อ่านแล้วเล่า

ลำเนาป่า

เรื่อง ลำเนาป่า
ผู้แต่ง ศิเรมอร อุณหธูป
สำนักพิมพ์ มติชน
เลขมาตรฐานหนังสือ 9743236171

นะจังงังไปกับสำนวนเมื่อแรกอ่าน
สำนวนแปลกดี อ่านสะดุดนิดหน่อยเพราะไม่คุ้น
อย่างเช่น “ซ้ำแล้วซ้ำรา”
“เขาก้มหน้าเดินย่ำฝ่าฟุ้งฝนพรำบนทางเท้า” ฯลฯ
ซึ่งมาโดยตลอดทั้งเล่ม แปลกแตกต่างกันไป
ใจนึงก็รู้สึกสะดุด เหมือนจะชอบใจในความแปลก
แต่อีกใจก็รู้สึกตะหงิดๆ ที่อ่านไม่ลื่นไหล
มันชะงัก ติดๆ ดับๆ ไม่ต่อเนื่อง
แต่ก็เป็นเพียงในช่วงต้นของเรื่องเท่านั้นนะ
ไม่รู้ว่าเราเริ่มชิน หรือพอช่วงหลังๆ สำนวนเริ่มกลมกลืนเป็นปกติ
คือยังมีอยู่ แต่ลดน้อยลง และเราว่าเราชอบสำนวนช่วงหลังๆ มากกว่านะ
คือยังเป็นสำนวนแปลกๆ อยู่ แต่สละสลวยขึ้น ไพเราะขึ้น

ลำเนาป่า เป็นนิยายที่มีค่านิยมรักป่าไม้ ต้นไม้ สายลม แสงแดด
รักอิสระ ไร้การผูกมัด 
แม้แต่การจดทะเบียนสมรสก็เป็นความผิดร้ายแรงในสายตาของลำเนา (นางเอก)
อุดมคติสุดโต่ง แต่เรามองว่าอีโก้ก็เยอะจัดตามอุดมคติอันสูงส่งไปด้วย
ผู้เขียนเปิดภาพนางเอกมาให้เราอย่างนั้น .. คือเป็นคนแนวๆ ไม่ใช่คนที่น่ารัก
ไม่ใช่คนอ่านทุกคนจะรักนาง

จะบอกว่าคนอื่นเอาค่านิยม เอาประเพณีมาตัดสินลำเนา
ลำเนาเองก็เอาความเชื่อของเธอตัดสินคนอื่นด้วยเช่นกัน
และเพราะมันเป็นเรื่องแต่ง และอาจจะเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้ตัวละคร
ผู้เขียนเลยมอบบทบาทให้ชมพู พี่สาวที่ห่วงใยน้องชายคนหนึ่ง
กลายเป็นนางร้ายในละครน้ำเน่าไปเลย
เจตนาอาจเป็นไปเพื่อเตือนคนดูละคร ว่าควรแยกแยะ
ไม่ควรเก็บมาใช้ในชีวิตจริง
แต่มันก็เป็นส่วนที่ทำให้เรื่องไม่สมจริง ไม่น่าเชื่อถือหรือคล้อยตาม

ตั้งแต่เปิดเรื่อง
เรามองไม่เห็นความโรแมนติกเปี่ยมอุดมการณ์ของเรื่องนี้
มองเห็นเพียงชายที่เฝ้าทวงรักและขอแต่งงาน
ต่อหญิงสาวที่กำลังเบื่อรัก และยืนยันปฏิเสธอยู่ซ้ำซาก
ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่เต็มไปด้วยเหตุผล
ด้วยอุดมการณ์ต่างๆ นานาที่แปลว่าไม่รัก ไม่แต่ง
(เป็นความรู้สึกตอนเริ่มอ่านนะ ส่วนที่ตัดมามันทำให้รู้สึกอย่างนั้น
แม้เมื่ออ่านเต็มๆ จะทำให้เข้าใจลำเนาได้ดีขึ้น แต่มันฝังใจกับนางไปแล้ว)

แต่ทั้งหมดทั้งปวง เราชอบตอนจบนะ
ถ้าเรื่องดำเนินมาถึงขนาดนี้ จบแบบนี้น่ะดีแล้ว

เป็นหนังสือที่ ถ้าคนชอบก็คงจะชอบมาก ชอบไปเลย
ในความเฉพาะตัวอันมากมายของมัน
แต่ถ้าคนไม่ชอบ ก็คงมีข้อให้ไม่ชอบได้ไม่น้อยเหมือนกัน

 

Comments are closed.