เรื่อง ความทรงจำของวันพรุ่งนี้ผู้แต่ง โอกิวาระ ฮิโรชิผู้แปล หนึ่งฤทัย ปราดเปรียวสำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161834647 เราเองก็อายุไม่น้อยแล้วนะที่หยิบเล่มนี้มาอ่านก็เพราะรู้สึกว่าเราเองก็มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์อยู่เหมือนกันเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเลย แต่ด้วยวิธีเล่าที่เริ่มต้นจากการบอกเล่าชีวิตประจำวันของผู้ชายญี่ปุ่นผู้เป็นหัวหน้าครอบครัววัยกลางคนเรื่องดำเนินไปอย่างเนิบนาบและไม่สามารถตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็นของเราเกี่ยวกับอาการของโรคนี้ทำให้ช่วงต้นต่อติดได้ยากหน่อยกว่าจะผ่านไปแต่ละบท มันไม่มีอะไรดึงดูดเราเอาไว้ได้เลย ต่อเมื่ออ่านไปถึงช่วงหนึ่ง วิธีเล่าแบบนี้กลับเป็นประโยชน์มากเพราะมันทำให้เรารู้และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เข้าใจว่าอะไรที่เกิดขึ้นกับตัวเขา และเข้าใจว่าเขาคิดอะไร สะเอกิ คือชายวัย 50 ที่เริ่มมีอาการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์นับตั้งแต่วันที่เขารู้ว่าตนเองป่วย คล้ายกับว่าอาการของโรคค่อยๆ พัฒนาไปทีละน้อยแต่ถ้านับจากวันป่วยจนถึงวันสุดท้ายในเล่มก็นับว่าอาการป่วยรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว สะเอกิต่อสู้เต็มที่กับความทรงจำที่กำลังจะลบเลือนเขาอ่านหนังสือเพื่อทำความรู้จักกับโรคที่ตัวเองเป็นเปลี่ยนวิถึชีวิต เปลี่ยนวิธีการดื่มกินอาหารเขาจดบันทึกข้อมูลสำคัญที่ได้รับจากการทำงานในแต่ละวันนอกจากนี้ยังจดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันมีสมุดแพลนเนอร์ที่จดละเอียดมากพกแผนที่ติดตัวไปด้วย ฯลฯแต่ถึงอย่างนั้น ความกลัวและไม่มั่นใจ ก็มีปรากฏให้เห็น ความทรมานของโรคไม่ได้อยู่ที่การเจ็บป่วยทางกายแต่มันคือความหวาดกลัวว่าเราจะหลงลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยรู้จักหลงลืมเพื่อน หลงลืมเพื่อนร่วมงาน หลงลืมแม้แต่คนในครอบครัวและท้ายที่สุดแล้ว คือการหลงลืมตัวเอง และสูญเสียความเป็นตัวเองไป การที่ล่วงรู้อยู่ก่อนแล้วว่าปลายทางที่โหดร้ายนั้นเป็นอย่างไรนั้นทำให้ระหว่างทางที่ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน เป็นวันที่น่าหวั่นใจไม่น้อย ในตอนใกล้จบเราลุ้น เอาใจช่วยกับการทำตามฝันอันบ้าบิ่นของชายผู้เป็นอัลไซเมอร์คนนี้มากและแม้ว่าเราจะพอเดาตอนจบของหนังสือเล่มนี้กันได้อยู่แล้วแต่ผู้เขียนก็สามารถสร้างตอนจบที่ละมุนละไม สวยงาม(ซึ่งในความสวยงามที่ว่านี้ ก็รู้แหละว่ามันคือความโหดร้ายในความเป็นจริง) ความทรงจำของวันพรุ่งนี้ เป็นหนังสือที่เริ่มต้นแบบง่วงๆ แต่กลับจบลงด้วยความดีงามเป็นอีกครั้งที่เราดีใจที่ได้อ่านมันจนจบไม่ได้เลิกอ่านไปก่อนตั้งแต่ไม่กี่หน้าแรก