อ่านแล้วเล่า

แล้วเราจะได้พบกันอีก ณ ห้องสมุดปารีส

เรื่อง แล้วเราจะได้พบกันอีก ณ ห้องสมุดปารีส
ผู้แต่ง เจเน็ต สเกสเลียน ชาร์ลส์
ผู้แปล นรา สุภัคโรจน์
สำนักพิมพ์ แพรวสำนักพิมพ์
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161851668

แล้วเราจะได้พบกันอีก ณ ห้องสมุดปารีส
เล่าเรื่องของเหล่าผู้คนที่ทำงานในห้องสมุดอเมริกัน ในปารีส
ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2
เนื้อเรื่องในเล่ม ถูกเล่าสลับกันไปมา
ระหว่างเรื่องราวในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 คือราวๆ ปี ค.ศ. 1939
ก่อนที่สงครามจะคืบคลานเข้ามาในฝรั่งเศส
จวบจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1945 ในห้วงเวลาที่สงครามจบลง
เรื่องราวในส่วนนี้ถูกเล่าผ่านน้ำเสียงของโอดีล หญิงสาวผู้รักหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ

อีกส่วนหนึ่ง หนังสือได้ตัดสลับมายังเรื่องราวในอีกประมาณ 40 ปีต่อมา
คือปี ค.ศ. 1983 ที่เมืองฟรอยด์ รัฐมอนแทนา อเมริกา
หนังสือส่วนที่สอง ถูกเล่าผ่านสายตาของเด็กหญิงวัยรุ่นอีกคนหนึ่ง ที่ชื่อว่าลิลลี่

ตอนที่เรื่องเริ่มต้น โอดีลกำลังเตรียมตัวเพื่อจะไปสมัครงานเป็นบรรณารักษ์
ณ ห้องสมุดอเมริกัน ในปารีส
ผู้เขียนเล่าถึงผู้คนหลากหลาย ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดด้วยกัน
และเหล่าสมาชิก ที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุดเป็นประจำ
มันเป็นสังคมที่อบอุ่น ผู้คนเป็นมิตร และเอื้ออารีต่อกัน
เรามารู้เอาในตอนจบเล่มว่า ผู้คนเหล่านี้ ส่วนมากมีตัวตนอยู่จริง
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ หลายเรื่องเป็นเรื่องจริง
และหนังสือเล่มนี้ได้พยายามคงบรรยากาศของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นเอาไว้

ในช่วงแรก เรื่องดำเนินไปอย่างเอื่อยเฉื่อย
ตัวละครแทบทุกตัวมีความสำคัญเกือบจะเท่ากัน
และทุกคนมีเรื่องราวชีวิตของตัวเอง
เราต้องย้อนกลับไปจดจำชื่อและคุณลักษณะ
ของแต่ละตัวละครที่ปรากฏตัวขึ้น
พร้อมกับได้ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง
ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อยในช่วงสงคราม

เมื่อข่าวสงครามเข้มข้นและคืนคลานเข้ามาใกล้มากขึ้น
ชาวห้องสมุดอเมริกันแห่งนี้
จึงเริ่มเตรียมตัวจัดเก็บและขนย้ายหนังสือหายาก
ออกไปเก็บไว้ในชนบทอันห่างไกล และน่าจะปลอดภัย
ผู้ชายเริ่มถูกเรียกให้เข้าประจำการ เป็นทหาร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม

จดหมายถูกส่งมาจากแนวหน้าอย่างท่วมท้น
เพื่อขอหนังสือไปอ่านในเวลาที่ว่างจากการรบ
แม้ว่าจะเกิดสงคราม มนุษย์เราก็ยังคงอ่านหนังสือ
มีการบริจาคหนังสือจากผู้คนที่ได้รู้ข่าว
เริ่มมีรายชื่อหนังสือต้องห้าม หนังสือที่ต่อต้านฮิตเลอร์
มีรายชื่อของสมาชิกห้องสมุด ที่ห้ามมาที่ห้องสมุดอีกต่อไป
ผู้อำนวยการห้องสมุด ต้องเลือกว่าจะเปิดห้องสมุดอยู่บนความอันตราย
หรือปิดห้องสมุดลงเพื่อความปลอดภัย
สมาชิกห้องสมุดหลายคนที่เป็นชาวต่างชาติ
ต้องเลือกว่าจะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด หรืออยู่ที่นี่ต่อไปบนความเสี่ยง
และนอกจากงานที่ห้องสมุด
บางครั้ง โอดีลจะได้ไปช่วยงานที่โรงพยาบาลด้วย

เรื่องค่อนข้างดำเนินไปเรื่อยๆ
ผู้เขียนค่อยๆ ถ่ายทอดภาพของสงคราม
ในช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสวางตัวเป็นกลาง
และยอมให้เยอรมันเข้ามาควบคุมดูแล
ชาวยิวถูกตรวจสอบ และเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นเมื่อเวลาล่วงไป
เมื่ออเมริกาประกาศเข้าร่วมสงคราม
ชาวอังกฤษ และชาวอเมริกัน เริ่มกลายเป็นปฏิปักษ์
หนังสือและห้องสมุดถูกตรวจสอบและควบคุม

เราเพิ่งมารู้สึกสนุกเข้มข้นในช่วงท้ายๆ
ผู้เขียนแสดงให้เห็นความขัดแย้งของผู้คนมากขึ้น
เป็นความขัดแย้งภายในตนเอง
คนคนหนึ่งต้องทำหน้าที่
ที่ตรงกันข้ามกับความคิดความรู้สึกของตนเอง
เราว่าตรงนี้ผู้เขียนทำได้เกือบดีเลย

แต่เมื่ออ่านมาถึงตอนจบ .. เราตัดสินใจได้ว่า เราไม่ชอบหนังสือเล่มนี้
มันเกือบจะดีแล้วเชียว .. แต่จบแบบนี้มันช่าง ..
จบแบบนี้ได้ไง!!
ประเด็นตอนจบ มันแทบไม่เกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดในเล่ม
จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนหนังสือเล่มที่อ่านมาตั้งแต่ต้น
เป็นคนละเล่มกับที่อ่านอยู่ในตอนสุดท้ายนี้

สำหรับเรา เล่มนี้มันมีทั้งส่วนที่ดี และไม่ดีอยู่ปะปนกัน
มันขัดแย้งกันรุนแรงกันอยู่ภายในเรา
อย่างที่บอกว่าเราไม่ชอบช่วงจบของเรื่อง
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็บันทึกประวัติศาสตร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ผ่านมุมมองที่แตกต่างออกไป เอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์เล่มหนึ่ง

ถ้าเลือกได้ เราอยากอ่านเล่มนี้อีกครั้ง
ด้วยพล็อต และด้วยวิธีเล่าที่ดีกว่านี้
การตัดสลับไปมาแทบจะไม่จำเป็นเลย
ตัวละครลิลลี่ก็ไม่มีความจำเป็น
เราว่าตอนจบแบบนี้ก็ไม่จำเป็น
เรื่องสามารถจบลงด้วยความสวยงาม และน่าจดจำได้มากกว่านี้
แต่ส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์นั้น น่าสนใจมาก
นั่นแหละ .. ทั้งหมดนั้นมันขัดแย้งอยู่ในใจเราค่ะ

Comments are closed.