อ่านแล้วเล่า

สาวน้อย

เรื่อง สาวน้อย
ผู้แต่ง ลุยซา เมย์ อัลคอตต์
ผู้แปล อริณี เมธเศษฐ
ภาพประกอบ หทัยรัตน์ เจริญชัยชนะ
สำนักพิมพ์ แพรวเยาวชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786161804671

สาวน้อย .. หรือที่เราเคยรู้จักกันดีในชื่อ สี่ดรุณี
เป็นเรื่องราวของพี่น้องสาวๆ สี่คน ..
เม็ก หรือมาร์กาเร็ต เป็นพี่สาวคนโต กำลังก้าวเข้าสู่วัยสาวในวันที่เปิดเรื่อง
น้องคนรองต่อมา เป็นสาวห้าว มีชื่อไพเราะว่าโจเซฟิน แต่ถูกตัดให้ห้วนๆ สั้นๆ ว่าโจ
น้องคนที่สาม เป็นแม่พระของบ้าน เป็นเด็กสาวที่มีจิตใจดีงาม เธอคือ เอลิซาเบท หรือเบท
น้องสาวคนสุดท้อง เธอสวยที่สุด เหมือนนางฟ้าน้อยๆ ของบ้าน
แต่ก็มีลักษณะนิสัยของน้องคนสุดท้องอยู่หน่อย และกำลังปรับปรุงตัว เธอคือเอมี่

ครอบครัวมาร์ช เป็นครอบครัวที่ยากจน แต่ก็เป็นไปในทำนองผู้ดีตกยาก
แม่ของครอบครัวทำหน้าที่เป็นเสาหลัก ในขณะที่พ่อถูกส่งตัวไปรบที่อื่น

เด็กๆ ต้องขยันตัวเป็นเกลียว และประหยัดอย่างที่สุด
ต้องทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ และต้องข่มใจต่อสิ่งของต่างๆ ที่อยากได้
แต่ผู้เขียนก็บอกเราเสมอๆ ว่าความจนไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย ถ้าเรารู้จักรับมือกับมัน
ความรวยเสียอีกที่พร้อมจะทำให้มนุษย์เสียคน
สี่พี่น้องได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความจนอย่างมีความสุข
ทุกคนมีน้ำใจที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือกัน และรักกัน ..
เราสามารถพูดได้เลยว่าครอบครัวมาร์ชไม่ใช่ครอบครัวที่ร่ำรวย
แต่พวกเขาเป็นครอบครัวที่มีความสุขมากครอบครัวหนึ่ง

เด็กๆ ทั้งสี่คนมีลักษณะและอุปนิสัยแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน
ผู้เขียนค่อยๆ เปิดเผยตัวตนของเด็กๆ ออกมาทีละนิด
ทั้งข้อดี และข้อเสีย
ตัวละครมีความเป็นมนุษย์ เป็นปุถุชน
และแม่ผู้แสนดี ก็มักมีคำสอนดีๆ
เพื่ออบรม และหล่อหลอมเด็กๆ เหล่านี้ให้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมากขึ้นๆ

เรื่องราวแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่สาวๆ เหล่านี้ยังเป็นเด็ก
และอีกส่วนสำหรับวัยที่พวกเธอเริ่มมีความรัก และกลายเป็นครอบครัวในที่สุด

ระหว่างที่อ่านเรื่องนี้ เราคิดถึงเรื่องปริศนาของท่านชายพจน์อยู่หน่อยๆ
ปริศนามีส่วนผสมของโจ สิรีคือเม็ก อนงค์ก็อาจจะคล้ายๆ เบท
ชีวิตและความศรัทธาของสาวๆ ที่นี่ก็ดูไปกันได้กับครอบครัวของปริศนา

สำหรับเรานะ ..
ตอนเริ่มอ่าน เราคิดว่าผู้เขียนยังบรรยายเรื่องและลำดับเหตุการณ์ได้ไม่ค่อยดี
อย่างตอนเปิดเรื่อง เราต้องอ่านไปสักพักกว่าจะเข้าใจว่าสี่พี่น้องแต่ละคนเป็นอย่างไร
คนไหนเป็นคนไหน หรือแม้แต่ระหว่างการเล่าเรื่อง
เราก็ยังงงๆ เสมอว่าตอนนี้ผู้เขียนหมายถึงใคร
เพราะเธอใช้คำว่า ‘มิสมาร์ช’ แทนตัวละครสี่พี่น้องนี้อยู่บ่อยๆ
แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็ค่อยเริ่มคุ้นกับสำนวนแบบนี้ ก็โอเคขึ้น

แต่สิ่งที่ดีและดีมาก คือการบรรยายความรู้สึกนึกคิดลึกลงไปในจิตใจตัวละคร
มนุษย์เรามักมีความรู้สึกขัดแย้งบางอย่าง
มีทั้งด้านดีและด้านร้ายในตัวเอง
จนแม้บางทีเรายังไม่เข้าใจตัวเองเลย
แต่ผู้เขียนสามารถอธิบายให้เราเข้าใจได้ว่า
ขณะที่ตัวละครกำลังมีความคิดดีๆ อยู่
อีกหนึ่งความคิดแย่ๆ ในหัวก็พยามยามหาทางแสดงตัวตนออกมาอยู่เช่นกัน
เธออธิบายด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติ เข้าใจง่าย
อย่างที่หาอ่านไม่ได้ง่ายๆ จากหนังสือเล่มไหน

หลายครั้งที่ผู้เขียนสอดแทรกแนวความคิดในการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควรเอาไว้ในเรื่อง
แบบที่เธอเองเรียกว่า ‘คุณธรรม’
อ่านไปสักพักนี่เราจะเริ่มมโนเองเลยว่า โจ ก็คือผู้เขียนเองนี่แหละ
เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโจ ก็ (น่าจะ) เคยเกิดขึ้นกับผู้เขียนมาก่อน
และผู้คนรอบๆ ตัวโจ ก็คือพี่น้อง ครอบครัว และเพื่อนบ้านของผู้เขียนเอง
และพอคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง มันก็ทำให้เราทึ่งกับวิธีคิด
และการเลี้ยงดูลูกๆ ของคนสมัยก่อน (อาจจะเฉพาะกับครอบครัวนี้ก็ได้)
แต่เรารู้สึกเลยว่าครอบครัวนี้เป็นครอบครัวที่มีจิตใจดีมากๆ
มองโลกในแง่ดี และใช้ชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด
เราเห็นเลยว่าทั้งสี่สาวได้เติบโตขึ้นอย่างสง่างาม ไม่แพ้ครอบครัวไหนๆ เลย

ยกตัวอย่างตอนหนึ่ง ที่เราได้เรียนรู้จากการกระทำของโจ ..
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เราจะเอาชนะจุดอ่อนของตัวเอง
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะสามารถควบคุมอารมณ์โกรธของเราให้สงบลงได้
โดยเฉพาะอารมณ์โกรธที่คุกรุ่นขึ้นจากความอยุติธรรม
แต่เมื่อทำได้แล้ว เราจะภาคภูมิใจมาก
คำสอนนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากคำสอน
แต่โจเรียนรู้ได้จากการลงมือทำ
และความภาคภูมิใจนี้จะเป็นรางวัลที่จะเตือนใจเธอไปทุกครั้งที่มันเกิดขึ้นอีก

สาวน้อย เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่สมคุณค่าความอมตะของมัน
เป็นวรรณกรรมที่อบอุ่น อ่อนโยน ปลอบประโลม กล่อมเกลาจิตใจ
แม้จะหนาสักหน่อย แต่เป็นหนังสือที่ทำให้เราอิ่มเอมมากๆ ค่ะ 🙂

Comments are closed.