อ่านแล้วเล่า

อยากให้ศพคุณอยู่หน้าไหนในตำราฆาตกรรมของผม

เรื่อง อยากให้ศพคุณอยู่หน้าไหนในตำราฆาตกรรมของผม
ผู้แต่ง Chris Carter
ผู้แปล อาสยา ฐกัดกุล
สำนักพิมพ์ น้ำพุ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786162877070

ท่ามกลางบรรยากาศยามเช้า ในร้านนอราส์ ไดเนอร์
นายอำเภอและผู้ช่วยกำลังนั่งกินอาหารเช้าแสนอร่อย
จู่ๆ ก็มีรถกระบะพุ่งเข้ามาอย่างแรง แฉลบเฉียดร้านไปหน่อยเดียว
รถกระบะคันนี้ แฉลบไปชนรถฟอร์ด ทอรัส สีน้ำเงินเข้ม ที่จอดอยู่หน้าร้าน

คนขับรถคันนั้นเป็นชายวัยห้าสิบปลายๆ
เขาเสียชีวิตเพราะหัวใจวายขณะขับรถ
และนั่นเป็นเหตุที่ทำให้รถเสียหลัก ..

คดีนี้จบลงอย่างรวดเร็ว แบบแทบจะไม่เป็นคดี
แต่มันก่อกำเนิดเปิดเผยอีกหลายคดีฆาตกรรมต่อเนื่องไม่รู้จบ
และนี่คือจุดเริ่มต้น ..

เหตุฆาตกรรม .. เกิดขึ้นที่ไหนไม่รู้
แต่ (ส่วนหนึ่งของ) ศพ ถูกพบอยู่ที่ท้ายรถฟอร์ด ทอรัส สีน้ำเงินเข้ม
ที่ถูกชนจนท้ายเปิด ที่หน้าร้านนอราส์ ไดเนอร์ คันนั้นนั่นเอง

เจ้าของรถ เป็นชายอายุราวสี่สิบกว่า แต่งตัวดี
หลังถูกจับ เขาไม่ตื่นกลัว แต่กลับสงบนิ่ง มั่นคง
ตลอด 3 วันที่ถูกจับ เขาไม่พูดอะไรเลย
ยกเว้นเพียง 1 ประโยค
“ผมจะคุยกับโรเบิร์ต ฮันเตอร์ เท่านั้น”

แม้ว่าการเปิดเรื่องจะดึงดูดน่าอ่าน
แต่วิธีเล่าเรื่องหลังจากนั้น เป็นไปอย่างเอื่อยเฉื่อย น้ำท่วมทุ่งมาก
เรารอว่า เมื่อไรผู้เขียนจะเข้าเรื่องเสียที
ผู้เขียนใส่ข้อมูลที่ไร้ประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นต่อเนื้อเรื่อง เข้ามาเต็มไปหมด
ไม่รู้ว่าคดีนี้รีบหรือไม่รีบกันแน่
เพราะกว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าเรื่อง ก็เล่าเรื่องอ้อมไปอ้อมมา
ถ้าไม่รีบขนาดนี้ ให้ฮันเตอร์ไปพักร้อนก่อนค่อยกลับมาทำคดีก็ได้

ผู้เขียนเล่าเรื่องยืดเยื้อ เล่าไปกั๊กไป
มันไม่ได้ให้ความรู้สึกลุ้นระทึก หรือกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น
แต่ให้ความรู้สึกรำคาญว่าเมื่อไรจะเข้าเรื่องเสียทีมากกว่า

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังขยันตั้งชื่อมากกกกกก
ตัวละครทุกตัว ไม่ว่าจะมีบทน้อยแค่ไหน
มีบทพูดหนึ่งประโยค, แค่เดินผ่านฉาก,
หรือแม้แต่นอนเป็นศพไปแล้ว
ทุกตัวละครล้วนมีชื่อทั้งหมด
และเกือบทั้งหมดถูกเอ่ยถึงแค่ครั้งเดียว
ไม่มีความสำคัญจำเป็นใดๆ กับเนื้อเรื่องต่อจากนั้นอีกเลย

เราเริ่มต้นกับมันแบบนั้นแหละ
มันสร้างอคติตั้งแต่เริ่มอ่าน แล้วก็เลยพลอยติดตัวไปจนจบ

เรื่องนี้ ฆาตกรถูกจับติดคุกตั้งแต่ต้นเรื่อง
การดำเนินเรื่องต่อจากนั้นคือการค้นหาว่าฆาตกรฆ่าใครไปบ้าง และกี่คน
บทบาทระหว่างระหว่างเจ้าหน้าที่กับฆาตกร
ฆาตกรถือไพ่เหนือกว่าแบบที่เจ้าหน้าที่ไม่มีชั้นเชิงเอาเสียเลย
แค่อยากได้ข้อมูลศพที่ตายไปแล้ว ไม่ได้เป็นเหยื่อที่ยังมีชีวิตสักหน่อย
อะไรจะกระหายข้อมูลจนยอมฆาตกรไปทุกอย่างขนาดนั้น
อย่างน้อย ของที่ส่งเข้าไป ก็ควรแลกกับอะไรที่เป็นประโยชน์สักอย่าง
นี่ไม่มีข้อต่อรองใดๆ เลย

ในเล่มนี้ เรารู้สึกว่าฝ่ายตำรวจไม่มีใครเก่งเลย
ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ FBI มากประสบการณ์คนไหน
หรือแม้แต่โรเบิร์ต ฮันเตอร์
เขาควบคุมจิตใจได้ดี แค่ควบคุมสถานการณ์ได้ไม่ดีเลย
ไม่มีการเจรจาต่อรอง ไม่มีการดึงจังหวะ
ได้แต่ปล่อยสถานการณ์ให้ไหลไป
ทีมตำรวจได้แต่ยอมทำตามแผนของฆาตกรต้อยๆ
ยอมเดินตามทีละก้าว
ไม่มีใครวางแผนอะไรล่วงหน้า
เราไม่อิน ไม่ลุ้น ไม่เจ็บปวด ไม่เชียร์ อะไรใดๆ เลย
เป็นหนังสือที่อ่านแล้วอยากจะให้มันจบไปเร็วๆ เท่านั้น

จะว่าไปแล้ว ไม่ใช่หนังสือเล่มนี้ไม่มีข้อดีเลย
เพียงแต่ว่ามันเริ่มต้นได้ไม่ดี และเล่าเรื่องได้น่าเบื่อ
แต่ส่วนอื่นๆ ทั้งพล็อต และตัวฆาตกร เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
สำหรับฆาตกร การฆ่าคนคือการทดลองของเขา
เราชอบที่เขานั่งอธิบายพฤติกรรมของฆาตกรต่อเนื่อง
ไม่รู้ทำไม อ่านไปก็นั่งนึกถึงตัวเองไปด้วย
ว่าเราเข้าข่ายบ้างมั้ยนะ มีพฤติกรรมอะไรตรงกับคนร้ายบ้างมั้ย
เคยรู้สึกอยากฆ่าคนบ้างมั้ย ฯลฯ
สิ่งที่เล่าในหนังสือ มันเป็นทฤษฎีที่ถูกต้องทั้งหมดจริงๆ หรือ ฯลฯ

หลังอ่านจบ ได้แต่เสียดายวัตถุดิบ
เล่มนี้ ถ้าเปลี่ยนวิธีเล่าให้กระชับกว่านี้ มันอาจจะสนุกได้มากกว่านี้
สุดท้าย เราก็ยังไม่เจอนิยายสืบสวนฝั่งตะวันตกที่ชอบได้จริงๆ จังๆ สักที
หรือบางที นี่อาจจะไม่ใช่ทางเรา?

Comments are closed.