึก และวาดภาพคนในสมุดบันทึก .. คุณเคนต์ “คุณเคนต์เป็นหญิงเพี้ยน หน้าตาสะสวย พิการ และเพี้ยน” นั่นคือบรรทัดแรกที่ตราตรึง และเรื่องราวต่อๆ มาเกี่ยวกับคุณเคนต์ ยิ่งดึงดูดเธอให้สนใจ หลงลืมเจตนาเดิมคือ การขายข้าวของของย่าเสียทั้งหมด และหมกมุ่นจดจ่ออยู่กับการควานหาคุณเคนต์ … Read More →