อ่านแล้วเล่า

แลวังหลังตำหนัก

112-3 แลวังหลังตำหนัก

เรื่อง แลวังหลังตำหนัก
ผู้แต่ง ดร. ม.ร.ว. เบญจาภา (จักรพันธุ์) ไกรฤกษ์
สำนักพิมพ์ อมรินทร์
ราคา 425 บาท

แลวังหลังตำหนัก เป็นหนังสือที่เล่าชีวิตชาววังในสมัยโบราณ ยุคเดียวกันกับ เจ้าจอมก๊กออ
เป็นเรื่องเล่าในอีกสายตระกูลหนึ่ง .. คือตระกูลไกรฤกษ์

บรรพบุรุษของตระกูลไกรฤกษ์ เป็นจีนฮกเกี้ยนที่เดินทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่
มีแซ่เดิมว่าแซ่หลิม เดินทางมาค้าขายกับสยามตั้งแต่สมัยที่อยุธยาเป็นราชธานี
บุคคลในตระกูลนี้เริ่มเข้ารับราชการตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี
คือพระยาไกรโกษา และพระยาอินอากร
ตั้งรกรากอยู่ที่สำเพ็งในสมัยรัชกาลที่ 1 อันเป็นที่มาของตรอกที่มีชื่อว่า “ตรอกพระยาไกร”
และ “ตรอกโรงกระทะ”

เจ้าจอมอิ่ม ย่าหรัน อดีตเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
เป็นบุตรีของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) กับคุณหญิงนก
กุลสตรีในตระกูลไกรฤกษ์นั้น ได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 2 ถึงสามท่าน
คือเจ้าจอมยี่สุ่น เจ้าจอมมารดาอำภา และเจ้าจอมอิ่ม ย่าหรัน
เจ้าจอมมารดาอำภา มีพระราชโอรส
และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 6 พระองค์ด้วยกัน
ซึ่งกลายเป็นต้นสายราชสกุลกปิฐา
และราชสกุลปราโมช (ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ผู้ให้กำเนิดแม่พลอยด้วย

112-2 แลวังหลังตำหนัก

เจ้าจอมมารดาชุ่ม เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เป็นบุตรีของพระมงคลรัตนราชมนตรี มีศักดิ์เป็นหลานป้าของเจ้าจอมอิ่ม ย่าหรัน
เจ้าจอมมารดาชุ่มได้ถูกนำมาถวายตัวต่อสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรตั้งแต่เล็ก
เนื่องด้วยเจ้าจอมอิ่ม ย่าหรัน
ได้ถวายงานอภิบาลแก่สมเด็จเจ้าฟ้าในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
อันได้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชาลที่ 5), สมเด็จเจ้าฟ้า (หญิง) จันทรมณฑล โสภณภัควดี,
สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (ต้นราชสกุลจักรพันธุ์)
และสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ (ต้นราชสกุลภาณุพันธุ์)
ร่วมกับสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว)
ต่อมา เจ้าจอมอิ่ม ย่าหรัน จึงย้ายที่อยู่ตามเสด็จสมเด็จทูลกระหม่อมแก้วไปตลอด
เมื่อเจ้าจอมมารดาชุ่มถูกถวายตัว จึงมาอยู่ที่พระตำหนักเดียวกับเจ้าจอมอิ่ม ย่าหรันนี่เอง
เจ้าจอมมารดาชุ่ม ถูกถวายตัวเป็นเจ้าจอมเมื่ออายุ 19 ปี
และได้ถวายพระประสูติการแด่พระราชธิดาในรัลกาลที่ 5
ทรงพระนามเมื่อแรกประสูติว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา
และมีพระราชธิดาพระองค์ที่สอง ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี

แลวังหลังตำหนัก มาเน้นหนักในการเล่าพระประวัติของพระราชธิดา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา หรือ ‘เสด็จพระองค์ใหญ่’ นี่เอง

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี (เสด็จพระองค์เล็ก)
ทรงเป็นเจ้านายรุ่นเดียวกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา
ทั้งพระตำหนักเสด็จพระองค์อาทรฯ ก็ถูกสร้างเรียงเคียงกับพระตำหนักแดงและตึกขาว
ซึ่งเป็นที่ประทับของพระราชธิดาในเจ้าจอมมารดาอ่อน และเป็นที่อยู่ของเจ้าจอมก๊กออด้วย

ต่อมา เมื่อพระราชวังสวนดุสิตถูกสร้างขึ้น
พระตำหนักสวนภาพผู้หญิง ก็อยู่ติดกับพระตำหนักพุดตาน
ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ
และพระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา ในเจ้าจอมมารดาอ่อนด้วยเช่นกัน
(การสร้างวังและตำหนักต่างๆ นั้น เรียงตามลำดับพระอาวุโสของพระราชโอรสธิดา)

ผู้เขียนบรรยายภาพเรือนและพระตำหนักต่างๆ ภายในพระราชวังดุสิต
พระราชวังสวนสวนสุนันทา พระบรมมหาราชวัง ฯลฯ เอาไว้เป็นลำดับชัดเจน
เหมือนเราหลับตาเดินตามผู้เขียนไปเห็นภาพจริงที่สวยงามด้วยตาเราเองเลยทีเดียว
เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ของชาววังแบบแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยินได้อ่านที่ไหนเลยก็มี
ล้วนแต่สนุก น่ารัก น่ารู้ไปทั้งหมด

ภายในเล่ม ผู้เขียนยังเล่าถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จากสายตาของชาววังสวนสุนันทา
เจ้านายในวังและเหล่าข้างหลวงล้วนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยตรง
เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจรู้ถึงอนาคต และเป็นเรื่องที่น่าตระหนกเสียขวัญกันถ้วนหน้า

ในตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ได้เล่าถึงพระยาสุรพันธเสนี (อิ้น บุนนาค)
ซึ่งได้สมรสกับคุณนิ่ง ไกรฤกษ์ คนมรดกในเสด็จพระองค์เล็กที่มีเรื่องราวชีวิตน่าสนใจมาก
พระยาสุรพันธเสนีผู้นี้นี่เอง ที่คุณวินทร์ เลียววารินทร์นำไปสร้างเป็นตัวละคร
ในหนังสือนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรื่องน้ำเงินแท้

ชีวิตของชาววังอีกท่านหนึ่งที่ผู้เขียนเล่าถึงคือเจ้าจอมอาบ
เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้เป็นหนึ่งในเจ้าจอมก๊กออ
แต่มีชีวิตผูกพันกับผู้คนในสกุลไกรฤกษ์ตลอดชีวิตของท่าน

112-1 แลวังหลังตำหนัก

แลวังหลังตำหนัก ได้วาดภาพชีวิตที่ร่มรื่น ร่มเย็น ในแบบของชาวไทยโบราณ
ชีวิตในวังจากหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นชีวิตที่ละมุนละไม เป็นสุข
ภาษาในการเล่าราบรื่น สละสลวย อ่านเพลินเย็นใจ
คำที่ใช้ให้ความรู้สึก ให้อารมณ์ ทั้งที่เป็นถ้อยคำเรียบเรียงง่ายๆ
เมื่อถึงตอนยาก ผู้เขียนใช้วิธีเล่าแบบสรุปรวมก่อน แล้วมาขยายรายละเอียดซ้ำในภายหลัง
ทำให้การอ่านชื่อยากๆ จำยากๆ ในครั้งแรก ถูกอ่านซ้ำอีกหลายครั้ง
หรือการลำดับญาติ ลำดับขั้นยากๆ ได้ถูกเล่าซ้ำๆ
และทำให้เราได้เรียบเรียงความคิดช้าๆ ค่อยๆ ทำความเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้น

เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงในยุคของรัชกาลปัจจุบัน
ผู้เขียนยังได้สอดแทรกประวัติศาสตร์ต่างๆ ในช่วงเปลี่ยนรัชกาล
และพระราชพิธีสำคัญ เช่นพระราชพิธิบรมราชาภิเษกเป็นต้น

ผู้เขียนได้เล่าถึงชีวิตของคนคนหนึ่งที่พระองค์อาทรฯ ทรงชุบเลี้ยงดูแลมาตั้งแต่ยังแบเบาะ
เขาผู้นั้นคือคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์
คุณไกรฤกษ์ผู้นี้ ได้เดินทางไปศึกษายังประเทศอังกฤษตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อเกิดสงคราม ก็ได้อพยพลี้ภัยสงครามไปศึกษาต่อยังประเทศอเมริกา
แถมยังได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติ เป็นเสรีไทย มีหน้าที่แปลรหัสจากเมืองไทย
แถมท้ายที่สุดยังได้กระโดดร่มลงที่ประเทศไทยด้วย (คิดถึงวนัสของแม่อังฯ เลย)
เราจึงได้อ่านเรื่องเล่าของผู้ที่มีชีวิตอยู่ในยุคสงครามโลกในต่างประเทศ
ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพเหตุการณ์ที่น่าสนใจและน่าติดตามวางไม่ลง
ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์สงครามครั้งนั้นควบคู่กันไปทั้งที่อเมริกา
และที่ประเทศไทย ซึ่งเล่าผ่านชีวิตของพระองค์อาทรฯ และชาววังทั้งหลาย
ที่ท้ายสุดแล้วทรงย้ายไปประทับรวมกันอยู่ที่พระราชวังบางประอิน

พระราชวังบางปะอินในเวลานั้น เป็นเสมือนเมืองย่อมๆ เมืองหนึ่งเลยทีเดียว
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
(สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ผู้ทรงเป็นองค์สภายิกาสภากาชาดไทย
ได้ทรงเปิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพื่อรักษาพยาบาลชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย
มีการเปิดโรงเรียนสอนเด็กๆ ที่อยู่ในวัยเรียน
โดยผู้สอนก็เป็นเหล่าชาววังผู้มีความรู้ลดหลั่นกันลงมา
เด็กๆ มีอิสระที่จะเที่ยวเล่นในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง
มีการทำขนมขายกันในยามบ่าย
และก็มีขนมแปลกๆ ที่หากินได้เฉพาะที่พระราชวังบางปะอินเท่านั้น
เป็นภาพการอพยพสงครามที่ดูสงบสุขพอสมควรทีเดียว

แลวังหลังตำหนัก เป็นหนังสือที่ผนวกเล่าภาพเหตุการณ์ของประเทศ
นับแต่แต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5
จวบจนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
เล่าผ่านบุคคลในประวัติศาสตร์หลายชั่วอายุคนในสายตระกูลไกรฤกษ์
อ่านแล้วรับรู้ได้ถึงคุณงามความดีของผู้ที่ผู้เขียนเล่าถึงหลายท่าน
โดยที่ไม่รู้สุึกว่าเป็นการเยินยอเกินจริง
รู้สึกอิ่มใจในความดีความน่ารักเรียบง่ายของทั้งพระองค์อาทรฯ และคุณพูนเพิ่ม
และท่านอื่นๆ ที่ผู้เขียนเล่าถึงอีกหลายท่าน

เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่อ่านได้สนุก เพลิดเพลิน ไม่น่าเบื่อ
สำนวนภาษาสละสลวยมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เรียบง่ายไม่เยิ่นเย้อ
เป็นหนังสือที่อ่านแล้วประทับใจมากเล่มหนึ่งค่ะ

Comments are closed.