อ่านแล้วเล่า

วอลเดน

ความเรียง คืนชีวิตสู่ห้วงสงบภายใน
เรื่อง วอลเดน
ผู้แต่ง เฮนรี เดวิด ธอโร
ผู้แปล สุริยจักร ชัยมงคล
ภาพประกอบ เทพศิริ สุขโสภา
สำนักพิมพ์ ทับหนังสือ
เลขมาตรฐานหนังสือ 9786164853690

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อ book club ประจำวันศุกร์ของเรา
#คืนวันศุกร์bookclubเงียบๆ
มีมติตรงกันว่า เรามาลองอ่านหนังสือเล่มเดียวกันดูบ้างเถอะ
ซึ่งหนังสือเล่มนั้นก็คือ วอลเดน
ปรากฏการณ์อ่านวอลเดนหมู่จึงเกิดขึ้น

การอ่านในครั้งนี้ เป็นการอ่าน –
โดยกำหนดบทที่จะอ่านร่วมกันในแต่ละสัปดาห์
เราจึงบันทึกการอ่านหนังสือเล่มนี้แบบแยกบท
ดังนั้น การเล่าถึงวอลเดนในครั้งนี้
จึงคล้ายกับเป็นบันทึกการอ่านของเรา
มากกว่าการรีวิวหนังสือแบบครั้งอื่น
อาจจะมีความเห็นส่วนตัว มีอารมณ์ความรู้สึก
แทรกเข้ามาในรีวิวนี้มากกว่าทุกครั้งนะคะ 🙂

(บทนำ)
วอลเดน เป็นหนังสือที่ตื่นเต้นเมื่อคิดว่าจะเริ่มอ่าน
ตื่นเต้นตั้งแต่ตอนที่อ่านคำนำ
ความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในหัวตลอดเวลาคือ เราจะรอดมั๊ย
มันจะอ่านยากจริงมั๊ย ความยากนั้น ยากสำหรับเราด้วยมั๊ย

ก่อนจะเริ่มบทที่ 1
หนังสือเล่มนี้มีอารัมภบทอยู่ราว 50 หน้า
เป็นบทที่ว่าด้วยคำนำของสำนักพิมพ์
คำนำของคุณพจนา จันทรสันติ
บทที่ ราล์ฟ วัลโด อีเมอร์สัน กล่าวถึง เดวิด ธอโร
และบทที่เรียกว่า กาลานุกรม
ซึ่งก็คือ ชีวประวัติแบบไทม์ไลน์ของธอโร
ระหว่างอ่านบทพวกนี้ เราถูกบิ้วท์ตลอด
และตื่นเต้นตลอดว่าตอนที่เริ่มอ่านบทที่ 1 จะรู้สึกอย่างไร

(บทที่ 1)
ความมัธยัสถ์

อืม .. แล้วเราก็ได้อ่านบทแรก
มันเริ่มต้นขึ้นอย่างสามัญ ราบเรียบ

จะว่าอ่านยาก ก็ไม่ยาก
แต่ถ้าจะบอกว่าอ่านง่าย ก็ไม่เชิง
วอลเดนเป็นบทบรรยายที่เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ
ผ่านจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง
อ่านเพลินๆ จนบางทีก็เพลินจนจิตหลุด ..
สมาธิลอยไปยังเรื่องอื่น

จุดที่ท้าทายจิตใจที่วอกแวกก็คือ
บทแรก เป็นการเริ่มต้นด้วยความยาวราว 90 หน้า
เป็น 90 หน้าที่พาเราเตาะแตะไปในห้วงความคิดของผู้เขียน
เตาะแตะไปอย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ และพร้อมจะจิตหลุดได้ทุกเมื่อ

แต่หลังจากนั้น แต่ละบทก็ลดทอนความยาวลงมา
เหลือเพียงบทละ 10 – 20 หน้า
เมื่อผ่านบทแรกไปแล้ว อะไรๆ ก็ง่ายขึ้น (มั๊งนะ)

ในบทแรก ธอโรชี้ให้เราเห็นว่า
มรดกผืนดินปศุสัตว์ไร่นาอันกว้างใหญ่
ที่ผู้คนได้รับจากบรรพบุรุษนั้น คือภาระอันเกินตัว
มนุษย์คนหนึ่ง ต้องการเพียงที่ดินผืนเล็กๆ
เพื่ออยู่อาศัย และทำกิน
การสะสมทรัพย์สมบัติที่รอวันผุพัง สูญหาย
คือการกระทำอันไร้ประโยชน์

ธอโรตั้งคำถามถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต
อะไรคือสิ่งที่จำเป็นจริงๆ
เราตกเป็นทาสของสิ่งที่เรามี
เราปราศจากอิสระเมื่อครอบครองมัน
ธอโรชี้ให้เราเห็นถึงอิสรภาพของความไม่มี
แม้แต่บ้านหรือเครื่องนุ่มห่ม
ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่แท้จริง

ธอโรเชื่อในการลงมือทำ
มากกว่าการเรียนรู้จนแตกฉาน
แต่กลับไม่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องที่เรียนเลย

เมื่อมองเข้าไปในวอลเดน
เราเห็นอาจารย์ประมวลอยู่ในนั้น
เห็นโจน จันได อยู่ในนั้น
เห็นคริสโตเฟอร์ จอห์นสัน แม็คแคนด์เลส จาก into the wild 
เห็นคนเขียนบทโฮมทาวน์ชะชะช่า
และเห็นผู้คนรอบตัวบางเสี้ยว บางส่วน ในนั้น ..

(บทที่ 2)
ฉันอยู่ที่ไหน, และอยู่เพื่ออะไร

ในบทนี้ ธอโรบอกว่า ในจินตนาการของเขา
เขาเคยมองหาทำเลที่จะมีบ้านสักหลัง
ติดต่อขอซื้อที่ดินที่เจ้าของเต็มใจขาย
ท่องไปในผืนดินเหล่านั้น
ทำความรู้จักมัน .. ผืนแล้วผืนเล่า
เช่นเดียวกับคนวัยหนุ่มสาวอีกมากมาย ..
มันเป็นวัยแห่งการเสาะแสวงหา
ทั้งตัวเอง บ้าน และความหมายของชีวิต

ครั้งหนึ่ง เขาได้ตัดสินใจซื้อที่ดินจริงๆ
ได้ลงแรงจัดเตรียมผืนดินเพื่อเพาะปลูก
แต่สุดท้าย ก็แคล้วคลาด ..
เขาไม่ได้ที่ดินผืนนั้นมาครอบครอง
นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจัง ของบ้านที่ริมบึงวอลเดน

เราชอบที่เขาเปรียบเทียบบ้านริมบึงวอลเดน
ว่าเป็นเหมือนดาวดวงหนึ่งในจักรวาล
ตั้งอยู่ห่างไกลดาวเพื่อนบ้านรอบตัว
เรากับเพื่อนบ้านอาจจะพบปะ สื่อสารกันได้บ้าง
เมื่อตอนที่เรากระพริบแสงส่งไป
และเขาอาจจะมองเห็นเราก็ต่อเมื่อคืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด

การเริ่มต้นทุกเช้าวันใหม่ด้วยจิตใจอันผ่องใส
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เนิบช้า
ให้เวลากับภายในตนเองมากกว่าข่าวสารภายนอก
ไม่หมุนวนไปกับสถานการณ์
หากมั่นคง แน่วแน่ กับงานตรงหน้า
ปล่อยผ่านคำวิจารณ์ กรอบขนบใดๆ
เปิดใจรับรู้เพียงความจริงแท้เพียงเท่านั้น

มันเป็นชีวิตที่ชวนฝันดีเหมือนกันนะ
การที่เราเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง
อยู่ในบ้านที่เราสร้าง บ้านที่เหมาะเจาะกับจังหวะชีวิตของเรา
ขนาดกะทัดรัด ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มากมาย
ความต้องการน้อย ความสุขเรียบง่าย ..

แต่ธอโรไม่ได้ให้ข้อมูลในอีกแง่เลย
ถ้าหิว ถ้าหนาว ถ้าป่วย
ถ้าอื่นๆ อีกมากมายที่อาจเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน ..
ความโรแมนติกเหล่านี้ จะยังคงโรแมนติกอยู่หรือเปล่า?

และบางที ธอโรก็ขี้บ่นและขี้แซะเหมือนกันเนอะ
เขาอุทิศหลายหน้ากระดาษ
เพื่อบ่นเรื่องข่าวสารและผู้คน
บ่นถึงความไร้สาระของข่าว
และเวลาที่สูญเสียไปเพราะข่าวเหล่านั้น ..

(บทที่ 3)
การอ่าน

เป็นบทที่เรานึกว่าจะชอบ เพราะชอบชื่อบท
แต่การอ่านของธอโรช่างสูงส่ง มีพิธีรีตอง
หลายครั้งที่อุทานในใจว่าอะไรจะขนาดนั้น
แต่ก็ไม่อาจมีอะไรมาแย้งได้เลย
อย่าว่าแต่การอ่านอีเลียด
หรือวรรณกรรมเก่าแก่อื่นๆ ในภาษาต้นฉบับเลย
แม้แต่ฉบับที่แปลเป็นภาษาแม่ของเราแล้ว
เราก็ยังไม่เคยอ่านมันเลย

แม้ว่าในบทนี้ ธอโรจะพูดถึงการอ่านเอาไว้อย่างน่าหมั่นไส้
แต่ในช่วงท้ายบท เขาก็เล่าแนวความคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ซึ่งมันน่าสนใจ และล้ำสมัยดีทีเดียว

(บทที่ 4)
เสียง

เป็นตอนที่เราอ่านด้วยความรื่นรมย์ ผ่อนคลาย
(เราคงจะเริ่มชินสำนวนของเขาแล้ว)

ธอโรเล่าเรื่อยๆ
จากบทบรรยายที่เลยเถิดไปจากการเล่าเรื่องเสียงของรถไฟ
ที่ลอยลมมาถึงกระท่อมริมบึงวอลเดน

เราจะมองเห็นวิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นอยู่
ของผู้คนในคองคอร์ด ในช่วงราว 100 กว่าปี (176 ปี) มาแล้ว
(ธอโรอยู่ที่ริมบึงวอลเดนในช่วงปี ค.ศ. 1845 – 1847
และวอลเดนถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1854)

(บทที่ 5)
ความสันโดษ

จู่ๆ เราก็รู้สึกขึ้นมาว่า ..
การใช้ชีวิตเช่นนี้
มันเป็นเพียงแค่การทดลองหนึ่ง ในการใช้ชีวิตของธอโร
มันไม่อาจเป็นแบบอย่าง
แต่อาจเป็นแรงบันดาลใจ
ที่เราจะออกไป “ทดลอง” ใช้ชีวิตของเรา
ในแบบของธอโรบ้าง ..

(บทที่ 6)
ผู้มาเยือน
บ้านริมบึงวอลเดนมีโอกาสรับแขกที่เป็นผู้ผ่านทางอยู่หลายครั้ง
บึงวอลเดนไม่ได้อยู่ลึกลับกลางป่าเปลี่ยว
มันเป็นทางผ่านของชาวไร่ชาวนาเพื่อนบ้าน
เป็นจุดหมายของนักตกปลา
และอยู่ในระยะไม่ไกลที่เสียงรถไฟจะส่งมาถึง

ธอโรมิได้อยู่โดดเดี่ยว หากยังได้พบปะสมาคมผู้คน
นอกจากนี้ นานๆ ครั้ง เขายังออกไปซื้อหาอาหารบางจำพวก
หรือในบางครั้งอาจมีผู้ผ่านทางแวะมาเยี่ยมเยือน

มีผู้คนมากมายมาเยี่ยมธอโร
เราไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนดังแห่งยุคหรือเปล่า
และการที่เขามาอยู่ที่ริมบึงวอลเดนแห่งนี้นั้น
เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ขนาดไหน
เขาเล่าถึงผู้คนที่ผ่านมาและผ่านไป
มีอยู่คนหนึ่งที่ธอโรเล่าถึงอย่างละเอียด
ชายคนนี้เป็นบุคคลที่ธอโรประทับใจ
เขามีชีวิตที่เหมือนเด็ก
มีอายุมากกว่าธอโร แต่มีความรู้น้อย
ทำงานใช้แรงงานอย่างเต็มที่ ไม่เร่งรีบ และมีความสุขกับชีวิต
ซึ่งทั้งหมดนี้ ตรงตามอุดมคติที่ธอโรเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้

(บทที่ 7)
ไร่ถั่ว
เราไม่เคยรู้จักธอโรมาก่อน
เคยได้ยินกิตติศัพท์ของวอลเดนมาอย่างผิวเผิน
ไม่มีภาพร่าง ไม่เคยคิดว่าเขาเป็นอะไร
หรือหนังสือของเขาสูงส่งเพียงใด
ธอโรจึงเป็นเพียงมนุษย์คนนหนึ่ง
ที่มีแนวคิดแบบหนึ่ง
ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับเราบ้าง
แต่ก็ไม่สร้างความผิดหวังหรือสมหวัง

ในบทนี้ เราว่าภาษาเป็นกวีมากขึ้น
อย่างที่มักอ่านพบในรีวิวบ่อยๆ
แต่เพิ่งรู้สึกชัดเจนในบทนี้
ตอนที่จับใจ คือตอนที่ธอโรเล่าว่า
เขาสับจอบลงบนผืนดิน ซึ่งปกคลุมไปด้วยหิมะแข็ง
บนผืนดินที่ปลูกถั่วของธอโรนั้น
ก็คือผืนดินที่ทับถมไว้ซึ่งสิ่งบรรพกาล
ที่ล้วนแล้วแต่ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในพงศาวดาร
ขณะที่เขาพรวนดินให้ถั่ว ถั่วก็ไม่ใช่ถั่วอีกต่อไป
ทั้งเขาเองก็ไม่ใช่ตัวเขาเองอีกเช่นกัน
เขาได้หลอมรวมตนเองเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ในบทนี้ของธอโรยังคงมีช่วงที่ทำให้เราจิตหลุด และอ่านไม่เข้าใจ
เราไม่รู้พื้นหลังของค่านิยมต่อชาวนา ของชาวอเมริกันในยุคนั้น
ไม่เข้าใจถึงการเปรียบเทียบอันต่ำต้อยด้อยค่าในแง่ของศีลธรรม
แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่างในหนังสือที่อ่านหรอก
ไม่จำเป็นต้องจดจ่อทำความเข้าใจ
หรือตีความทุกถ้อยคำที่ธอโรเขียน
(บางที การตั้งใจจนเกินไปอาจทำให้เราชะงักงัน และไปต่อไม่ได้)

เราอาจจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้ เมื่อเราอ่านต่อไป
หรือแม้กระทั่งการได้อ่านมันซ้ำอีกครั้ง ในเวลาอันเหมาะสม

เหมือนกับการอ่านหนังสือเรียน
เมื่อเราอ่านวิชาที่เราไม่ชอบ
เราจะตั้งแง่ไว้ก่อนว่ามันยาก
พออ่านเจอตรงที่เราไม่เข้าใจ
เราก็จะตกใจ และบอกกับตัวเองว่า
เห็นมั๊ย มันยาก เราไม่เข้าใจหรอก
แต่ถ้าเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับวิชาที่เราชอบ
สิ่งที่เราทำคือ อ่านผ่านจุดไม่เข้าใจแรกมาก่อน
อาจมีจุดที่ไม่เข้าใจต่อมา
แต่เดี๋ยวรูปประโยค หรือคำอธิบายในส่วนหลังๆ
จะทำให้เราเห็นรูปเห็นร่างของสิ่งที่หนังสือต้องการจะบอก
ยิ่งถ้าเราได้อ่านมันซ้ำอีกครั้ง และอีกครั้ง
เราก็จะมองเห็นแง่มุมต่างๆ เพิ่มขึ้น
เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจทั้งหมด
หรือเก็บมันทั้งหมดได้ในการอ่านวันนี้หรอก

ในบทนี้ เราชอบที่ธอโรมองธรรมชาติเป็นของกลาง
มันเป็นสิ่งสาธารณะ แม้ว่าผืนแผ่นดินนี้เราจะเป็นผู้ถือโฉนด
หากเราก็เป็นเจ้าของมันเทียบเท่ากับเหล่าสรรพสัตว์บนผืนดินนั้น
ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์เหนือกว่าแต่อย่างใด
สัตว์อื่นก็มีสิทธิ์ที่จะเก็บกินพืชพันธุ์ที่เราปลูกเท่าๆ กับเรา
หากมนุษย์ก็ยังคงไม่พอใจ และไม่ยอมรับ
ต่อความยุติธรรมเช่นนี้อยู่ดี

(บทที่ 8)
หมู่บ้าน
บทนี้ เราได้เห็นความเป็นคนขี้แซะของธอโรอีกครั้ง
เรียกว่าแทบจะทั้งบทว่าด้วยเรื่องของการนินทา
เป็นบทที่อ่านไม่ค่อยสนุก และไม่ค่อยสงบสักเท่าไร
โชคดีที่มันเป็นเพียงบทสั้นๆ
ก่อนที่จะข้ามผ่านไปยังบทต่อไป

แปลกดีที่ธอโรบอกว่าคนอื่นเป็นคนช่างนินทา ..
ทั้งที่เขาก็กำลังนินทางคนอื่น ผ่านทางหน้ากระดาษเหล่านี้เช่นกัน

ในบทนี้เอง ที่ธอโรได้เล่าเรื่องที่เขาถูกตำรวจจับ
เพราะไม่ยอมจ่ายภาษีให้แก่รัฐ

(บทที่ 9)
บึง
บทนี้เล่าถึงบึงวอลเดนโดยตรง
อันที่จริงก็มีบึงอื่นๆ อีกด้วย
เป็นบทที่สุขสงบดีทีเดียว
ภาษาที่ใช้ สวยงาม เป็นกวี
เข้าใจเลยว่าทำไมจึงเป็นบทที่ได้รับคำแนะนำให้เริ่มอ่านเป็นบทแรก

เราอ่านบทนี้แล้วรู้สึกอยากออกไปเที่ยว
ตอนที่อ่าน เห็นภาพตัวเองนั่งอยู่ริมบึงเนิ่นนาน
เฝ้ามองสรรพสิ่งแปรเปลี่ยนไป โดยที่ไม่ทำอะไรเลย

และท่ามกลางความเงียบสงบที่ว่านี้เอง
ในช่วงท้าย จู่ๆ ก็กลายเป็นความเกรี้ยวกราด
อย่างไม่อาจคาดเดา ..
ธอโรมีความเป็นตาแก่ขี้บ่น
(แม้ว่าตอนที่เขาไปปลูกบ้านอยู่ที่ริมบึงวอลเดน
เขาจะมีอายุไม่มากขนาดนั้นก็ตาม)
ความเป็นตาแก่ขี้บ่นของเขา
มักผุดแทรกขึ้นมาให้เราเห็นเป็นระยะๆ

(บทที่ 10)
เบเกอร์ ฟาร์ม
วอลเดนบทนี้ไม่ค่อยตรงจริตเราเท่าไร
เรารู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยอีโก้ของธอโร
เขาใช้กรอบความคิดของตนเอง
ตัดสินความสุขของผู้อื่น

สิ่งที่ธอโรต้องการจะบอกนั้น เป็นนามธรรมเกินไป
มนุษย์เรามีความต้องการที่แตกต่างกัน
และยิ่งมีรายละเอียดในความต้องการนั้นที่แตกต่างกัน

เป็นบทที่เราพอจะเห็นภาพสิ่งที่เขาต้องการจะบอกอย่างรางๆ
แต่ไม่อาจอินไปด้วยได้เลย

(บทที่ 11)
กฏชั้นสูง
เป็นบทที่อ่านยากบทหนึ่ง
มันเป็นบทที่เราอ่านซ้ำ 2 ครั้ง
โดยที่ครั้งแรก อ่านไป ทะเลาะกับธอโรไปด้วย
เมื่อจบบท เราแทบจะบันทึกอะไรเกี่ยวกับบทนี้ไม่ได้เลย
นั่นจึงเป็นความจำเป็นให้ลองย้อนกลับมาอ่านซ้ำอีกครั้ง –
หลังจากที่เราอ่านจบทั้งเล่มแล้ว ..
และนี่คือบันทึกที่เราได้จากการอ่านครั้งที่สอง

ยิ่งได้อยู่กับตนเอง ยิ่งรู้จักตนเอง
ธอโรค้นพบว่า ภายในตัวตนของเขา
แท้จริงแล้วมันคือการผนวกรวมความดีงาม
และความดิบเถื่อนแห่งบรรพกาล เอาไว้ร่วมกัน
เขายอมรับในทั้งสองส่วนนี้
ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นทั้งดีและร้าย

ธอโรเสนอแนวคิดที่ว่า
หากอยากใกล้ชิดธรรมชาติ ศึกษาธรรมชาติ
ก็ควรเริ่มต้นจากการเป็นพราน การตามรอยสัตว์
เปิดโสตประสาท ใช้สัญชาตญาณของตนอย่างเต็มความสามารถ
เราจะรู้จักธรรมชาติได้ลึกซึ้ง –
กว่าการเป็นเพียงผู้สำรวจธรรมชาติธรรมดาๆ

นั่นคือการเปิดรับสัญชาตญาณดิบในใจตน
เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะเข้าใจ และเลือกหนทางได้เอง
ธอโรบอกว่าเราควรฟังเสียงเรียกภายในของตน
เขาเชื่อว่ามนุษย์ควรกินมังสวิรัติ งดเว้นเนื้อสัตว์
มันเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติต่อการใช้ชีวิต
เขาเชื่อว่า มนุษย์ควรทำตัวให้บริสุทธิ์
ละความหยาบภายในจิตใจ
ธอโรพูดถึงการดูแลจิตวิญญาณของตน

เป็นบทที่เต็มไปด้วยอุปมา ..
บางครั้ง อ่าน 2 รอบอาจยังไม่พอ!

(บทที่ 12)
เพื่อนบ้านเถื่อน
มันเป็นบทที่เราอ่านไม่ค่อยเข้าใจอีกบทหนึ่ง
ไม่เข้าใจบทสนทนาระหว่างกวีกับฤษี

บางที ธอโรอาจจะกำลังยืนยันความคิดอันแน่วแน่
ของสิ่งที่เขาบอกไว้ตั้งแต่ต้น
ธอโรยังคงยืนยันว่าเราเป็นทาสของสิ่งของที่เรามี
เราต้องหา เพราะต้องกิน
เราต้องรักษา เพื่อคงสภาพสิ่งของที่เรามีให้งดงาม
เราดูแลบ้าน เราหาอาหาร
เราหมดเปลืองเวลาในชีวิตไปกับเรื่องราวเหล่านี้ ..

บางทีก็อยากจะถามธอโรเหมือนกันว่า
แล้วถ้าเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้
เราจะเอาเวลาที่เหลืออยู่ไปทำอะไรนักหรือ?

คนทุกคนคงมีสมดุลของตนเอง
และมีความสุขในการรักษาสมดุลนั้น
แบบของธอโร อาจจะไม่ใช่แบบของเรา
และแบบของใครอื่น ก็คงไม่ใช่ในแบบของธอโร?

วอลเดนอาจดึงสติเราบ้างในบางครั้ง
แต่การเดินตามรอยเท้าของธอโร
ก็อาจไม่ใช่คำตอบของชีวิตคนทุกคน ..
แม้แต่ตัวธอโรเอง
อย่างที่เรารู้กัน
ธอโรใช้ชีวิตอยู่ในบ้านริมบึงวอลเดนแห่งนี้เพียงแค่ 2 ปี
หลังจากนั้น เขากลับไปอยู่ในเมือง
เราไม่รู้ว่าเขาได้คำตอบของคำถามในใจเขาหรือเปล่า
บางที บทต่อๆ ไป อาจทำให้เรารู้และเข้าใจเขาได้มากกว่านี้

มาว่ากันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในบทนี้
เราเข้าใจว่า เพื่อนบ้านเถื่อนน่าจะหมายถึง
สรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าเดียวกันกับธอโร
ไม่ว่าจะเป็นหนู นกฟีบี นกกางเขน นกกระทา
นาก ไก่ป่า กระรอกแดง เหล่านกน้ำ หมาบ้าน และแมวบ้าน ฯลฯ
ธอโรพรรณนาถึงการใช้ชีวิตในกระท่อมของตนเอง
ร่วมกับสัตว์ที่ผลัดกันมาเยี่ยมเยือนเหล่านั้น
และบางครั้ง เขาก็เป็นฝ่ายออกไปเยี่ยมเยือนเพื่อนบ้านเหล่านั้นในป่าบ้าง

บางที เวลาที่เหลือจากการทำงานอันเกินพอ แบบที่ธอโรว่า
อาจจะเอามาใช้เพื่อการเฝ้าดูพฤติกรรมสรรพสัตว์เหล่านี้ก็ได้?

(บทที่ 13)
อุ่นบ้าน
เรียกได้ว่าบทนี้เป็นบทบูชาฟืนและไฟ

เมื่อฤดูกาลเปลี่ยนผ่าน
สีสันต่างๆ ที่บึงวอลเดนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
เดือนกันยายน ที่เมเปิ้ลเริ่มเปลี่ยนสี
เดือนตุลาคม ฤดูกาลแห่งองุ่น แครนเบอร์รี่
บาร์เบอร์รี่ แอปเปิ้ลป่า เกาลัด ฯลฯ

เมื่อบึงวอลเดนเคลื่อนเข้าสู่ความหนาวเย็น
สรรพสัตว์และเหล่าแมลง เริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามฤดูกาล
อย่างเป็นธรรมชาติ .. ด้วยสัญชาตญาณ ..
ธอโรแสดงให้เราเห็นถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่เราแชร์โลกร่วมกัน
อย่างยุติธรรม อย่างเท่าเทียม

น้ำในบึงวอลเดนเริ่มกลายเป็นน้ำแข็งในเวลาต่อมา
ธอโรเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์นี้อย่างใกล้ชิด

สรรพสัตว์เข้าสู่ห้วงจำศีล
มนุษย์อีกเพียงหนึ่งเดียวริมบึงวอลเดน บำเพ็ญตนเช่นกัน

เมื่อฤดูหนาวเคลื่อนมาอย่างช้าๆ
บ้านริมบึงวอลเดนก็ต้องการความอบอุ่น ..
จากธรรมชาติ จากแสงตะวัน จากกองไฟในเตาผิง
ธอโรได้เตรียมการสำหรับฤดูกาลเช่นนี้ไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว
เขาย้อนกลับมาเล่าเรื่องการสร้างบ้านอีกครั้ง
เล่าถึงความสมถะ และความเปิดเผยของกระท่อมเล็กๆ หลังนั้น

(บทที่ 14)
ผู้อยู่อาศัยแต่ก่อนเก่า
บทนี้ ธอโรเล่าถึงผู้ที่เคยอยู่อาศัยในละแวกริมบึงวอลเดนมาแต่ก่อนเก่า
บางคนเขาเคยได้ยินแต่เพียงเรื่องราว
และกับบางคน เขาเคยพบผิวเผิน ก่อนจะถึงวาระสุดท้ายของพวกเขา
เป็นบทที่ธอโรเล่าได้ดี
เรามองเห็นถึงสัจธรรมของชีวิต เมื่อผู้อยู่แต่ก่อนเก่าจากไป
และสิ่งที่หลงเหลือไว้ของพวกเขา ค่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
มีเพียงความทรงจำของคนที่ยังอยู่
ซึ่งก็จะค่อยๆ มลายหายไปในภายหลังเช่นกัน

ในวันที่หิมะตกหนักทับถมเส้นทาง
บางครั้งจะมีผู้มาเยือนบ้านริมบึงวอลเดน
บ้างมาในตอนที่ธอโรไม่อยู่บ้าน แต่อาจทิ้งร่องรอยรางๆ
บ้างมาในตอนที่ธอโรอยู่บ้าน และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
บ้างเป็นคนตัดไม้ เป็นกวี และเป็นนักปรัชญา ฯลฯ

บทนี้อ่านได้ราบรื่นดี ธอโรไม่ขี้บ่น

(บทที่ 15)
สัตว์ฤดูหนาว
เมื่อบึงน้ำกลายเป็นน้ำแข็งหนา
บรรยากาศปกคลุมไปด้วยหิมะและไอหมอกมัว
วอลเดนก็ไม่เหมือนวอลเดนที่ธอโรคุ้นเคย
มันแปลกตา มันกว้างใหญ่กว่าที่เคยกว้าง

เสียงร้องของนกฮูก
เสียงกระพือปีกก้องของฝูงห่านที่บินผ่าน
เสียงน้ำแข็งในบึงลั่นกราว
เสียงของหมาจิ้งจอก
ฯลฯ

กระรอกแดง กระต่ายป่า นกนานาชนิด
คือสรรพสัตว์ที่ธอโรเฝ้าดูผ่านหน้าต่างกระท่อมของเขา
ระหว่างช่วงฤดูหนาว

ธอโรเล่าถึงเหล่าพรานล่าสัตว์ที่ออกล่าในฤดูหนาว
บึงวอลเดนในอดีตเคยมีกวางหรือหมี
ท้ายที่สุดก็เหลือแต่เพียงเหล่าสัตว์เล็กๆ ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
พึ่งพิงธรรมชาติอย่างสงบ และสวยงาม

มันเป็นบทที่ธรรมชาติเป็นพระเอก
เป็นอีกบทที่สุขสงบในใจขณะอ่าน

(บทที่ 16)
บึงในฤดูหนาว

เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
ธอโรเล่าเรื่องของชาวป่าที่ละทิ้งความรู้ความเชื่อของตนเอง
และรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทน
ทำให้เราอดคิดถึงบางสิ่งบางอย่าง .. ในร้อยกว่าปีถัดมา

มนุษย์เราล้วนเคยป่าเถื่อน
ก่อนจะถีบตัวเองให้สูงขึ้น (ในความคิดของพวกเขา)
เหยียดคนที่ต่ำกว่าว่าป่าเถื่อน
นักล่าอาณานิคมเหยียดชนพื้นเมือง
คนขาวเหยียดคนดำและชาวอินเดียนแดง
คนเมืองเหยียดคนต่างจังหวัด
เราทุกคนต่างพยายามละทิ้งตัวตน
เพื่อเป็นในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดีกว่า
สุดท้ายเราก็สูญเสียสิ่งที่มีอยู่
ทั้งยังไม่อาจเป็นอย่างที่อยากเป็นได้สนิทใจ

ในบทนี้ ธอโรได้ทำการหยั่งความลึกของบึงวอลเดน
ยอมรับตามตรงว่า เราไม่เข้าใจวิธีการของเขาเลย
ออกจะงงๆ แต่สรุปได้ว่าบึงนี้ลึกประมาณ 32 เมตร
นอกจากนี้ เรายังชักสับสนว่า
ตกลงแล้ว วอลเดนเป็นบึงขุด
หรือบึงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติกันแน่?
บางทีอุปมาอุปไมยต่างๆ ของธอโรก็เข้าใจยากเหลือเกิน

(บทที่ 17)
ฤดูใบไม้ผลิ

วอลเดนวาดภาพการเปลี่ยนผ่านแห่งฤดูกาล
ผ่านการเริ่มละลายของน้ำแข็งบนผิวหน้าบึงวอลเดน
การละลายเริ่มต้นที่เดือนเมษายน
จากนั้น อุณหภูมิของอากาศเริ่มสูงขึ้น ความอบอุ่นเริ่มมาเยือน
ปุ่มปมของตาไม้ส่งสีสันเขียวสดชื่น
ดอกไม้ผลิบาน สรรพสัตว์ตื่นจากหลับใหล

กระบวนการละลายของน้ำแข็งทุกแห่งที่ –
ได้พัดพาทรายก่อสร้างจากเมืองไหลมาที่บึง
ธอโรมองภาพการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ของภูมิประเทศนี้
สวมทับกับธรรมชาติภายในร่างกายเรา
และธรรมชาติในทุกแห่งทุกที่
ตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดไปจนถึงทุกสิ่งทุกอย่าง

3 – 4 บทสุดท้ายนี้เป็นบทที่ดีนะ
เราอ่านมันด้วยความสงบมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น
ค่อยดูเป็น วอลเดน ที่เคยวาดภาพเอาไว้เมื่อตอนก่อนอ่านหน่อย

สรรพเสียงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งฤดูกาล
เสียงคำรามของบึงในขณะที่หิมะกำลังละลาย
เสียงกรุ๋งกริ๋งของน้ำค้างแข็ง
และเสียงต่ำๆ ของหิมะละลายที่ดังในหุบเขา
เป็นเสียงที่เราอยากได้ยินจัง
จิตนาการถึงเสียงเหล่านี้ไม่ออกเลย

ธอโรเปรียบเทียบฤดูกาลเป็นวัฏจักร
บึงวอลเดนตายลงในฤดูหนาว และเกิดใหม่อีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ
วนเวียนอยู่เช่นนี้ปีแล้วปีเล่า
ในการเกิดใหม่ เราได้ละทิ้งความบาป และกลายเป็นคนใหม่
บริสุทธิ์ผุดผ่องดังเช่นทารกเพิ่งเกิด

ธอโรเชื่อในการอยู่กับปัจจุบัน
เชื่อในการเกิดใหม่ และตื่นใหม่อยู่เสมอในทุกยามเช้า
เรามองเห็นปรัชญาตะวันออกในแนวความคิดของธอโร

4 กรกฎาคม 1845 วันเดือนปีที่ธอโรก้าวเข้าไปสู่วอลเดน
และ 6 กันยายน 1847 คือวันที่เขาก้าวออกมา

(บทที่ 18)
สรุป
เราชอบบทสรุปที่ธอโรสรุป ให้กับการทดลองใช้ชีวิตเช่นนี้ของเขา
ธอโรบอกว่า หากเราเชื่อมั่นในความฝันของเราอย่างแน่วแน่
มุ่งมั่นที่จะเดินเข้าหามัน
เราจะประสบความสำเร็จอย่างที่เราไม่ได้คิดมาก่อน
เราจะลอกคราบบางอย่างทิ้งไป และมีอิสระมากขึ้น
กรอบแห่งสังคมจะแผ่ขยายออกให้กับความอิสระเสรีนั้น

ในบทสุดท้าย ธอโรยังย้ำซ้ำแนวความคิดที่เขาบอกเรามาตลอดเล่ม
คือการให้บุคคลคนหนึ่งจงเป็นอย่างที่ตัวเองเป็น
อยู่ในที่ที่ตนควรอยู่ และทำในสิ่งที่มุ่งมั่น ศรัทธา
ละวางกรอบใดๆ ที่กักขังเราเอาไว้
และจงเป็นอิสระเพื่อเป็นในสิ่งที่เป็นนั้น

ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ชอบ ส่วนที่ไม่ชอบ
ส่วนที่เข้าใจ ส่วนที่ไม่เข้าใจ และส่วนที่อาจเข้าใจผิด ..
ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึก
เป็นบันทึกระหว่างอ่าน วอลเดน ของเราตั้งแต่ต้นจนจบ
ซึ่งมันอาจไม่ใช่ทั้งหมดของวอลเดน
และไม่ตรงกับวอลเดนที่ผู้อื่นอ่าน
มันเป็นเพียงวอลเดนในกรอบประสบการณ์และความรู้ของเราเพียงเท่านั้น

นั่นล่ะ บางทีเราอาจรู้สึกเช่นนั้นกับธอโร
เราเข้าใจวอลเดนเพียงครึ่งหนึ่ง
จากหนึ่ง-ครึ่งที่มีทั้งหมดนั้น ..

ขอพูดคุยหลังอ่านจบต่ออีกหน่อย
เป็นรีวิวที่ยาวหน่อยนะคะ ..
ขอบคุณที่ยังอ่านกันมาถึงตรงนี้ 🙂

เราว่าผู้คนยกย่องวอลเดนกันเกินไป
สำหรับเรา เราดึงวอลเดนลงมาในระดับเดียวกับเรา
แล้วก็อ่านมัน เท่าที่สติปัญญาและประสบการณ์เรามีนั่นแหละ
ก็ธอโรเองไม่ใช่หรือที่บอกให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น
นี่คือสิ่งที่เราเป็น และนี่คือวอลเดนของเรา

ได้ยินบ่อยๆ ว่า วอลเดนเป็นหนังสือที่ควรอ่านช้าๆ
ค่อยๆ อ่าน และขบคิด
เมื่ออ่านจนจบ เราชักจะเห็นต่างแล้วว่า
เราไม่ควรอ่านวอลเดนอย่างช้าๆ หรอก
เพราะยิ่งอ่านช้า มันยิ่งทำให้เราเนือย ท้อแท้
และหมดกำลังใจที่จะหยิบมันขึ้นมาอ่านต่อ
จมจ่อม จดจ่ออยู่เพียงจุดนั้น ไม่เข้าใจ และไปต่อไม่ได้

สำหรับเรา วอลเดนเป็นหนังสือที่ –
ควรจะตะลุยอ่านรวดเดียวให้จบไปเลยดีกว่า
ถ้าติดขัดตรงไหน ให้ถ่ายรูป หรือคั่นหน้านั้นเอาไว้
และย้อนกลับมาอ่านในภายหลัง ..
หลังจากที่อ่านผ่านมันไปสักพักแล้ว

เราว่า วอลเดนเป็นหนังสือที่ควรจะหาเพื่อนอ่าน
เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุยกับเพื่อนไปด้วยหลังอ่านจบบทหนึ่งๆ
เราโชคดีที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ใน book club
ทำให้เรามีเพื่อนอ่านในบทเดียวกันหลายคน
และแต่ละคนก็มีมุมที่แตกต่างหลากหลายมาก
มันทำให้เรามองวอลเดนได้กว้างขึ้น
และได้เข้าใจในบางจุดที่เราไม่เข้าใจ

ในกรณีที่หาเพื่อนอ่านวอลเดนไม่ได้
ให้ลองหารีวิวที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง
(นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารีวิววอลเดนแยกบท)

ระหว่างอ่านในช่วงท้ายๆ เล่ม
เราได้ลองไปฟังรีวิวของ readery
ซึ่งรีวิวนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลบางอย่างให้เรา
ทำให้เรามองภาพของธอโร
ในตอนที่เขาสร้างหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ได้ชัดเจนขึ้น
และทำให้เราอ่านวอลเดนได้อย่างเข้าใจธอโรมากขึ้น

 

Comments are closed.